กระบก ไม้ท้องถิ่นที่ไม่ควรมองข้าม

 

 

 

 

 

 

 

 


วัฒนธรรมการตั้งชื่อต้นไม้มักจะ  ตั้งชื่อตามลักษณะหรือประโยชน์ใช้สอยของต้นไม้นั้น ดังเช่นต้นไม้ที่นำเสนอไว้ในเทศกาลปีใหม่ ชื่อ ต้นเติม (Bischofia javanica Blume) น่าจะมีความหมายมาจากลักษณะของไม้ชนิดนี้เป็นไม้เบิกนำ เจริญเติบโตเติมขึ้นไปเรื่อย ๆ ในพื้นที่ว่าง ซึ่งตรงข้ามกับกระบก คนอีสานเรียกหมากบก หรือบก ที่มีความหมายว่าน้อยลง เบา บาง หรือหมดไป ตามความเชื่อของคนอีสานจึงจัดให้เป็นไม้ที่ไม่เป็นมงคลนัก จะปลูกนอกบ้านตามไร่นาหรือในพื้นที่ป่าชุมชน ไม่ให้นำมาปลูกในบ้าน เพราะเชื่อว่าจะทำให้เงินทองหมดไป บางคนเชื่อว่าต้นบกขึ้นที่ไหนจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง

     แต่ในแง่ประโยชน์มีมากมาย ในเวลาไม่กี่ปีมานี้มีคนพูดกันมากจนเปรียบเทียบให้ “เม็ดกระบก” คือ “อัลมอนด์อีสาน”  ที่เคี้ยวกินอร่อย และยังพบว่ามีคุณค่าโภชนาการและมีน้ำมันในเม็ดที่มีประโยชน์ต่อการบำรุงสมอง ด้วย ในถิ่นชนบทของอีสานยังจะพบต้นกระบกได้

     กระบก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Irvingia malayana Oliv. ex A.W.Benn. เป็นไม้ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคเหนือเรียกมะมื่น ภาคอีสานเรียกหมากบก ภาษาชองเรียกชะอัง สุโขทัยและโคราชเรียกมะลื่น ภาษาส่วยในจังหวัดสุรินทร์เรียกหลักกาย เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ Irvingiaceae สูงได้ถึง 50 เมตร ไม่ผลัดใบหรือถ้ามีการสลัดใบทิ้งทั้งต้นจะออกใบใหม่อย่างรวดเร็ว เปลือกต้นสีเทาอ่อนปนน้ำตาล ใบเดี่ยว เรียงสลับ ผิวเกลี้ยง ดอกขนาดเล็ก มีขนนุ่ม ออกดอกรวมกันเป็นช่อโตที่ปลายกิ่ง สีขาวอมเขียวอ่อน ผลกลมรี ทรงกล้วยไข่ ขนาดใกล้เคียงกับมะม่วงกะล่อนขนาดเล็ก ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่จะเข้มขึ้น สุกเป็นสีเหลืองอมเขียว เนื้อเละ เมล็ดแห้ง

     พบเห็นได้ในประเทศเพื่อนบ้านด้วยตั้งแต่  เมียนมาร์  กัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไปถึงอินเดีย กระบกมักขึ้นในป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเล จนถึงประมาณ 300 เมตร กระบก 1 ต้นให้ผลครั้งละมากมาย ผลสุกเป็นอาหารทั้งสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงเช่น วัว ควาย ถ้านำเมล็ดที่มีเปลือกแข็งหุ้ม มากะเทาะเอาเปลือกออก นำเมล็ดที่อยู่ข้างในมาคั่วกินรสมันกรอบอร่อย เป็นที่ก็นิยมกินกันมาก นับเป็นพืชเศรษฐกิจชุมชนที่ดีอีกชนิดหนึ่ง และอาจพัฒนาบรรจุซองทันสมัยขายไปทั่วโลกได้

     ในภูมิปัญญาสมุนไพร ตำรายาไทยกล่าวว่า เนื้อในเมล็ด มีรสมันร้อน บำรุงเส้นเอ็น บำรุงไขข้อ แก้ข้อขัด บำรุงไต ฆ่าพยาธิในท้อง สำหรับยาพื้นบ้านอีสาน มีการใช้กระบกมากมาย  เช่น ใช้แก่นกระบกแก้ผื่นคัน  ตำรับยาแก้ไอ

     ใช้กระบก ผสมแก่นต้นซี (พันจำ Vatica odorata (Griff.) Symington ) และแก่นกล้วยเห็น (มะป่วน Mitrephora vandiflora Kurz) หรือผสมแก่นเดื่อป่อง (Ficus hispida L.f.) แก่นซี แก่นก้านของ (ปีบ Millingtonia hortensis L.f.) และแก่นมะพอก (Parinari anamensis Hance) ต้มน้ำหรือแช่น้ำดื่ม แก้ไอ

     ใช้กระบกผสมลำต้นก้ามปู (ต่อไส้ Allophylus cobbe (L.) Raeusch.) และแก่นต้นแสง (Xanthophyllum lanceatum J.J.Sm.) แช่น้ำอาบ แก้ผื่นคัน  นำแก่นหมากบกผสมกับแก่นมะพอกต้มน้ำดื่มแก้ฟกช้ำ ส่วนของลำต้นกระบกนำมาต้มน้ำดื่ม รักษาโรคปอดพิการ แก้ไอเป็นเลือด

     ใช้กระบกผสมเหง้าขมิ้นอ้อย (Curcuma zedoaria (Christm.) Roscoe) รากก้างปา (ทองแมว Gmelina elliptica Sm.) เมล็ดงา ครั่ง มดแดง และเกลือ ต้มน้ำดื่ม แก้เคล็ดขัดยอก เปลือกต้น ผสมลำต้นเหมือดโลด (Aporosa villosa (Lindl.) Baill.) ใบสมัดใหญ่ (หวดหม่อน Clausena excavata Burm.f.) ลำต้นเม่าหลวง (Antidesma puncticulatum Miq.) และเปลือกต้นอีฮุม (มะรุม Moringa oleifera Lam.) ตำพอกแก้ปวด

     ยาพื้นบ้านล้านนา ใช้เปลือกต้น ผสมเหง้าสับปะรด (Ananas comosus (L.) Merr.) งวงตาลหรือช่อดอกตัวผู้ (Borassus flabellifer L.) รากไผ่รวก (Thyrsostachys siamensis Gamble) นมควาย (Uvaria rufa Blume) ทั้งต้น และสารส้ม ต้มน้ำดื่ม รักษาโรคหนองใน

     กระบกมีเนื้อไม้ค่อนข้างเหนียวแน่น เลื่อยยาก แต่ปลวกกินได้ง่าย ในบางท้องถิ่นใช้ไม้เพื่อก่อสร้างภายในอาคารหรือทำอุปกรณ์ ต่าง ๆ บ้าง และนำมาเป็นฟืนหรือเผาถ่าน ให้ถ่านที่มีคุณภาพดี เมล็ดนำไปอบหรือคั่ว กินอร่อยรสมันอมหวาน แถบจังหวัดระยองนำเมล็ดกระบกมาบดละเอียด คลุกน้ำตาล ห่อด้วยใบตอง เรียกข้าวราง เมล็ดมีน้ำมันมากมีการนำมาทำสบู่ เทียนไข  ใบอ่อนก็กินเป็นผักสด

     น้ำมันจากเมล็ดกระบกนำมาทำไบโอดีเซลได้  และใช่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลายรูปแบบ และผู้ที่สนใจการฟื้นฟูระบบนิเวศ จะพบว่าพืชที่เติบโตอยู่ใต้ต้นกระบกจะเจริญได้ดี เนื่องผลกระบกที่ร่วงหล่นจะกลายเป็นแหล่งจุลินทรีย์ชั้นดีให้กับพืชข้างเคียงชนิดต่าง ๆ

     ปัจจุบันมีการวิจัยพบว่าเมล็ดกระบกจะอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ  เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก โปรตีน คาร์โบไฮเดรต กรดไขมันชนิดอิ่มตัว ได้แก่ กรดปาล์มมิติก กรดลอริก ไมริสติก และกรดสเตียริก ส่วนกรดไขมันไม่อิ่มตัว ได้แก่ กรดไลโนเลอิก กรดโอเลอิกและกรดปาล์มมิโตเลอิก ซึ่งสารอาหารเหล่านี้จะช่วยบำรุงกระดูกและฟัน บำรุงสมอง บำรุงหัวใจ ทำให้เจริญอาหาร ช่วยบำรุงไต ช่วยบำรุงเส้นเอ็นและไขข้อ

     กระบกจึงเป็นสมุนไพรฃนิดหนึ่ง ที่สมควรส่งเสริมให้มีการปลูกเพิ่ม และนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป.