คนไทย 74% กินผักผลไม้ไม่เพียงพอ

สสส.เผยคนไทย 74% กินผัก-ผลไม้ไม่เพียงพอ ชวนคนไทยปลูกผักกินเอง ปลอดภัยไร้สารเคมี ชูโครงการสวนผักคนเมือง ช่วยพัฒนาเมืองเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดขยะ สร้างสิ่งแวดล้อม ผุดโครงการต้นแบบ “สวนผักบำบัด”แก้ปัญหากลุ่มผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยซึมเศร้า เยียวยาใจควบคู่สร้างสุขภาพ

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพฯ) มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมเทศกาลสวนผักคนเมือง 2017 (ครั้งที่ 4) ตอน เส้นทางอาหารเมือง : Bangkok’s Food Journey

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2556-2557 ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า อัตราการบริโภคผักผลไม้ของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่บริโภคได้อย่างเพียงพอตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่แนะนำให้บริโภคผักผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัม หรือ 5 ทัพพี มีเพียง 25.9 ดังนั้นประชาชนมากถึงร้อยละ 74.1 ยังขาดการกินผักและผลไม้ที่พอเพียง ทั้งนี้สัดส่วนของคนที่กินผักและผลไม้เพียงพอในแต่ละภาคพบว่า ภาคกลางมีสัดส่วนสูงสุด คือ ร้อยละ 32.4 รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 28.8 ภาคใต้ ร้อยละ 28.กรุงเทพฯ ร้อยละ 21.6และภาคเหนือ น้อยที่สุดคือต่ำกว่าร้อยละ 20 สาเหตุอาจเนื่องจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบ เราต้องพึ่งพิงอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารจากตลาดเป็นหลัก ประกอบกับประชาชนมีความกังวลใจต่อความปลอดภัยในการบริโภคผักผลไม้ ซึ่งผลการสำรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในปี 2559 ได้ตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในผักผลไม้เกินกว่าค่า Minimum Residue Level (MRL) ถึงร้อยละ 46.4 ทางออกหนึ่งคือการล้างผักผลไม้อย่างถูกวิธีก่อนบริโภค ขณะเดียวกัน สสส.ได้ร่วมกับมูลนิธิมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)ในการสนับสนุนโครงการสวนผักคนเมือง เพื่อให้คนเมืองสามารถพึ่งตนเองโดยส่งเสริมการปลูกผักในครัวเรือน สวนผักคนเมือง สวนผักในองค์กร มีการให้ความรู้ และเครื่องมือมีความแพร่หลาย ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย และเกิดเป็นกระแสค่านิยมใหม่ในสังคม

ด้านนางสุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า โครงการสวนผักคนเมือง เป็นส่วนหนึ่งของการริเริ่มให้เกิดการปลูกผักในเมือง โดยได้รับการสนับสนุนจากสสส. มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารและส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้อย่างเพียงพอตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก จากการปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมีใดๆ ร่วมสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยในเมืองที่มีมิติเชื่อมโยงกับการพัฒนาด้านสุขภาพ การบริโภค วิถีชีวิต คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมของเมืองที่อยู่บนฐานของการเกื้อกูล สร้างสังคมการอยู่ร่วมกัน การช่วยเหลือผู้อื่น และร่วมขับเคลื่อนหน่วยงานในระดับนโยบายให้เห็นความสำคัญและยอมรับเกษตรในเมืองเป็นประเด็นหนึ่งของการพัฒนาเมืองปัจจุบัน โดยงานเทศกาลสวนผักคนเมือง จะเป็นพื้นที่แห่งการแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเผยแพร่แนวคิด เทคนิคความรู้ และรูปธรรมการเชื่อมโยงเรื่องการปลูกผักกับมิติต่างๆ ให้ ทั้งสมาชิกโครงการสวนผักคนเมือง และผู้ที่สนใจทั่วไปได้นำไปประยุกต์ ปรับใช้ในวิถีชีวิตของตัวเอง เพื่อช่วยกันขยายผล และขับเคลื่อนเรื่องสวนผักคนเมืองในวงกว้างต่อไป

นางสุภา กล่าวต่อว่า จากการทำงานที่ผ่านมา พบว่า การสนับสนุนกลุ่มคนในเมืองปลูกผักผ่านโครงการขนาดเล็ก ทำให้เกิดพื้นที่ต้นแบบของการทำสวนผักประมาณ 170 กลุ่ม และผ่านการอบรมของศูนย์อบรมที่กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ มีคนที่เกี่ยวข้องกับการปลูกผักประมาณ 8,000 คน และมีผู้เข้าร่วมอบรมปลูกผักประมาณ 10,000 คน อาทิ โครงการสวนผักนักเรียน ห้วยขวาง มีการปลูกผักที่หลากหลาย เฉลี่ยที่ 20 – 30 ชนิดต่อพื้นที่ โดยความหลากหลายสูงสุดอยู่ที่ 63 ชนิด ทั้งนี้ สวนผักช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เพิ่มพื้นที่ปอดให้กับเมือง โดยการใช้ประโยชน์จากพื้นที่รกร้างว่างเปล่า และพื้นที่สาธารณะให้เปลี่ยนมาเป็นพื้นที่อาหารของเมือง ซึ่งจะช่วยพัฒนาพื้นที่ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ รวมถึงแก้ปัญหาพื้นที่เสี่ยง พื้นที่อันตรายของชุมชนและผู้คนที่อาศัยอยู่ แต่การปลูกผักช่วยพัฒนาพื้นที่และปรับภูมิทัศน์ที่ดีให้กับคนชุมชน นอกจากนั้นการปลูกผักยังช่วยจัดการขยะในเมืองได้อีกด้วย จากการเก็บข้อมูล พบว่า มีการจัดการขยะอินทรีย์ในเมืองเพื่อหมุนเวียนมาเป็นปัจจัยการผลิต สูงถึง 2,000 – 3,000 กิโลกรัม และขยะย่อยสลายยาก เช่น ถังพลาสติก ขวดน้ำ วัสดุเหลือใช้ต่างๆ มาเป็นภาชนะปลูกผัก อีกประมาณ 600 – 800 กิโลกรัมต่อปี รวมถึงการปลูกผักบนดาดฟ้า หรือการปลูกผักบนพื้นปูนที่ช่วยลดเกราะความร้อนในเมือง นอกจากนี้การปลูกผัก ได้ถูกเชื่อมโยงไปสู่มิติอื่นๆ การสร้างต้นแบบ “สวนผักบำบัด”ของโครงการ ได้ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม เช่น กลุ่มผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยซึมเศร้า หรือกระทั่งผู้เสพยาเสพติด ได้มีโอกาสในการบำบัดและควบคู่ไปกับการส่งเสริมสุขภาพอีกด้วย

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9600000056617

บทความที่เกี่ยวข้อง

คนไทยลดกินเค็ม

admin 5 เมษายน 2019

เครือข่ายลดบริโภคเค็ม เผย “ความสำเร็จของเครือข่ายลดบริโ […]