น้ำมันรั่วทะเลระยอง ประมงพื้นบ้าน..ยังไม่ฟื้น

1 ปีที่ผ่านมา ปัญหาที่สร้างผลกระทบต่อปากท้องชาวประมงพื้นบ้านรุนแรงที่สุด หนีไม่พ้นเหตุการณ์น้ำมันดิบจากระบบท่อรับน้ำมันดิบของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รั่วลงสู่ทะเลบริเวณนอกชายฝั่งมาบตาพุด จ.ระยอง เมื่อ 27 ก.ค.2556

แม้บริษัทก่อปัญหาจะพยายามออกมาประโคมข่าวผ่าน สารพัดสื่อว่าได้จัดการกอบกู้หายนะและเยียวยากลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวบนเกาะ เสม็ดให้ฟื้นคืนกลับมา…เสม็ดเที่ยวได้แล้ว

แต่ท้องทะเลภาคตะวันออกได้ฟื้นสภาพคืนเหมือนเดิมอย่างที่โหมโฆษณาไว้จริงแค่ไหน

“ปีนี้แย่มาก เรือใหญ่ๆออกไป 10 ไมล์ทะเล หาปลามาขายได้เงินแค่ 800-1,000 บาท ไม่คุ้มค่าน้ำมัน แม้กระทั่งการเช่าเรือตกปลา นักตกปลาหายไปหมด ผู้ประกอบการบางรายถึงกับต้องปิดกิจการ เพราะหาปลาหมึกมาเป็นเหยื่อตกปลาไม่ได้ อุตส่าห์ออกเรือไดปลาหมึกรอบเกาะเสม็ดและบริเวณใกล้เคียงตลอดทั้งคืน ได้ปลาหมึกแค่ 20-30 ตัว ทั้งที่ทุกปีช่วง พ.ย.-ธ.ค. จะต้องได้อย่างน้อยวันละ 500 ตัว แต่ตอนนี้ไม่ว่าเรือได้หมึก วางอวนปลา อวนปู แทบไม่ได้อะไรเลย ปูปลาหายไปหมด”

นายมาบุญ เจริญศรี อายุ 52 ปี อาชีพรับจ้างออกเรือตกปลา ที่นักตกปลารู้จักกันในชื่อ ไต๋ขวานแห่งปากคลองแกลง อ.แกลง จ.ระยอง บ่นถึงผลกระทบที่ตนเองได้รับและยังไม่ได้มีการเยียวยาเหมือนธุรกิจท่อง เที่ยว

นายวิเชียร สิงห์โตทอง เจ้าของบริษัทเดอะทอยทัวร์ อ.แกลง จ.ระยอง กิจการรับนักท่องเที่ยวดำน้ำดูปะการังใต้ทะเล บ่นในทำนองเดียวกัน…เพราะนับแต่น้ำมันรั่ว ปะการังใต้ทะเลเริ่มตาย เมื่อดำไปใกล้แหล่งปะการัง บางครั้งพบก้อนน้ำมันตกอยู่ในกองปะการัง ปลาเล็กปลาน้อยที่เคยอาศัยอยู่ในปะการังให้นักดำน้ำได้ชม วันนี้หายไปไม่มีเหลือเลย ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มดำน้ำไม่มาที่ระยอง

เทียบกับปีที่แล้ว มีแขกจองเรือล่วงหน้าทั้งปี แต่ตอนนี้ไม่มีแขกมาเลย

นายจัตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกสมาคมประมงจังหวัดระยอง กล่าวให้ความเห็นสรุปง่ายๆ แบบชาวบ้าน…น้ำมันดิบและสารกำจัดคราบน้ำมันที่รั่ว ทำให้ทุกวันนี้เรือในพื้นที่ระยองออกไปหาปลาหมึก ปลาต่างๆในทะเลกลับเข้ามาไม่ได้อะไรมาเลย บางลำได้มาบ้างแต่น้อยมาก เพราะปลาได้กลิ่นสารเคมีที่ตกค้าง สัตว์หน้าดินจะหายไปหมด แนวปะการังที่น้ำมันไหลผ่านได้ถูกผลกระทบตายไปเป็นจำนวนมาก คนที่หากินในท้องทะเลในอนาคตย่ำแย่แน่นอน ซึ่งผู้ที่รับผิดชอบต่อยังไม่มีการดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ชาวประมง พื้นบ้านแต่อย่างใด

“การรั่วไหลของน้ำมันดิบที่ส่งผลกระทบไปทั่วทั้ง อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด และมีคราบฟิล์มน้ำมันไปถึงบ้านเพ ยังถือว่าโชคดีที่บริเวณนั้นไม่มีเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง เพราะเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล แต่ผลในช่วง 10 วันแรก จะพบการปนเปื้อนสารเคมีในสัตว์น้ำ ปะการังฟอกตัวเป็นสีขาว

เมื่อดำน้ำลงไปดูก้นทะเลจะเห็นว่า ตะกอนดินมีคราบน้ำมันลงไปเกาะตัวกันอยู่จำนวนมาก จากการเก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์ทั้งดินและสัตว์น้ำ พบการปนเปื้อนของน้ำมันในทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มีปะการังฟอกขาว ปลาหนีหายไปจากพื้นที่ ส่วนสัตว์ที่อยู่หน้าดิน จำพวก ปู หอย ก็จะออกไข่น้อยลง และต้องใช้เวลากว่า 10 ปีจึงจะฟื้นฟูให้กลับมาเหมือนเดิมได้”

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ยืนยันข้อมูลทางวิชาการจากปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่

เพราะเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายแห่งของโลก พร้อมยกตัวอย่างกรณีใกล้บ้านเรา น้ำมันรั่วในทะเลฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2550 ต้องใช้เวลากว่า 6 ปีเป็นอย่างน้อยในการฟื้นฟู ตั้งแต่ดูแลสร้าง ปะการังให้เพิ่มขึ้น ตรวจสอบสัตว์น้ำชนิดต่างๆ สร้างแหล่งอาหาร ควบคุมการจับสัตว์น้ำเพื่อให้มีปริมาณที่เพิ่มมาเหมือนเดิม

กระนั้นก็ตาม หน. ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลมองว่า ปัญหาน้ำมันรั่วเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น เนื่องจากทุกวันนี้ ทะเลไทยต้องเผชิญปัญหาสำคัญอีก 2 เรื่อง นั่นคือ ภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลกระทบกับทรัพยากรสัตว์น้ำโดยตรง

และปัญหาสำคัญมากที่สุด “ภาวะน้ำเบียด” ที่เกิดขึ้นหลังมีอุทกภัย ทำให้น้ำจืดจำนวนมหาศาลไหลบ่า พัดพาเอาสารพิษสารเคมีจากภาคเกษตรกรรม ขยะ น้ำเน่าเสียจากชุมชน ไหลลงสู่ทะเล ไปทำลายทรัพยากรประมงจำนวนมาก บริเวณปากแม่น้ำ…นับวันจะขยายวงกว้างออกไปไกลหลายไมล์ทะเล

หนทางที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ดีที่สุด ดร.ธรณ์ มองไปที่…กฎหมายประมง

“ที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นกฎหมายเก่าใช้กันมาตั้งแต่ปี 2490 ไม่มีการควบคุมเครื่องมือทำการประมง ปล่อยให้ทำกันได้อย่างเสรีเกือบทุกพื้นที่ ก่อให้เกิดการแย่งชิงพื้นที่การทำประมงรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน ปี 2553 กรมประมง โดย ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีขณะนั้น ได้เสนอขอแก้ไขกฎหมาย ให้แบ่งเขตทำประมงออกเป็น 3 เขต อย่างชัดเจน คือ เขตประมงน้ำจืด เขตประมงทะเลชายฝั่ง และเขตประมงทะเลนอกชายฝั่ง
พร้อมกำหนดมาตรการ ส่งเสริมการเพาะเลี้ยง ส่งเสริมด้านสุขอนามัย การจับการดูแล เพิ่มอัตราโทษการทำประมงผิดกฎหมายและกำหนดโทษผู้ทำให้ทรัพยากรประมงเสียหาย อย่างกรณีบริษัททำให้เกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วก็ต้องถูกลงโทษด้วยเช่นกัน”

แต่เป็นที่น่าเสียดาย วันนี้กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ ทั้งที่มีการยกร่างมาตั้งแต่ปี 2543 มีการทำประชาพิจารณ์แสดงความคิดเห็นทั้งภาครัฐและเอกชนมาแล้วหลายครั้ง ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาเห็นชอบแล้วไป เมื่อ 9 ก.พ.2553…แต่ยังไม่มีการนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ

มันเลยทำให้ทรัพยากรทางทะเล ปากท้องของประมงพื้นบ้าน ยังถูกทำลายได้อย่างเสรีเหมือนเดิม… โดยไม่ต้องมีใครมารับผิดชอบแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ที่มา : News Monitor www.biothai.net

บทความที่เกี่ยวข้อง