บุคคลเกียรติยศด้านจิตสาธารณะ

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2557 ที่ผ่านมา มูลนิธิโกมลคีมทอง จัดปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2557 ครั้งที่ 40 และได้ประกาศเกียรติคุณบุคคลเกียรติยศมูลนิธิโกมลคีมทองขึ้นทุกปี เพื่อกระตุ้นเตือนและสนับสนุนให้บุคคลมีความเสียสละเพื่อสังคม ในปี 2557 ได้ประกาศะบุคคลเกียรติยศ 3 ท่าน ได้แก่ 1)น.ส.นพวรรณ พงษ์ทอง ด้านจิตสาธารณะ 2)นายสุรชัย ตรงงาม ด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม และ 3)นายเอกลักษณ์ หลุ่มชนแข ด้านสิทธิมนุษยชน

สำหรับบุคคลเกียรติยศด้านจิตสาธารณะ น.ส.นพวรรณ พงษ์ทอง ผู้อุทิศตนและทุ่มเทแรงกายแรงใจในการช่วยเหลือดูแลเด็กพิการซ้ำซ้อน ที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพิการทางสมองและสติปัญญา(บ้านเฟื่องฟ้า)นี้ คือ อาสาสมัครซึ่งร่วมงานอาสากับมูลนิธิสุขภาพไทยมาอย่างต่อเนื่องถึง 6 ปีเต็ม

มูลนิธิสุขภาพไทย จึงขอนำคำการประกาศบุคคลเกียรติยศ ฯ มาเผยแพร่เพื่อส่งเสริมการทำงานอาสาสมัคร และถือเป็นแบบอย่างของสามัญชนที่พร้อมเสียสละแรงกายแรงใจ ทำประโยชน์ให้กับส่วนร่วมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

คำประกาศบุคคลเกียรติยศด้านจิตสาธารณะ
มูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2557
น.ส.นพวรรณ พงษ์ทอง

พระไพศาล วิสาโล กล่าวไว้ว่า
“การช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความรักหรือด้วยเมตตาจิต ถือว่าเป็น “บุญ” ที่สำคัญ และมีอานิสงส์ยิ่งกว่าการให้ทานหรือสิ่งของ บุญชนิดนี้เป็นสิ่งที่สังคมไทยกำลังต้องการอย่างมาก เพราะทุกวันนี้ผู้คนคิดถึงตัวเองมากเกินไป จนขาดน้ำใจต่อผู้อื่น”

การสละเวลาและแรงกายช่วยเหลือผู้อื่น คือการเป็นอาสาสมัครหรือผู้มีจิตอาสา พบเห็นเพิ่มขึ้นในสังคมไทย แต่คงไม่เหมือน “นพวรรณ พงษ์ทอง” พนักงานบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้ที่มีชีวิตประจำวันเช่นคนทั่วไป แต่ได้พลิกผันกลายมาเป็นพี่อาสาดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์อย่างต่อเนื่องตลอด 6 ปีเต็มโดยแทบไม่เหลือวันเสาร์อาทิตย์แถมด้วยการใช้วันลาหยุดทั้งหมดทุ่มเทให้กับงานอาสาสมัครโดยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการประสานงานต่างๆกับหน่วยราชการ และให้คำปรึกษากับอาสาหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าเป็นอาสาสมัครด้วย

แม้ว่าเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ฐานะครอบครัวไม่เอื้ออำนวยและการเป็นลูกคนโต นพวรรณ จึงต้องทำหน้าที่เป็นทั้งพี่และแทนพ่อไปพร้อมกัน ทั้งต้องหาเงินทุนเรียนด้วยตนเองจนจบปริญญาตรีภาคค่ำ และทำงานหาเลี้ยงชีพตามปกติ แต่ด้วยเป็นคนรักและสนใจเด็กมาตั้งแต่วัยรุ่นและสังเกตุเห็นปัญหาของครอบครัวข้างบ้านที่มักเลี้ยงดูลูกหลานไม่เหมาะสม จึงมีความฝันว่าสักวันหนึ่งจะมีโอกาสช่วยเหลือเด็กที่ขาดโอกาส และมีส่วนแก้ไขปัญหาเด็กได้บ้าง

จนเมื่อกุมภาพันธ์ปี 2551 พบข่าวประชาสัมพันธ์ “โครงการอาสานวดเด็ก พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง” เหมือนได้พบสิ่งที่รอคอยมานาน และคิดว่าการเป็นอาสาดูแลเด็กน่าจะดีกว่าการบริจาคสิ่งของ จึงตัดสินใจโดยไม่ลังเล เด็กคนหนึ่งที่ดูแลมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง พัฒนาการช้า แต่ด้วยใจมุ่งมั่นและแสวงหาความรู้อยู่เสมอ ได้ช่วยให้เด็กคนนี้กลับมามีพัฒนาการตามปกติ จนพ่อรับกลับไปอยู่ที่บ้านตามเดิม เด็กอีกคน มีสุขภาพอ่อนแอเพราะคาดว่าคลอดก่อนกำหนด ตัวเล็กผอม มีปัญหาเกี่ยวกับปอด การดูดกลืนลำบาก ต้องอยู่ที่ตึกป่วยตลอด นพวรรณ ใช้เวลาวันหยุดเสาร์อาทิตย์อยู่กับเด็กตลอดเวลา และแม้วันที่เด็กต้องไปนอนโรงพยาบาล หลังเลิกงานจะมุ่งหน้าไปเยี่ยมและอยู่กับเด็กเสมอๆ

นพวรรณ บอกว่า “ต้องการให้กำลังใจเด็ก เพราะเด็กทั่วไปที่ไปอยู่โรงพยาบาลจะมีพ่อแม่คอยเฝ้า แต่เด็กเหล่านี้มีเพียงพี่เลี้ยงหมุนเวียนไปดู และมีเพียงพยาบาลที่มีงานมากมาย เวลาเด็กต้องงดอาหาร ต้องงดนมบางเวลา เพราะต้องกินยานั้น เด็กต้องการกำลังใจมาก ถ้าเด็กอยู่โดดเดี่ยวจะเป็นอย่างไร ก็จะไปพูดคุยและกอดเด็กไว้เสมอ” นพวรรณไป-กลับที่ทำงานกับโรงพยาบาลเช่นนี้เป็นเวลา 1 ปีกว่า จนเด็กออกจากโรงพยาบาล และดูแลต่อเนื่องจนเด็กแข็งแรงเป็นปกติ ขณะนี้เด็กได้ไปอยู่กับพ่อแม่อุปถัมภ์ที่ประเทศสวีเดน

แต่ที่เป็นตำนานเล่าขานในหมู่เพื่อนอาสา เป็นเด็กคนแรกที่นพวรรณดูแลชื่อ “โดโด้” เนื่องจากเมื่อแรกรับหนูน้อยวัยไม่ถึงขวบคนนี้ รู้เพียงว่าพัฒนาการช้า จึงร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการทุกๆด้าน แต่เมื่อผ่านไปสักระยะพบว่า เด็กมีความพิการซ้ำซ้อน มีทั้งอาการทางสมอง อาการเกร็งแขนขา เคลื่อนไหวไม่ได้ เคึ้ยวอาหารลำบาก น้ำลายไหล นั่งและเงยคอไม่ได้ ทั้งยังมีอาการออทิสติค สื่อสารไม่ค่อยได้ อารมณ์จึงหงุดหงิดง่าย

แม้ไม่ใช่พ่อแม่เด็ก แต่ นพวรรณ ปฏิบัติดั่งลูกตนเอง ไม่เคยรังเกียจหรือท้อถอย กลับใฝ่หาความรู้ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และแบ่งปันเวลาเกือบทั้งหมดในวันหยุดให้กับเด็ก จนเมื่อเด็กอายุพ้น 4 ขวบต้องย้ายไปอยู่ในสถานสงเคราะห์เด็กพิการ นพวรรณติดตามเด็กไปโดยที่สถานสงเคราะห์แห่งใหม่นั้นยังไม่มีโครงการรับอาสาสมัคร แต่ด้วยหัวใจเปี่ยมด้วยเมตตากรุณาและความมุ่งมั่นไม่หวั่นต่ออุปสรรคใดๆ จึงเฝ้าแวะเวียนไปเยี่ยมเด็กทุกสัปดาห์ ทุกวันหยุด และขอความอนุเคราะห์จากสถานสงเคราะห์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความเพียรพยายามและการกระทำอย่างต่อเนื่องจึงเกิดมรรคผล ในที่สุดสถานสงเคราะห์อนุญาตให้นพวรรณได้เลี้ยงดูเด็กคนนี้อย่างต่อเนื่อง ช่วยให้เด็กฝึกการนั่ง กล้ามเนื้อเริ่มผ่อนคลาย ตักอาหารกินเองได้บ้าง เริ่มรับรู้สื่อสาร และเหนืออื่นใด เด็กน้อย โดโด้ ยิ้มแย้มหัวเราะเล่นกับคนอื่นได้ และแสดงออกให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงความสุขทุกครั้งที่พี่อาสามาอยู่ด้วย จากเด็กทารกเติบใหญ่ตัวโตขึ้นอายุกว่า 7 ขวบ ขณะที่พี่อาสาล่วงเข้าวัยเกษียณกำลังกายเริ่มลดลง แต่ทุกวันหยุดอาสาผู้ที่เด็กๆ เรียกติดปากว่า “ป้าไกด์” คนนี้ ยังมาดูแลเด็กด้วยใบหน้ายิ้มแย้มสดใสเป็นประจำแทบไม่เคยขาด

นพวรรณ ถือเป็นแบบอย่างของสามัญชนที่พร้อมเสียสละแรงกายแรงใจ วันเวลาในชีวิตของตนเองทำประโยชน์อย่างต่อเนื่องยาวนานให้กับส่วนรวมโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน จึงสมควรยกย่องให้เป็นบุคคลเกียรติยศ ประจำปี 2557 ของมูลนิธิโกมลคีมทอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ของขวัญปีใหม่ ด้วยใจอาสา

admin 19 มิถุนายน 2019

ดูรายละเอียด การสมัครเป็นอาสาสร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคร […]

ทศวรรษฉลาดทำบุญ กับคุณค่าต่อสังคม

admin 19 มิถุนายน 2019

งาน 10 ปี โลก(จิต)อาสา : ทศวรรษฉลาดทำบุญกับคุณค่าต่อสัง […]