ต้นเทียนทะเล ไม้คุ้มครองที่น่าส่งเสริมให้ปลูก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวคนลักลอบขโมยต้นเทียนทะเลนำไปขายเป็นไม้ประดับของสะสมของคนมีสตางค์เกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆ ไม่ค่อยมีคนรู้ จนเมื่อต้นเทียนทะเลที่มีรูปทรงสวยงามค่อย ๆ หายไปจากชายฝั่งทะเลเกือบหมด เป็นภัยจากน้ำมือมนุษย์โดยแท้ ล่าสุดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้ออกคำสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ 977/2563 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2563 เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรไม้เทียนทะเล ใครลักลอบขุดต้องเจอโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 1แสนบาท

แม้ว่าสถานการณ์ของเทียนทะเลจะไม่ค่อยดีนัก แต่ถูกจัดประเภทเป็น ‘ความกังวลน้อยที่สุด’ ในบัญชีแดงของ IUCN หรือ The International Union for Conservation of Nature ที่จัดไว้เพียงชนิดที่ถูกคุกคาม (2013) แต่เชื่อว่าอีกไม่นานระบบนานาชาติจะจัดให้ต้นเทียนทะเลอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้น จึงชวนผู้อ่านมารู้จักต้นเทียนทะเล ซึ่งเชื่อว่าหลายท่านไม่คุ้นว่าพืชชนิดนี้หน้าตาเป็นอย่างไร เทียนทะเล มีชื่อไทยว่าเทียนเล ชื่อวิทยาศาสตร์ Pemphis acidula J.R. Forst. จัดว่าเป็นไม้ชนิดเดียวในสกุลนี้ที่มีรายงานพบในเมืองไทย เทียนทะเลเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง 8 เมตร แต่บางต้นอาจสูงได้ถึง 11 เมตร ลำต้นเป็นปุ่มปม แตกกิ่งแขนงจำนวนมาก ลำต้นมักบิดงอเนื่องมาจากจากแรงลม บางครั้งพบลำต้นมีลักษณะเลื้อย แคระ สูงเพียง 15 เซนติเมตร ใบเดี่ยวรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม เทียนทะเลเป็นพืชที่ไม่ผลัดใบ ดอกสีขาวออกตามซอกใบ กลีบดอก 6 กลีบ กลีบดอกรูปขอบขนาน ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด และเป็นพืชที่เจริญเติบโตเร็วและสามารถสร้างรากและตาใหม่ได้เร็วมาก และมักเริ่มออกดอกและออกเมล็ดเมื่อสูงประมาณ 1 – 4 เมตร

เทียนทะเลจัดเป็นพืชทนเค็ม พบได้ตามแนวชายฝั่งในเขตร้อแถบอินโด-แปซิฟิค ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นที่เป็นไม้พุ่มชนิดหนึ่งที่สามารถเติบโตในดินทรายและดินเหนียว ในประเทศไทยพบได้ในป่าชายเลนตามป่าชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ที่ผ่านมาผู้คนนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ และบอนไซ ในระดับโลกจะพบเห็นได้ง่ายตามหมู่เกาะในทะเลแปซิฟิค แต่ในบางพื้นที่พบว่ามีจำนวนประชากรลดลงอย่างมาก เนื่องจากการขยายพื้นที่อยู่อาศัยรุกรานพื้นที่ป่าธรรมชาติ และที่เร่งการสูญพันธุ์คือการขุดไปค้าขายทำบอนไซ

เนื่องจากเทียนทะเลมีการกระจายตั้งแต่แนวชายฝั่งของอาฟริกาตะวันออกข้ามไปยังมหาสมุทรอินเดีย ชายฝั่งทวีปเอเชียไปจนถึงออสเตรเลียและหมู่เกาะมาร์แชลในแปซิฟิค ระบบนิเวศของเทียนทะเล ชอบขึ้นตามแนวชายฝั่งที่เป็นทราย ตามเวิ้งของป่าชายเลน แนวประการัง ในบริเวณที่สัมผัสกับละอองเกลือและหนองน้ำที่แห้งกว่า ตามแนวชายฝั่งที่เป็นหินปูน หินปูนตามแนวชายฝั่ง หินปูนตามหน้าผาและบนหินปูนหินโผล่บนเกาะปะการัง จึงเหมือนธรรมชาติจัดสรรไว้ เทียนทะเลมีประโยชน์สำหรับการป้องกันชายฝั่งจากลมที่มีความแรง และเป็นพืชที่แข็งแรงในเวลาเดียวกันก็มีความยืดหยุ่นได้ดีมาก อย่างไรก็ตามเทียนทะเลส่วนใหญ่จะไม่เติบโตที่อื่นนอกเหนือจากระบบนิเวศที่กล่าวมาแล้ว

ประโยชน์ของเทียนทะเลพบว่า ในทวีปเอเชีย ตามหมู่เกาะต่าง ๆ นำใบสดมากินเป็นผักดิบหรือนำมาต้มกิน ผลกินได้เหมือนผลไม้ นอกจากกินเป็นอาหารยังใช้เป็นยาสมุนไพรด้วย โดยใช้น้ำคั้นจากใบผสมกับเปลือกต้น 1 กำมือ หรือนำเปลือกไปแช่น้ำดื่ม ใช้เป็นยาทำแท้ง ส่วนของเปลือกใช้แก้โรคปากเปื่อย

การศึกษาพบว่าเปลือกต้นเทียนทะเลมีแทนนินเป็นองค์ประกอบ 19 – 43% จึงมีการนำมาใช้ในการฟอกหนัง เปลือกเมื่อนำมาฝนให้สีแดงนำมาเป็นสีย้อมได้ เนื้อไม้มีน้ำหนักมาก แข็งแรงมากและทนทานต่อการทำลายของปลวกและแมลงที่เจาะไชไม้ เนื่องความแข็งของไม้จึงนำมาใช้เป็นฟืนและนำมาผลิตเป็นถ่านที่ให้คุณภาพดี ในบางพื้นที่จึงเก็บเทียนทะเลมาใช้เป็นอาหาร ยาและไม้ใช้สอย แต่เนื่องจากต้นมีขนาดเล็กและลำต้นเป็นปุ่มปม และเหลือจำนวนประชากรไม่มาก จึงนำมาใช้เป็นอาหารและยาไม่กว้างขวาง ส่วนใหญ่จึงนำมาใช้เป็นไม้ประดับ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียมีขบวนการค้าเมล็ดและต้นขนาดเล็กเพื่อนำมาทำเป็นบอนไซ

มองในสังคม เนื้อไม้ของเทียนทะเลมีคุณค่ามากต่อชุมชนในบางวัฒนธรรม เนื่องจากมีความแข็ง มีน้ำหนัก ไม่ผุ กร่อน นอกจากนี้ยังมีผิวละเอียดตามธรรมชาติ สามารถใช้เป็นไม้เท้า เสารั้ว และแม้แต่ใช้เป็นสมอเรือ ในประเทศมอริเชียส (Mauritius)  และเรอูนียง (Réunion) ซึ่งเป็นหมู่เกาะโพ้นทะเลของประเทศฝรั่งเศส รู้จักต้นไม้นี้ในชื่อ bois matelot  ที่มัลดีฟส์มีการใช้ประโยชน์ไม้เนื้อแข็งของเทียนทะเลไปใช้ในการต่อเรือแบบดั้งเดิม เพื่อยึดแผ่นไม้ของตัวเรือเข้าด้วยกัน และด้วยความแข็งแกร่งของเนื้อไม้ยังนำมาทำ “ตะปู(ไม้)” ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ในเกาะมาโลโว (Marovo) ตองกา ตาฮิติและหมู่เกาะอื่น ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย และยังสามารถนำมาทำเครื่องมือของใช้ เช่น สาก ด้ามเครื่องมือ อาวุธและหวี

มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าสารสกัดจากเปลือกของเทียนทะเลออกฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบรัดตัวมากขึ้นและถี่ขึ้น ซึ่งมีการใช้เป็นยาทำแท้งในเกาะวานูอาตู สารสกัดจากเปลือกพบว่ามีคุณสมบัตินการต้านแบคทีเรีย สารสกัดจากใบพบว่ามีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ เนื้อไม้ที่ผุแล้วนำมาผสมกับน้ำมันมะพร้าวใช้เป็นเครื่องสำอางประทินผิวด้วย

เทียนทะเลหรือเทียนเล ช่วยรักษาระบบนิเวศและสามารถสร้างอาชีพให้คนในชุมชนได้ จึงควรที่จะจัดให้มีการรณรงค์ในการฟื้นฟู เพราะขยายพันธุ์ให้มากขึ้นตลอดชายฝั่ง การประกาศควบคุมในเวลานี้เป็นเพียงช่วยป้องกันไม่ได้สูญพันธุ์ แต่ถ้าคิดเชิงบวก มาลงทุนเร่งการขยายพันธุ์สร้างรายได้ชุมชนสู้วิกฤตโควิด แทนที่จะป้องปรามไม่ให้เก็บหาอย่างเดียวก็น่าจะดีกว่า.