การย่างไฟ รักษาอุบัติเหตุ

การย่างไฟ เป็นวิธีการรักษาสุขภาพวิธีหนึ่งของการแพทย์พื้นบ้านอีสาน ใช้รักษาผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ที่มีอาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำดำเขียว แผลถลอก และมีจุดเด่นในการแก้อาการเจ็บป่วยโดยช่วยให้เลือดลมในร่างกายไหลเวียนดี เพื่อรักษาอาการให้หายไวขึ้น และป้องกันเลือดตกในหรือเลือดคั่งค้าง การย่างไฟ เป็นการใช้ความร้อนที่เหมาะสมผ่านตัวยาสมุนไพรเพื่อให้ออกฤทธิ์ และความร้อนไออุ่นจะทำให้น้ำมันหอมระเหยในสมุนไพร ช่วยบำบัดเลือดลมในร่างกายให้เป็นปกติด้วย

วิธีการย่างไฟ (โดยย่อ) นำแคร่มาวางไว้ที่โล่ง ติดไฟ ใช้ไม้ฟืนหรือถ่านก็ได้ ถ้าใช้ไม้ ไม้ที่นิยมนำมาใช้ เช่น มะขามป้อม ขี้เหล็ก สะแกนา จากนั้นเทข้าวเปลือกที่นึ่งใหม่ แล้วเกลี่ยกระจายให้ทั่วบริเวณแคร่ตามที่ต้องการ วางสมุนไพรลงบนแคร่ให้ทั่ว (แล้วแต่สูตรตำรับ) ปูผ้าหรือเสื่อ ชุบน้ำบนชั้นของสมุนไพร (ต้องชุบน้ำก่อนย่างเสมอ และหลังจากย่างได้ 2 – 3ชั่วโมงต้องพรมน้ำให้ชุ่ม)


ก่อนผู้ป่วยจะได้รับการรักษา จะต้องดื่มเหล้าขาว 40 ดีกรี 1-2 ก๊ง (ประมาณ 30-40 มิลลิลิตร) ผสมน้ำตาลทราย 1-2 ช้อนโต๊ะก่อน เพื่อปรับธาตุ ปรับเลือด และผู้ป่วยต้องอาบน้ำให้สะอาด โดยการอาบน้ำอุ่นที่มีส่วนผสมของใบมะขามและใบหนาดต้มให้เดือด ให้สวมเสื้อผ้าที่หลวมๆ ระบายอากาศหรือถ่ายเทความร้อนได้ดี เวลาย่างไฟจะได้ไม่อบและร้อนเกินไป การนอนบนแคร่ที่มีไอร้อนต้องมีการเฝ้าระวังหรือประเมินอาการผู้ป่วยทุกระยะ เพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนมากเกินไปจนผิวหนังลวกพอง

การย่างจะใช้ระยะเวลาโดยขึ้นกับอาการของผู้ป่วย
ระดับเล็กน้อย ย่างไฟครั้งละ 2-4 ชั่วโมง ทำต่อเนื่อง 1-2 วัน

ระดับปานกลาง ย่างไฟครั้งละ 3-5 ชั่วโมง ทำต่อเนื่อง 2-4 วัน

ระดับการเจ็บป่วยรุนแรง เช่นกระดูกหัก หมดสติ หลังจากได้รับการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว ย่างไฟครั้งละ 4-7 ชั่วโมง ทำต่อเนื่อง 3-5 วัน

ทุกวันนี้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์มากขึ้น หากเรียนรู้และส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม น่าจะมีส่วนช่วยเหลือการดูแลสุขภาพให้กับประชาชนได้อย่างดีขึ้น.

บทความที่เกี่ยวข้อง