กระท่อม-กัญชา ภูมิปัญญาบรรพชนไทยเพื่อลูกหลาน

เมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยที่มีการใช้ “กระท่อมและกัญชา” ในการรักษาเพื่อเข้าสู่ระบบบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นับเป็นก้าวที่กล้าของกระทรวงคุณหมอที่ต้องการจะฝ่าด่านกฎหมายยาเสพติดให้โทษ เพื่อปลดล็อคพืชกระท่อมและกัญชาจากยาเสพติดผิดกฎหมาย มาสู่ยารักษาโรคตามภูมิปัญญาบรรพชนไทย

ในอดีตอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยอยุธยากว่า 300 ปีมาแล้ว ก็ปรากฏสูตรตำรับพระโอสถเข้ากัญชา (ชื่อพฤกษศาสตร์ Cannabis sativa) ถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหลายตำรับเพื่อให้บรรทมหลับเป็นสุข เสวยพระกระยาหารได้ ชูพระกำลัง และที่สำคัญยังเป็นยามหาวัฒนะ ส่งเสริมพระพลานามัยโดยรวมให้บริบูรณ์ด้วย

ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯได้รวบรวมตำรับยาที่เข้ากัญชาถึง 93 ตำรับ และที่เข้าพืชกระท่อมอีก 18 ตำรับ คัดลอกมาจากหลากหลายคัมภีร์ มีหลายคัมภีร์ที่ซ้ำกันบ้าง แต่ทุกคัมภีร์ล้วนเป็นคัมภีร์ยาหลวงทั้งสิ้น ได้แก่ ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ตำรายาโรงพระโอสถสมัยรัชกาลที่2 ตำรายาศิลาจารึกวัดโพธิ์สมัยรัชกาลที่ 3 ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ซึ่งรวบรวมสมัยรัชกาลที่ 5 ตำรายาพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์เจ้ากรมหมอหลวงในรัชกาลที่ 5 ตำราเวชศึกษาของพระยาพิศณุประสาทเวช(หมอคง ถาวรเวช) ซึ่งเป็นตำราเภสัชแผนโบราณของแพทย์หลวงสมัยรัชกาลที่ 5 ตำรายาแพทย์ตำบลของพระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (หมอสุ่น สุนทรเวช) แพทย์หลวงประจำพระองค์ในรัชกาลที่ 6 และคัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณของขุนโสภิตบรรณลักษณ์ ฯลฯ ที่จาระไนมานี้ต้องการจะบอกว่า ตำรับยาทั้งหมดในตำราแพทย์หลวงเหล่านี้ล้วนเป็นตำรับยาแผนไทยของชาติ หรือเป็นทรัพย์สินภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542

แต่แล้วทางการไทยเองกลับตรากฎหมายตีตรวนล่ามกัญชา(เริ่มตั้งพ.ร.บ.กันชา พ.ศ. 2477)กับพืชกระท่อม(เริ่มตั้งแต่พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2486) ไว้จนคนไทยไม่ได้รับประโยชน์จากภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรทั้งสองชนิดเป็นเวลายาวนานถึง 70-80 ปี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สยามเคยเป็นแหล่งผลิตและส่งออกกัญชาชั้นดีด้วยซ้ำ แม้วันนี้รัฐบาลไทยยังไม่ใจถึงพอที่จะปลดกัญชากับพืชกระท่อมออกจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522 แต่ก็ควรทำตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขที่จะประกันตัวจำเลยกระท่อม-กัญชามาอยู่ในความอารักขาของกรมการแพทย์แผนไทยฯเพื่อพัฒนาสูตรตำรับยาไทยผสมกระท่อม-กัญชานำกลับมาใช้ในทางการแพทย์ ในโลกยุคปัจจุบัน

ข้อดีของการใช้กระท่อม-กัญชาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยคือ แทบไม่มีพิษข้างเคียงใดๆจากสมุนไพรทั้งสองชนิดเลย เพราะทุกสูตรตำรับยากระท่อม-กัญชาล้วนมีส่วนประกอบของสมุนไพรหลายตัวช่วยคุมฤทธิ์อยู่ด้วย ดังจะเห็นว่าบางสูตรตำรับที่เข้ากัญชา เช่นยาอัคคีวุธสามารถให้เด็กเล็กกินแก้โรคตาน ซาง แก้หืดและแก้ไอผอมเหลืองได้ ในที่นี้ขอยกตำรับยาหลวงที่เข้ากัญชาและพืชกระท่อม 2 ตำรับ ดังนี้

1) ตำรับยาแก้ลมที่ทำให้เส้นพิการ เมื่อยขัด เหน็บชา มือตายเท้าตาย ประกอบด้วยยาสมุนไพร 7 ชนิด คือ เทียนขาว 1 ส่วน เทียนดำ 2 ส่วน เทียนข้าวเปลือก 3 ส่วน ขิง 4 ส่วน รากเจตมูลเพลิง 5 ส่วน ใบกัญชา20 ส่วน พริกไทย 40 ส่วน วิธีใช้ บดเป็นผง ละลายน้ำผึ้งกินครั้งละ 1 สลึงหรือเพียงประมาณ 3.8 กรัมเท่านั้น กินวันละครั้งก่อนอาหารเช้า กินทุกวันภายใน 1 เดือนหรือจนกว่าจะหาย

2) ยาทำให้อดฝิ่น เอาขี้ยา 2 สลึง(7.5 กรัม) เถาวัลย์เปรียงพอประมาณ กัญชาครึ่งกำ ใบกระท่อม เอาให้มากกว่ายาอย่างอื่น ต้มกินให้กินตามเวลาที่เคยสูบฝิ่น เมื่อกินไป 1 ถ้วย ให้เติมน้ำ 1 ถ้วย ให้ทำดังนี้จนกว่ายาจะจืด เมื่อกินจนน้ำจืดแล้วยังไม่หาย ให้ต้มกินหม้อต่อไป
ตำรับยานี้คัดมาจากคัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณเล่ม 3 ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) ซึ่งอาจจะมีปัญหาเรื่องน้ำหนักยาที่ใช้ ในที่นี้คือเถาวัลย์เปรียงแห้ง ประมาณ 1 บาท(15กรัม) กัญชาแห้งที่หั่นแล้ว 2 หยิบมือ(4 หยิบมือเท่ากับ 1 กำ) ใบกระท่อมแห้งหั่นแล้ว ประมาณ 4 หยิบมือ ส่วนขี้ยานั้นแต่เดิมคือกากฝิ่นสูบแล้ว ซึ่งปัจจุบันอาจจะใช้ยาเส้นแทน ทั้งหมดห่อผ้าขาวบางต้มน้ำสัก 1 ลิตร พอเดือด กินครั้งละ 240-250 มิลลิลิตร วันละครั้ง ยาตำรับนี้น่าจะนำมาประยุกต์ใช้สำหรับการอดยาเสพติดร้ายแรงอื่นๆจำพวกยาบ้า ยาอี ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเพราะสมัยก่อนแพทย์แผนไทยเคยใช้ยาตำรับนี้ช่วยผู้ป่วยอดฝิ่นอย่างได้ผลมาแล้ว

เวลานี้ในหลายประเทศทั่วโลก เขาปลดล็อคกัญชานำมาวิจัยทางการแพทย์และทำยารักษาโรคต่างๆอย่างกว้างขวาง ที่แปลกกว่าเพื่อนคือเรื่องพืชกระท่อม ดูเหมือนจะมีพี่ไทยประเทศเดียวที่มีกฎหมายห้ามใช้

ดังนั้นรัฐบาลน่าจะเลิกปิดกั้นภูมิปัญญาบรรพชนไทย เพื่อเปิดโอกาสใหม่ๆทางการแพทย์และการวิจัยให้เกิดประโยชน์แก่สุขภาพของลูกหลานไทยในอนาคตอันใกล้นี้

บทความที่เกี่ยวข้อง