คำเตี้ย สรรพคุณไม่ต่ำต้อย

คำเตี้ย เป็นสมุนไพรที่อาจไม่คุ้นกันในหมู่คนทั่วไป แต่ถ้าไปสอบถามหมอพื้นบ้านหรือปราชญ์ชุมชนจะพบว่ามีการนำมาใช้มากมาย โดยเฉพาะในตำรายาพื้นบ้านอีสานใช้เป็นยาบำรุงกำลังที่ดีขนานหนึ่ง

วิธีใช้ก็ง่ายๆ ใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม กินเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย เหน็ดเหนื่อย ร่างกายทรุดโทรม วิธีโบราณอีกขนานหนึ่งก็คือนำรากมาต้มน้ำก็ได้ หรือนำรากมาดองกับเหล้ากิน ซึ่งรินน้ำยาดองมาผสมน้ำผึ้งเล็กน้อยเพื่อทำให้กินได้ง่ายขึ้น เทคนิคการปรุงยาเขาจะใช้รากแห้งไปดองสุราไม่ใช้รากสด

ขอแนะนำ คำเตี้ย ให้รู้จัก กล่าวคือ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polygala chinensis L. จัดอยู่ในวงศ์ต่างไก่ป่า (POLYGALACEAE) ชื่อท้องถิ่นอื่นๆว่า มักกำ (เชียงใหม่) ม้าอีก่ำ ม้าอีก่ำแดง (อุบลราชธานี) ถั่วสลัม ปีกไก่ดำ ม้าแม่ก่ำ หญ้ารากหอม เนียมนกเขา เตอะสิต่อสู่ คำเตี้ย จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุเพียงฤดูเดียว มีความสูงของต้นประมาณ 30-50 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะต้นตรงหรือทอดเลื้อยและชูยอดขึ้น ตรงปลายกิ่งเป็นเหลี่ยม ลำต้นกลมและมีขนขึ้นปกคลุม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.7-2.5 เซนติเมตร รากมีกลิ่นหอม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าสน และบริเวณที่โล่งในป่าดิบแล้ง ลักษณะเด่นของพืชชนิดนี้คือมีรากหอมมาก เป็นกลิ่นเฉพาะตัว

ภูมิปัญญาดั้งเดิมถือว่าคำเตี้ยหรือม้าแม่ก่ำ จัดว่าเป็น “ยาม้า” หรือยาเพิ่มกำลังของคนไทยใหญ่(ภาคเหนือ)เลยก็ว่าได้ โดยเชื่อว่าถ้าถอนรากมาต้มกินติดต่อกันอย่างน้อย 10 วัน จะช่วยบำรุงร่างกายได้ดีมาก เดินขึ้นเขาได้สบาย ไม่เหน็ดเหนื่อย หมอยาไทใหญ่ยังบอกว่า กินยานี้แล้วจะช่วยทำให้หลับสบาย คลายเครียด เพิ่มกำลัง แก้อ่อนเพลีย ทำให้เลือดไหลเวียนดี ดังนั้นในตำรับยาบำรุงกำลังของหมอยาไทใหญ่จึงมักมีม้าแม่ก่ำหรือคำเตี้ยอยู่ด้วยเสมอ โดยจะใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยวหรือใช้ผสมกับยาบำรุงกำลังอื่นๆ ด้วยก็ได้

กล่าวได้ว่าทั้งหมอพื้นบ้านภาคเหนือและอีสานต่างใช้สมุนไพรชนิดนี้กันมาก ยกตัวอย่างความรู้จากหมอพื้นบ้านอีสานท่านหนึ่งจากการลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ พบว่ามีการใช้ทั้งวิธีต้มและดองกับเหล้ากิน ซึ่งมีการตั้งชื่อ “ตำรับยากำลังม้า”กันเลยทีเดียว ประกอบไปด้วยตัวยา คำเตี้ย ม้าสามต๋อน และตานคอม้า ใช้ต้มกินเป็นประจำเพื่อบำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย เหน็ดเหนื่อย ปวดเมื่อย ร่างกายทรุดโทรม และช่วยกำจัดโรคภัยทุกชนิด ถ้านำราก หรือใช้ทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่มก็เป็นยาบำรุงโลหิตและใช้เป็นยาแก้หวัด แก้ไอ ช่วยขับเสมหะได้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีการบันทึกไว้ถึงสรรพคุณของคำเตี้ยว่า ใช้รากและทั้งต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาอาการหอบหืด ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจอ่อน ท้อแท้ และหมดเรี่ยวแรง ภูมิปัญญาพื้นบ้านจะแนะนำให้ใช้รากคำเตี้ย และรากพวงพี (พนมสวรรค์) นำมาต้มกับน้ำกิน ตำรับยาแก้ฝีในท้องก็จะใช้รากคำเตี้ย (ม้าแม่ก่ำ) รากเข็มขาว และรากเข็มแดง นำมาต้มกับน้ำกิน ยาขับปัสสาวะจะใช้ทั้งต้นต้มกับน้ำดื่มกิน รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงน้ำนมของสตรี
ต้นคำเตี้ยยังเป็นสมุนไพรที่ใช้เป็นยาเดี่ยว และใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นช่วยกันรวมพลัง เช่น นำไปผสมกับต้นม้ากระทืบโรงนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลังทางเพศ คำเตี้ยทั้งต้นใช้ผสมกับน้ำมันงา นำมานวดเส้น

ถ้าใครเคยติดตามข่าวตำรับยาแก้มะเร็งที่เผยแพร่ทางสื่อสารมวลชน จะพบตำรับยาชนิดหนึ่งที่มีส่วนผสมคำเตี้ยด้วย แต่ในตำรับยานั้นจะเรียกชื่อว่า หญ้าปีกไก่ดำหรือม้าอีก่ำ โดยส่วนประกอบทั้งหมดของยาตำรับนี้ ได้แก่ คำเตี้ยหรือปีกไก่ดำ (Polygala chinensis L.), เหง้าพุทธรักษา (Canna indica Linn), ไฟเดือนห้า (Ludwigia hyssopifolia (G.Don) well), พญายอ (Clinacanthus nutan Lindl.), เหงือกปลาหมอ (Acanthus ebracteatus), แพงพวยฝรั่ง (Catharanthus roseus CL.), ข้าวเย็นเหนือ (Smilax corbularia Kunth C) และข้าวเย็นใต้ (Smilax glabra) จึงเห็นได้ว่า ต้นคำเตี้ยเป็นสมุนไพรที่มีความน่าสนใจนำไปศึกษาพัฒนามาก

ในต่างประเทศก็มีการใช้และการศึกษาวิจัยสมุนไพรคำเตี้ยหรือม้าแม่ก่ำกันมาก เช่น อินเดีย ปากีสถาน ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Indian Senega ก็มีการระบุสมุนไพรนี้ไว้ในเภสัชตำรับของชาติเลย และในจีนเรียกชื่อว่า Yuan Zhi ได้จัดคำเตี้ยเป็นหนึ่งใน 50 สมุนไพรที่จีนใช้มากที่สุด มีสรรพคุณเด่นคล้ายไทยคือ เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงสมอง ใช้รักษาความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น หลงลืมง่าย อารมณ์แปรปรวน เครียด กังวล นอนไม่หลับ หวัดไอที่มีเสมหะเหนียวข้น หอบหืด แผล ฝี หนอง น้ำร้อนลวก

ภูมิปัญญาดั้งเดิมยังใช้รากตำใส่ผสมขมิ้นสด ใช้ทาตัวให้ตัวมีกลิ่นหอม และใช้ป้องกันยุงด้วย ในปัจจุบันทราบว่ามีการซื้อขายสมุนไพรชนิดนี้ในตลาดโลกกันมากเพื่อใช้ในการผลิตยาสมุนไพร เช่นในไต้หวันและอินเดียจะมีบริษัทที่ทำการส่งออกม้าแม่ก่ำเป็นวัตถุดิบ ในขณะที่ออสเตรเลียมีการกำหนดมาตรฐานการนำเข้าสมุนไพรชนิดนี้เลยทีเดียว แสดงว่า คำเตี้ย ไม่ได้ต่ำเตี้ย แต่เป็นที่สนใจและต้องการของชาวโลกเลยทีเดียว

บทความที่เกี่ยวข้อง