นมน้อย ไม้ยาให้นมมาก

นอกจากวิกฤติเด็กไทยเกิดน้อย ทำให้ประชากรไทยในอนาคตจะมีสัดส่วนคนวัยหนุ่มสาวต้องรับภาระหนักในการดูแลผู้สูงวัยแล้ว ในบรรดาคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ พอคลอดบุตรก็มักประสบปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ไม่มีน้ำนมหรือน้ำนมไหลน้อยมากจนไม่พอให้ทารกตัวน้อยกินนมแม่

ใครได้สัมผัสภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน จะพบว่ามีตำรับยาสมุนไพรหลากหลายขนานที่เกี่ยวกับยาเรียกน้ำนม ซึ่งในฉบับที่แล้วได้มีการนำเสนอ ยาประสะน้ำน้ำของพ่อใหญ่ขาว เฉียบแหลม จ.ขอนแก่น ไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงในปัจจุบันมีการนำเอาตำรับยาเรียกน้ำนมหลายขนานเข้าไปใช้ในโรงพยาบาลหรือในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)หลายแห่งแล้ว และน่าสนใจตรงที่ในตำรับเกือบทุกตำรับจะมีสมุนไพรชนิดหนึ่งเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยเสมอ นั่น คือ ต้นนมน้อย ซึ่งไม่ทราบว่าใครเป็นคนตั้งไว้ แต่สามารถสื่อความหมายได้เป็นอย่างดีว่า เป็นต้นไม้ที่ใช้แก้ปัญหาเรื่องการมีนมน้อย

มารู้จักต้นนมน้อยกันจะได้ใช้กันถูกต้น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ได้อีกว่า นมน้อย (เพชรบูรณ์) น้ำเต้าแล้ง (นครราชสีมา) น้ำน้อย(เลย) ต้องแล่ง (มหาสารคาม อุบลราชธานี) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polyalthia evecta (Pierre) Finet & Gagnep. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา นมน้อยเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาลดำ กิ่งก้านเล็ก เปลือกต้นมีช่องแลกเปลี่ยนอากาศจำนวนมาก ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปวงรี ฐานใบรูปลิ่ม ผิวใบเรียบ ใบด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านหลังมีขนสั้น ประปราย ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ บริเวณกิ่งอ่อน ตรงรอยร่วงของใบ ระหว่างข้อหรือใต้ข้อ กลีบดอกสีเหลือง เนื้อหนา มี 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ แบ่งเป็นกลีบดอกชั้นนอก คล้ายกลีบเลี้ยง สีเขียวอมเหลือง รูปสามเหลี่ยม แยกกัน กลีบดอกชั้นในหนาอวบ มีขนาดใหญ่กว่ากลีบดอกชั้นนอก สีเหลืองนวล กลีบเลี้ยง บางคล้ายกระดาษ รูปสามเหลี่ยม ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายน ถึงสิงหาคม

นมน้อยมีผล ซึ่งผลเป็นผลกลุ่ม มีหลายผลย่อยรวมเป็นช่อ ผลย่อยรูปทรงกลม ผลแก่สีน้ำตาลปนแดง เมื่อสุกสีแดง ผลกินได้ พบตามป่าละเมาะ ชายทะเล ที่ทิ้งร้าง ชายป่า ข้อควรระวังตามพุ่มต้นต้องแล่ง มักมีรังแตน เช่น แตนขี้หมา และแตนราม เป็นต้น ดังนั้นใครคิดจะไปเก็บต้นนมน้อยมาใช้เป็นยาสมุนไพร ควรใช้ลำไม้ยาวๆ แหวกดูก่อน มิเช่นนั้นอาจถูกแตนต่อยได้

นมน้อยนอกจากจะเป็นยาเข้าตำรับที่มีสรรพคุณน้ำนมแล้ว ตามภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสานยังเป็นพืชสมุนๆไพรที่ประกอบในตำรับยาอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่น หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ รากนมน้อย เข้ายากับเครือไส้ไก่ (Jasminum elongatum (P.J.Bergius) Willd.) และตะไคร้ป่า (Litsea cubeba (Lour.) Pers.) ต้มน้ำดื่ม แก้โรคกระเพาะอาหาร และการเข้ายาผสมกับรากลกคก (Polyalthia debilis Finet & Gagnep.) และรากหุ่นไห้ (Erythroxylum cuneatum (Miq.) Kurz) ต้มน้ำดื่ม ช่วยบำรุงน้ำนมหญิงหลังคลอด
หมอยาพื้นบ้านจังหวัดมุกดาหาร ใช้ รากนมน้อย แก้ฝีภายใน หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอำนาจเจริญ ใช้ รากนมน้อย แก้ร้อนใน ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปวดเมื่อย ต้มรากดื่มขณะอยู่ไฟหลังคลอดบุตรและการใช้ยาของ หมอยาพื้นบ้านอีสานทั่วไป ใช้ รากนมน้อย ต้มน้ำดื่ม แก้กล้ามเนื้อท้องเกร็ง บำรุงน้ำนม แก้ปวดเมื่อย

แม้ว่านมน้อยจะมีสรรพคุณในการเรียกน้ำนมได้ดี แต่ขอให้เข้าใจว่าตามภูมิปัญญาดั้งเดิมไม่ใช้นมน้อยเป็นสมุนไพรเดี่ยว เพราะการดูแลสุขภาพหญิงหลังคลอดจะดูแลแบบองค์รวม เนื่องจากร่างกายของหญิงหลังคลอดจะมีระดับฮอร์โมนต่าง ๆ ไม่เข้าสู่ภาวะปกติ อาจเรียกได้ว่าอยู่ในภาวะอ่อนไหวต่อการได้กลิ่นต่าง ๆหรือการกินอาหารที่อาจก่อให้เกิดการผิดสำแดงได้ ดังนั้นยาบำรุงหลังคลอดจึงมักใช้สมุนไพรหลายชนิดร่วมกันทำเป็นตำรับยา เช่นมีแก่นนมสาว (Scleropyrum pentandrum (Dennst.) Mabb.) นมวัว (Anomianthus dulcis (Dunal) James Sinclair) นมน้อย (Polyalthia evecta (Pierre) Finet & Gagnep.) ต้มกินต่างน้ำ

ปัจจุบันมีงานวิจัยเบื้องต้นพบว่า สารสกัดจากรากนมน้อยที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการต้านการเป็นมะเร็งในระดับดีมาก (Sasipawan Machana et al. Asian Pacific Journal of Tropical iomedicine Volume 2, Issue 5, May 2012, Pages 368-374)

และมีข้อสังเกตสำหรับผู้สนใจสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย คือ ในตำรายาที่แพทย์แผนไทยใช้ มียาตำรับหนึ่งเรียกว่า ยาประสะน้ำนม กินเพื่อบำรุงน้ำนมประกอบด้วย โกฐทั้ง 5 เทียนทั้ง 5 รากไทรย้อย 1 เปลือกพิกุล 1 แห้วหมู 1 งาช้าง 1 เขากวางอ่อน 1 รากเสนียด 1 โคกกระออม 1 รวมยา 17 สิ่งนี้ เอาส่วนละเท่า ๆ กัน ต้ม 3 เอา 1 กิน เมื่อพิจารณาจะเห็นว่าตัวยาเกือบทั้งหมดของตำรับนี้มีรสร้อน ในขณะที่ยาพื้นบ้านที่กล่าวไว้ข้างต้นมักมีแต่สมุนไพรที่มีรสเย็น นี่อาจแสดงให้เห็นว่าหลักในการวางยาสมุนไพรหรือการตั้งยาระหว่างแผนไทยและพื้นบ้านมีความแตกต่างกัน ซึ่งจำเป็นต้องศึกษากันต่อไปอีก

รวมทั้งศึกษาด้านพฤกษศาสตร์ของต้นนมน้อยให้ชัดแจ้ง เนื่องจากขณะนี้ในฐานข้อมูลของ The Plant List ปรากฏชื่อวิทยาศาสตร์ของนมน้อยเป็นชื่อที่ระบุว่ายังมีปัญหา (Unresolved name) ทั้งนี้เนื่องจากในแต่ละท้องถิ่นพบลักษณะของต้นนมน้อยมีความแตกต่างกันมาก เช่น บริเวณเขาหินซ้อน นมน้อยมีลำต้นค่อนข้างสูง ทรงพุ่มโปร่งกว่าทางภาคอีสาน นักพฤกษศาสตร์จึงจัดแยกเป็นชนิดย่อย คือ นมน้อยที่เขาหินซ้อนใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polyalthia evecta (Pierre) Finet & Gagnep. var. evecta ระหว่างนี้นักพฤกษศาสตร์ประเทศไทยกำลังศึกษาเพื่อทบทวนและการจัดจำแนกทางพฤกษศาสตร์กันใหม่

ใครเคยเห็นรากของนมน้อยที่มีเปลือกสีน้ำตาลแดงเข้ม หรือถ้ามองผ่าน ๆ อาจจะเห็นเป็นสีดำนั้น ถ้าได้ดมกลิ่นจะรู้ว่ารากนมน้อยนี้มีกลิ่นหอมมาก จึงเป็นตำรับยาที่กินง่าย กินดี เพื่อคุณแม่ให้นมลูก.

บทความที่เกี่ยวข้อง