ถั่วพู อาหารดี ยาดี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

  คนไทยเรียก “ถั่วพู” รู้ไหมคนมาเลเซียเรียกว่าอะไร ?
            เพื่อนบ้านเราเรียกชื่อได้เห็นภาพและรู้ซึ้งถึงประโยชน์จริง ๆ  เรียกกันว่า “ต้นซูเปอร์มาเก็ต” คงเพราะเป็นพืชที่กินได้ทุกส่วน กินสดหรือทำอาหารอื่นกินก็ได้ คนไทยเราคุ้นเคยนำมากินกับน้ำพริกต่างๆ นำมาประกอบอาหารจำพวกยำ ลาบ ก็ได้ จะแกงเผ็ดกินก็อร่อย ผัดน้ำมันแนวผัดผัก หรือหั่นซอยผสมในทอดมันก็อร่อยดี

            ความเป็น “ซูเปอร์มาเก็ต” น่าจะหมายถึง ถั่วพูผักบ้านๆนี้ แต่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่น้อยหน้าถั่วเหลือง เมล็ดถั่วพูให้โปรตีนสูงกว่าเมล็ดถั่วเหลือง ดอกมีโปรตีนในปริมาณใกล้เคียงกับ ถั่วเหลืองในขณะที่ในหัว มีโปรตีนมากกว่ามันฝรั่ง 4 เท่า ถั่วพูจึงมีธาตุอาหารดี ๆ มากมาย เช่น ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม และเหล็ก  มีวิตามินมากมาย เช่น ทองแดงสังกะสี วิตามินเอ ไทอะมีน ไรโบฟวาวินวิตามินซี และไนอะซีน  กินถั่วพูเป็นประจำไม่ขาดสารอาหารแน่นอน
            ถั่วพู มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Psophocarpus tetragonolobus (Linn.) DC. เป็นไม้เลื้อยพาดพันต้นไม้อื่นๆ ใบเป็นใบย่อยมีสามใบ ดอกเล็กคล้ายดอกแค สีม่วง  ฝักเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีปีกออกข้าง เป็นสี่ปีก ยาวประมาณ 3-4 นิ้ว เป็นพืชเขตร้อนและขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกประเภท

ถั่วพูเป็นอาหารดีแล้ว ใครจะคิดว่าถั่วพูเป็นยาดีด้วย มีการบันทึกในตำรายามาอย่างยาวนาน ตามภูมิปัญญาไทยใช้ส่วนของรากแก้ร้อนใน หมอพื้นบ้านบางท้องถิ่น ใช้รากถั่วพู ต้มกับน้ำดื่ม แก้อาการร้อนในตับ ใช้รากฝนกับสุรา ดื่มแก้อาการบวมในคอ หรือรากฝนกับดีปลี และ เจตมูลเพลิงแดง แก้อาการอ่อนเพลีย นำส่วนหัวมาเป็นยาบำรุง โดยการใช้หัวตากแห้ง บดเป็นผงกิน หรือนำผงยาผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอน กินวันละ 2 เม็ด หรือนำหัวถั่วพูหั่นตากแห้ง แล้วเอามาคั่วไฟให้เหลืองมีกลิ่นหอม ใช้ชงน้ำร้อนดื่มเป็นแก้อ่อนเพลียหรือเป็นยาชูกำลังให้กับคนไข้ได้ดี  ส่วนของฝักถั่วพูยังใช้เป็นยาแก้ไข้ร้อน แก้หอบ เมล็ดใช้เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ไข้ แก้อ่อนเพลีย

ที่น่าสนใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นในตำราใบลานของชาวล้านนา หรือในภาคเหนือของไทยนั้น มีการ ใช้หัวและรากถั่วพูเข้ายาในหลายตำรับ เช่น

ยาซะมะเร็ง(หมายถึงยาชำระล้าง) ที่มีอาการเจ็บร้อนเหมือนไฟไหม้ ให้ใช้รากผักกันเถิง รากปอบ้าน รากผักหวานบ้าน หัวถั่วพู ฝนใส่น้ำข้าวเจ้ากิน ยาปิเสียบ ( ปิ เป็นอาการร้อนจากลม เช่น ปิแดด) เมื่อมีอาการปิเสียบ จะมีอาการจุกแน่น เมื่อรักษาจนรู้สึกตัวดีแล้ว ให้เอาหัวถั่วพู  รากผักหวานบ้าน ฝนทำยากิน ยารำมะนาดขาง เจ็บในคอ ใช้รากงิ้วหนุ่ม รากผักเข้า รากส้มเห็ด หัวถั่วพู รากแตงเถื่อน และอื่น ๆ ฝนกับน้ำข้าวเจ้ากินแก้เจ็บคอ  นอกจากนี้ถั่วพูยังเป็นสมุนไพรในตำรับยารักษาอาการร้อนภายในร่างกาย ซึ่งทางล้านนาเรียกโรคขางแกมสานร้อนขึ้นถึงกระหม่อม และยามะเร็งคุตเสียบขึ้น  ยามะเร็งคุตซะสาน (ปวดหัวข้างเดียวที่มีก้อนขึ้นตามตัวด้วย) ยามะเร็งสรรพว่า ยามะเร็งทั้งปวง (คำว่า “มะเร็ง” ตามภูมิปัญญาของล้านนา อาจเกิดจากอาการที่ความร้อนภายในกระทำให้มีการแสดงออกทางร่างกาย เช่น ทำให้ผิวหนังมีแผลเปื่อย ไม่ได้หมายถึงมะเร็งตามการแพทย์แผนปัจจุบัน)

ทางล้านนายังมีการใช้ถั่วพูในตำรับยาขางพู้ปากสุก (ขางเป็นโรคเกิดจากไฟธาตุสูง) ยาริดสีดวงเจ็บในเขี้ยว (ปวดฟัน) และยาฝีไข้เจ็บออกหู สำหรับสูตรนี้จะใช้ส่วนรากถั่วพู และยังพบตำรับยาสานแกมขางอีกด้วย หากพิจารณาจากตำรับยาก็พบว่า หัวและรากถั่วพู จัดเป็นยาเย็นเพื่อลดอาการร้อนและไข้ฝี

เพื่อนบ้านไทยในประเทศเวียดนาม ก็มีการกินและใช้ถั่วพูกันกว้างขวาง บ้านใครมีที่ก็มักปลูกเป็นผักสวนครัวปนกับผักอื่นๆ  ซึ่งกินฝักอ่อนและปรุงอาหารกินคล้ายกัน แต่ยังกินใบอ่อนและดอกที่ยังไม่บานด้วย  ที่น่าสนใจเขากินเมล็ด เป็นอาหารบำรุงให้เด็กอ่อนอายุมากกว่า 5 เดือน โดยเอาเมล็ดมาทำเป็นผงชงน้ำ ซึ่งสามารถเป็นการทดแทนน้ำนมในหญิงที่ขาดอาหาร หรือให้เด็กกิน เป็นการเสริมโปรตีนทดแทนในร่างกายด้วย ด้านยาสมุนไพรชาวเวียดนามใช้ ถั่วพูแก้ปวดตา ปวดหู และปวดฝี ในประเทศจีนแถบมณฑล ยูนานก็นิยมใช้รากถั่วพูในการลดความร้อนภายในร่างกายด้วย

ถั่วพู ปลูกง่ายและมีคุณค่าอาหารสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระด้วย และมีสรรพคุณทางยาสมุนไพร  ในภูมิปัญญาไทยและอาเซียนก็นิยมนำมาใช้ดูแลสุขภาพกันอย่างกว้างขวาง ถั่วพูนับเป็นพืชอาหารและยา และเป็นตัวอย่างของการสร้างความมั่นคงทางอาหารและยาที่มีคุณค่า ถั่วพูโตเร็ว ปลูกได้ทุกบ้าน ปลูกไม่นาน เพียงต้นเดียวก็ให้ผลผลิตฝักถั่วพูมากมาย ให้เมล็ดถึง 20-30 เมล็ดในหนึ่งฝัก นำมากินหรือแจกเมล็ดพันธุ์เพื่อขยายต่อไปได้อีกมาก

วันเด็กปีนี้ ชวนเด็กและครอบครัวทำกิจกรรมปลูกถั่วพูเพื่ออาหารดี ยาดี กันนะ