ธรรมดา…ที่ไม่ธรรมดา

ในวันที่ชีวิตล่วงเลยสู่วัยเกษียณ บางคนเลือกใช้เวลาไปกับงานอดิเรกที่ชอบ บ้างเลือกอยู่อย่างสงบกับคนที่รัก แต่สำหรับบางคนก็เลือกที่จะทำสิ่งดีๆ เพื่อคนอื่น..

คุณเรณู ศรสำราญ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย วัย 65 ปี เป็นอีกคนหนึ่งที่วาดแผนที่ชีวิตให้กับตนเองในวัยเกษียณอย่างมีคุณค่า ด้วยการทำงานเป็นอาสาสมัครบ้านราชวิถี มาตั้งแต่ปี 2555 รุ่นที่ 1 กระทั่งปัจจุบัน

ด้วยเหตุผลที่ว่า อยาก ‘เปลี่ยนบรรยากาศ’ และ ‘เปิดโอกาส’ ให้กับตัวเองได้เรียนรู้แง่มุมชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย “เมื่อสมัยเป็นนิสิตที่จุฬาฯ ได้มีโอกาสเข้าชมรมอาสาฯ ไปสอนหนังสือเด็กที่คลองเตย ใส่ชุดนิสิตเข้าไปสอนวันเสาร์อาทิตย์ เด็กส่วนใหญ่อ่านหนังสือไม่ออก พูดไม่ชัด โตแล้วนะ อายุ 11-12 แล้ว แต่เขาไม่ได้เรียนหนังสือ”

“ตอนนั้นถามเขาว่า ทำไมไม่เข้าโรงเรียน เขาบอกว่า เกิดอยู่ในนี้ ตอนเกิดไม่มี ‘สำมะเคราะห์’ เราก็งงๆ ว่าอะไร มาอ๋อทีหลังว่า ไม่มีสำมะโนครัว ก็ขำนะ

“ประสบการณ์ตรงนั้นมันเหมือนได้เปิดโลกทัศน์ จากเด็กที่รู้จักแต่บ้านกับโรงเรียน ทำให้เราเห็นชีวิตที่แตกต่างมากขึ้น อย่างเด็กบางคนมาเรียน มานั่งง่วง เราก็ถามว่า ทำไมง่วง ดูทีวีดึกเหรอ เขาก็บอกว่าไม่ใช่ ข้างบ้านมีรำวงทั้งคืน หนูไม่ได้นอนเลย ตอนนั้นตัวเองก็เพิ่งจะรู้จักรำวง เพราะชีวิตรู้จักแต่บ้านกับโรงเรียน”

อาจารย์เรณูเล่าว่า เมื่อทำงานเป็นอาจารย์สอนหนังสือก็ตั้งหน้าตั้งตาทำแต่งานและมีครอบครัว ใช้ชีวิตอย่างที่ควรเป็น “ระหว่างบ้านกับที่ทำงาน ต้องผ่านถนนราชวิถีประจำ เมื่อก่อนตรงนี้มีโรงเลี้ยงเด็กกำพร้าอยู่ (บ้านเด็กอ่อนพญาไท) วันหนึ่งก็มานั่งนึกกับตัวเองว่า ถ้าเกษียณแล้วมาเลี้ยงเด็กกำพร้าที่นี่น่าจะดี เพราะเป็นคนชอบเด็กอยู่แล้ว แต่พอเกษียณจริงๆ บ้านเด็กกำพร้าตรงนี้ เขาก็ย้ายไปอยู่ปากเกร็ดแล้ว ซึ่งจะตามไปก็ไม่ไหวเพราะบ้านเราอยู่แถวนี้ และตอนเกษียณใหม่ๆ งานก็ยังเยอะอยู่ พอเริ่มมีเวลามากขึ้นจึงเริ่มสานต่อความฝัน “เดินเข้ามาถามที่บ้านราชวิถีดูว่าพอมีอะไรให้ทำได้บ้าง บอกเขาว่า เราสอนหนังสือเด็กได้นะ แล้วก็ยื่นบัตรประชาชนให้เขาดูว่าเราไม่ใช่คนแปลกปลอมมาจากที่ไหน ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ให้ฝากชื่อกับเบอร์ติดต่อไว้ เพราะยังไม่มีโครงการรับพี่อาสาฯ จนผ่านไปประมาณ 2-3 เดือน มูลนิธิสุขภาพไทย ทำโครงการพี่อาสาดูแลน้องที่บ้านราชวิถี เปิดเป็นรุ่นแรก เจ้าหน้าที่เขาก็ติดต่อมาให้ไปทำ”

ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี กับการทำหน้าที่พี่อาสาฯ ที่บ้านราชวิถี อาจารย์เรณู ดูแลเด็กมาแล้วถึง 3 รุ่น โดยรุ่นที่ 1-2 ทำหน้าที่เป็นพี่อาสาสมัครดูแลน้อง กศน. อายุ 12-15 ปี ทำกิจกรรมช่วยสอนน้องถักโครเชต์และเบเกอรี่ รุ่นที่ 3 เป็นพี่อาสาฯ สอนหนังสือให้กับเด็กๆ วัย 5-6 ขวบ จากความต่อเนื่องนี้เด็กๆ ที่นี่จึงรู้จักอาจารย์เรณู และเรียกขานอย่างคุ้นเคยว่า “ป้าเปี๊ยก”

ป้าเปี๊ยกเล่าประสบการณ์การทำงานเป็นพี่อาสาฯ ของน้องๆ ที่บ้านราชวิถีให้ฟังว่า เด็กที่นี่ ถ้าโตหน่อยและพอจะเรียนไหว ทางสถานสงเคราะห์ฯ จะส่งเด็กไปเรียนหนังสือข้างนอก ส่วนเด็กที่เรียนไม่ไหวจะให้เรียน กศน. และสอนอาชีพเสริม โดยมีครูจากข้างนอกมาสอนให้ ส่วนพี่อาสาฯ จะมีหน้าที่ช่วยเหลือเด็กๆ คอยดึงเด็กๆ ให้สนใจเรียนรู้สิ่งที่ครูสอน “ตอนแรกๆ ที่ดูแลเด็กโต เด็กยังไม่ค่อยไว้ใจ บางคนก็ดูอยู่ห่างๆ ไม่คุยไม่เล่นด้วย แต่บางคนวิ่งมากอดเลยก็มี ยิ่งถ้าเป็นพี่อาสาฯ สาวๆ มาด้วย เด็กจะวิ่งไปตรงนั้นก่อนเลย นอกจากว่าคนไหนที่เขาไม่มีใครเอาแล้ว เขาถึงจะมาหาเรา (หัวเราะ) “ตอนนั้นป้าดูแลเด็กอยู่ 2 คน เจ้าคนแรก วันๆก็ชอบมาคุยให้ฟังว่า วันนี้หนูไปร้องเพลงมา วันนี้หนูไปเต้นมา ทำเป็นอยู่สองอย่าง (หัวเราะ) และอีกคนเป็นเด็กที่เพื่อนเขาไม่เอาเข้ากลุ่ม ป้าก็เลยบอกว่า ไม่เป็นไร ใครไม่เอา มาอยู่กับป้าก็ได้”

ด้วยบุคลิกที่ใจดี และพยายามปรับตัวเข้าหาเด็กๆ อย่างจริงใจและเป็นธรรมชาติ ทำให้เด็กๆ เริ่มไว้วางใจและเวลาที่มีเรื่องอะไรก็มักจะมาปรึกษาและเล่าให้ป้าเปี๊ยกฟังเสมอๆ “อย่างมีอยู่ครั้งหนึ่งตลกมาก คือมีเด็กผู้ชายข้างนอกเขียนจดหมายเข้ามาหาใครสักคนในกลุ่มนี้ เสร็จแล้ว เด็กก็เอามาให้ป้าช่วยอ่านให้ฟัง แต่ป้าก็อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะเจ้าเด็กผู้ชายคนนั้นมันก็เขียนผิดๆถูกๆ อ่านไม่เป็นความ ป้าเลยบอกเด็กไปว่า ให้ไปบอกเด็กคนที่เขียนจดหมายมานะว่า ให้กลับไปเรียนหนังสือ ให้เขียนหนังสือให้ดีๆ ถูกๆ กว่านี้ก่อนค่อยเขียนมาใหม่ เขียนอะไรมาไม่รู้ อ่านไม่ออกเลย” ป้าเปี๊ยกเล่าอย่างอารมณ์ดี และเสริมว่า “กับเด็กโตเราต้องเข้าหา เขาชอบอะไร สนใจอะไร ชวนคุย จับเนื้อจับตัว สัมผัสเขา ฟังเขา แล้วเขาก็จะไว้ใจเรา แล้วทีนี้มีอะไรเขาก็จะเล่าให้เราฟังเอง เพราะกฎระเบียบที่นี่เขามีไม่ให้เราไปซักไปถามอะไรเด็ก เว้นแต่เด็กจะมาเล่าให้เราฟังเอง”

หลังสั่งสมประสบการณ์ในการเป็นพี่เลี้ยงเด็กโตมาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อทางโครงการขอให้มาช่วยดูแลเด็กเล็กในรุ่นที่ 3 ป้าเปี๊ยกจึงทำด้วยความเต็มใจ เพราะประเมินว่าดูแลง่ายกว่าเด็กโต และงานสอนหนังสือก็เป็นงานที่ถนัดอยู่แล้ว สิ่งที่สำคัญคือต้องหาวิธีเหมาะสมมาช่วยสนับสนุนให้เด็กวัยซนมีสมาธิจดจ่อตั้งใจเรียน “เด็กที่นี่ยังอ่านเขียนไม่เป็น แต่เขียนชื่อตัวเองได้ คือเขียนหนังสือเหมือนวาดรูป ไม่รู้หรอกว่า นี่ตัวอะไร สระอะไร พอเขามอบหมายให้สอนอ่านเขียนให้เด็ก เราก็อยากจะให้ได้ผล

ป้าเปี๊ยกบอกว่า การได้มาทำงานจิตอาสาแม้เพียงสัปดาห์ละครึ่งวันก็ทำให้รู้สึกดีกับตัวเอง เพราะอย่างน้อยยังสามารถทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้แม้ยามเกษียณ “มาทำตรงนี้ไม่ได้คิดจะได้บุญคุณอะไร ทำไปวันๆ ไม่ได้คิดว่าใครจะมารู้จักว่าเราเคยเป็นอะไรมาก่อน เดินเข้ามาก็เป็นป้าแก่ๆ เดินต๊อกๆมา เราก็พอใจแค่นี้ ใครจะทักไม่ทัก ไม่ไหว้ก็ไม่ว่าอะไร แค่ได้ทำให้เด็กๆ หัวเราะ ได้มีความสุขเราก็มีความสุขแล้ว อย่างน้อยเราได้ดีใจว่า เราสามารถทำให้เด็กที่เคยเมินๆ เฉยๆ หัวเราะกับเราได้และเดินเข้ามาบอกเราว่า ‘วันหลังป้ามาอีกนะ’ “เราไม่ได้เรียกร้องกับเด็กว่าเขาต้องรักเรา แต่พอได้เห็นว่า เด็กเขารักเราจริงๆ ก็ชื่นใจนะ ขนาดมีพี่อาสาสาวๆ มาขอแบ่งไปดูแล บอกให้ไปกับเขายังไม่ยอมไปเลย หว่านล้อมแล้วก็ไม่ยอมไป ลองถามเขาว่า ป้าแก่แล้ว ไปอยู่กับพี่ไหม เขาบอกว่าไม่ไป จะอยู่กับป้า”

“ถ้าทำงานกับเด็กต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กแต่ละคน ดูว่าเด็กรับได้แค่ไหน สิ่งที่เราหยิบยื่นให้เหมาะสมกับเขาหรือไม่ เพราะบางครั้งความตั้งใจที่มากเกินไป อาจทำให้ทั้งเราและเด็กเครียดเป็นทุกข์ได้เช่นกัน” นับเป็นอีกหนึ่งแง่งามของชีวิตในยามเกษียณอายุ ที่มี ‘เวลา และ ความเข้าใจชีวิต’ ช่วยถักทอความสัมพันธ์ระหว่างคนสองวัยให้สามารถเติมเต็มสิ่งดีๆ แก่กันและกันได้อย่างลงตัว

ที่มา : หนังสือเส้นทางอาสา เส้นทางความสุข
โครงการพลังอาสาสมัคร สร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคราะห์ มูลนิธิสุขภาพไทย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ของขวัญปีใหม่ ด้วยใจอาสา

admin 19 มิถุนายน 2019

ดูรายละเอียด การสมัครเป็นอาสาสร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคร […]

ทศวรรษฉลาดทำบุญ กับคุณค่าต่อสังคม

admin 19 มิถุนายน 2019

งาน 10 ปี โลก(จิต)อาสา : ทศวรรษฉลาดทำบุญกับคุณค่าต่อสัง […]