เห็ดขี้ควายและเห็ดขี้วัว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เครื่องยาไทยมีทั้งมาจากพืช สัตว์ และธาตุวัตถุ ในส่วนที่มาจากพืชมักจะนับรวมเห็ดไว้ด้วยกัน แม้ว่าความรู้สมัยใหม่จัดให้เห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกหนึ่งแยกต่างหากที่ไม่ใช่พืชแล้ว แต่ยาไทยก็เหมารวมเห็ดในกลุ่มพืชสมุนไพรด้วย  ที่น่าสนใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นอยู่ที่เครื่องยาของหมอพื้นบ้าน ที่นำมาใช้ในการเป็นยารักษาโรคหลายอย่างนั้นถูกจัดให้เป็นยาหรือสารเสพติด คนไทยในเวลานี้รู้จักกันดี เช่น กัญชง กัญชา กระท่อม และที่จะมาแนะนำในวันนี้ก็คือ เห็ดขี้ควาย ซึ่งหมอพื้นบ้านใช้เป็นยาสมุนไพรที่เรียกกันว่า สุขไสยาสน์ (ศุขไสยาสน์) เห็ดชนิดนี้ก็ถูกจัดให้เป็นยาเสพติดเช่นกัน

เห็ดขี้ควาย มีชื่อวิทยาศาสตร์ Psilocybe cubensis (Earle) Singer มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ คือ magic mushroom หรือเห็ดที่มีเวทมนต์ก็ได้ ซึ่งก็คือเห็ดที่มีฤทธิ์กับระบบประสาทนั่นเอง ที่ได้ชื่อว่าเห็ดขี้ควายเพราะมักจะพบได้ตามกองขี้ควายแห้ง  มีลักษณะทางกายภาพ หมวกดอกมีสีเหลืองปนน้ำตาล ทั้งดอกมีสีอ่อน แต่กลางหมวกมีสีเข้มกว่าบริเวณอื่น ๆ ใต้หมวกดอกมีลักษณะเป็นครีบ มีสีน้ำตาลดำ บริเวณก้านใกล้กับหมวกดอกมีวงแหวนปรากฏอยู่ เห็ดขี้ควายเป็นเห็ดที่กินได้ ซึ่งในอดีตที่ยังไม่ถูกจัดให้เป็นยาเสพติดก็เคยมีการนำมาใส่ในอาหารต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรสชาติ บางพื้นที่ก็นำมาทาเกลือปิ้งกินกันเอร็ดอร่อย

ในตำรายาไทยกล่าวว่า เห็ดขี้ควายมีรสเบื่อเมา มีสรรพคุณ แก้ลมกองละเอียด แก้นอนไม่หลับ แก้พิษไข้ร้อน กระสับกระส่าย หมอไทยใช้เห็ดขี้ควายเป็นยาทำให้ง่วงหรือนอนหลับ จึงเรียกยานี้ว่ายาสุขไสยาสน์ แต่ถ้าใครที่กินหรือสูบเข้าไปจำนวนมากจะทำให้มีอาการมึนเมา ประสาทหลอน เห็นภาพและแสงต่าง ๆ มีลักษณะอาการคล้ายกับเสพแอลเอสดี ที่ทำให้เกิดอาการประสาทหลอนได้ สารในเห็ดที่ทำให้เกิดอาการมึนเมาและประสาทหลอนคือสาร ไซโลไซบิน (Psilocybin) เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนไปเป็นสารที่คล้ายกับสารเซอโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งไปรบกวนการทำงานของเซอโรโทนิน ปริมาณที่ทำให้เกิดพิษ คือ เมื่อกินหรือเสพเข้าไปมากกว่า 15 ดอก หรือกินเห็ดแห้งเข้าไป 1-4 กรัม

เพราะกลไกการทำงานของเห็ดขี้ควายเป็นเช่นนี้ ประเทศไทยจึงจัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ผู้ใด ผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออกต้องจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000-1,500,500 บาท ถ้าเป็นผู้เสพ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในอเมริกามีการจดสิทธิบัตรขั้นตอนการสกัดสาร ไซโลไซบินและไซโลซินจากเห็ดขี้ควายมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2501( ค.ศ. 1958 และเลขสิทธิบัตร US3183172A) นอกจากนี้ยังมีการพัฒนายาจากสารสกัดจากเห็ดขี้ควายร่วมกับเห็ดอื่น โดยจดสิทธิบัตรไว้เมื่อ วันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2561 (ค.ศ. 2018 เลขสิทธิบัตร 20180021326) รวมถึงในต่างประเทศยังมีผู้พยายามพัฒนายาจากเห็ดขี้ควาย เพื่อใช้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เพื่อให้คลายเครียด ลดความซึมเศร้าด้วย

คราวนี้ยังมีเห็ดอีกชนิดหนึ่งที่มักมีความเข้าใจว่าเป็นเห็ดอันเดียวกันกับเห็ดขี้ควาย เรียกว่า เห็ดขี้วัว ที่จริงแล้วเป็นเห็ดคนละชนิดกัน เห็ดขี้วัวมี ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panaeolus cyanescens Sacc. เดิมใช้ชื่อว่า Copelandia cyanescens (Sacc.) Singer แต่ใน web ต่าง ๆ ที่เป็นภาษาไทยเขียนผิดเป็น Copelandia ctandscens (Berk. & Br.) Sing. ซึ่งชื่อนี้ไม่มีอยู่ในฐานข้อมูลเห็ดของโลก (Index fungorum) และจากหนังสือสารานุกรมไทยรวมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย รวมเวชกรรมไทย พิมพ์ครั้งที่1 ของคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร ตีพิมพ์ในปี 2540 กล่าวไว้ว่า เห็ดขี้วัว มีรสเมาเบื่อ สรรพคุณแก้ลมกองละเอียด แก้นอนไม่หลับ แก้พิษไข้ร้อนกระสับ ซึ่งลักษณะที่กล่าวมาก็คล้ายกับเห็ดขี้ควาย แต่ในทางวิชาการเห็ดขี้วัวไม่ใช่เห็ดขี้ควาย แต่เป็นเห็ดชนิดหนึ่งในเห็ดหลาย ๆ ชนิด ที่มีอัลคาลอยด์ชื่อ tryptamine ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้การเปลี่ยนแปลงจิตใจหรือทางจิต เห็ดขี้วัวที่รู้จักกันดีในท้องตลาดเป็นสายพันธุ์ฮาวาย เนื่องจากพบและบริโภคที่ฮาวายบ่อยที่สุด แต่ดูเหมือนว่าจะมีแหล่งกำเนิดในเอเชีย

ขอบอกว่ามีเห็ดมากกว่า 180 ชนิดได้รับการยอมรับว่ามีแอลคาลอยด์ ชนิดไซโลซิน (psilocin) และ / หรือแอลเอสซีแอล และในจำนวนนี้มีอยู่จำนวนไม่น้อยกว่า 117 สายพันธุ์ เช่น เห็ดขอนสีทองเกล็ดแดงหรือ Gymnopilus (13 สายพันธุ์) เห็ด Panaeolus (7 สายพันธุ์) เห็ด Copelandia (12 สายพันธุ์) เห็ด Hypholoma (6 สายพันธุ์) เห็ด Pluteus (6 สายพันธุ์) เห็ด Conocybe (4 สายพันธุ์) และ เห็ด Agrocybe, Galerinaและ Mycena (อย่างละ 1 สายพันธุ์) การแพร่กระจายของเห็ดขี้ควายชนิด Psilocybe ส่วนใหญ่พบในป่าเขตร้อนชื้นของเม็กซิโกและนิวกินี  ในเม็กซิโกมีเห็ดที่มีคุณสมบัติที่มีผลต่อระบบประสาทสูงสุดจำนวน 76 ชนิด ในจำนวนนี้มี 44 ชนิดเป็นกลุ่มเห็ดขี้ควายในสกุล Psilocybe (ประมาณ 39% ของโลกเลย) ในเม็กซิโกจึงมีประวัติการใช้ทั่วไปยาวนานและใช้กันมากที่สุดในเรื่องทำให้เกิดอาการประสาทหลอนตามธรรมชาติ

ในประเทศไทยมีฝรั่งชื่อ เทอเรนซ์  แมคเคนน่า (Terence McKenna) ศึกษาบริเวณแหล่งโบราณคดีโนนนกทา บ้านโนนนกทา ตำบลกุดธาตุ อำเภอหนองนาคำ จังหวัดขอนแก่น สันนิษฐานว่ามนุษย์ในภาควันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับเห็ดชนิดนี้มาเป็นเวลานานมาก ตั้งแต่ 15,000 ปีก่อน

บนที่ราบ Tassili ทางตอนเหนือของประเทศแอลจีเรีย พบภาพเขียนภายในถ้ำที่มีอายุย้อนหลังไปถึง 9000 ปีก่อนคริสตกาล แสดงภาพร่างกายมนุษย์ที่มีรูปคล้ายเห็ดขี้ควายในร่างกายของพวกเขา จึงเป็นหลักฐานเก่าแก่ว่ามนุษย์ยุคนั้นรู้จักเห็ดในกลุ่มนี้แล้ว และยังมีหลักฐานในประเทศจีนแสดงถึงการเยียวยาแบบพื้นบ้านดั้งเดิมในสมัยราชวงศ์ชินในศตวรรษที่ 2 โดยการใช้เห็ดชนิดนี้รักษาโรคคูรูหรือโรคหัวเราะ(laughing sickness)

จากอดีตถึงปัจจุบันที่ประเทศต่างๆ จดสิทธิบัตรเห็ดขี้ควาย ย่อมแสดงถึงศักยภาพของเห็ดกลุ่มนี้ได้ดีที่สามารถพัฒนาเป็นยาหรือเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ หวังว่าปลดล็อกกัญชง กัญชา กระท่อมแล้วขอเห็ดขี้ควายเพื่อการแพทย์ด้วยนะ.