ฝางเสน บำรุงโลหิตให้สตรี บำรุงร่างกาย แก้กระหายน้ำ

เพื่อนชาวสำนักพิมพ์ “มติชน” แวะมาที่มูลนิธิสุขภาพไทย(สำนักงานใกล้กัน)เพื่อหาชาดอกคำฝอยให้หัวหน้าเธอชงดื่ม เธอมาประจำเดือนละครั้งแต่คราวนี้สอบถามหาสมุนไพรบำรุงเลือดให้ตัวเธอเอง เพราะเป็นคนเลือดน้อย รู้สึกร่างกายซูบ ไม่สดใส เรี่ยวแรงก็ไม่ค่อยมี
ทางมูลนิธิฯ แนะนำแบบ D.I.Y (Do it yourself) ง่ายๆตามแนว “พึ่งตนเอง” ให้หา แก่นฝางเสน หรือเรียกสั้นๆว่า ฝาง มาชงน้ำดื่ม เธอดูไม่รู้จะไปหาสมุนไพรที่ว่าจากไหนดี จึงบอกไปว่าไม่ต้องกังวลจะหามาให้กิน ตอนนี้ได้แก่นฝางเสนมาแล้ว จึงถือโอกาสเล่าเรื่องราวสรรพคุณให้ผู้อ่านรู้จักใช้กันด้วย

ฝางเสนหรือเรียกสั้นๆ ว่า ฝาง เป็นไม้ยืนต้นทรงไม้พุ่ม สูงราว 5 เมตรจนถึง 10 เมตร ลำต้นมีหนามโค้งสั้นๆ ใบเรียงกันคล้ายใบหางนกยูงไทย ดอก ช่อ ออกที่ซอกใบตอนปลายกิ่ง ดอกมีสีเหลือง กลางดอกเป็นสีแดง ออกดอกระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน ผลเป็นฝักรูปสี่เหลี่ยมแบนโค้งคล้ายมีดปังตอ เปลือกแข็งสีน้ำตาลเข้ม ฝรั่งเรียกว่า Sappan Tree ชื่อวิทยาศาสตร์ Caesalpinia sappan L. อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE ฃื่อเรียกในเมืองไทยเรียกกันหลายชื่อ ฝางเสน , ฝาง, ฝางส้ม, ง้าย, หนามโค้ง

ต้นฝางนี้พบได้ทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าเขาหินปูนแห้งแล้ง และตามชายป่าดงดิบทั่วประเทศไทย ในต่างประเทศก็พบได้ตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ แต่อยากบอกดังๆว่า เวลานี้ต้นฝางกำลังมีจำนวนลดลงมาก ข้อมูลจากพื้นที่ 2 แห่งที่ทางมูลนิธิฯ ไปทำงานด้วย คือ แถบจังหวัดลำปาง เชียงใหม่ แพร่ และฉะเชิงเทรา ต้นฝางในป่าธรรมชาติหายากขึ้น เครือข่ายหมอพื้นบ้านจึงต้องระดมปลูกต้นฝางเพื่อนำมาใช้งานกัน ฝางเสนที่นำภาพมาลงในที่นี้ก็ได้จากสวนลุงโชค ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้และพื้นที่ปลูกสวนป่าแถบอ.วังน้ำเขียว

ฝางเสนเป็นที่ต้องการในวงการยาไทยมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังเช่นบันทึกใน ตำราพระโอสถพระนารายณ์ มีการกล่าวถึงตัวยาที่นำมาใช้แก้ความผิดปกติของอาโปธาตุหรือธาตุน้ำ ซึ่งใช้เครื่องยา(ตัวยา) 2 สิ่งคือ เปลือกมะขามป้อมและฝางเสน ใช้ปริมาณเท่ากัน นำมาต้มน้ำ 4 ส่วนให้เหลือ 1 ส่วน กินแก้ความผิดปกติของธาตุน้ำหมายถึงการแก้อาการท้องเสียนั้นเอง หากอธิบายด้วยการศึกษาสมัยใหม่พบว่า ในแก่นฝางเสนมีสารจำพวก แทนนิน ซึ่งช่วยแก้ท้องเสีย และสาร Sappanin มีฤทธิ์ระงับเชื้อโรคได้ ตำรับยาที่ใช้กันในการแก้อาการท้องเสีย ใช้แก่นฝางหนัก 3-9 กรัม ต้มกับน้ำ 500 มิลลิลิตร ต้มเคี่ยวให้เหลือครึ่งหนึ่ง ดื่มแก้ท้องเสีย
ถ้ามาพิจารณากันตามตำรายาไทย(โบราณ) ระบุสรรพคุณประมาณนี้ แก่นฝางเสนมีสรรพคุณบำรุงโลหิต ขับประจำเดือน แก้ปอดพิการ ขับเสมหะ แก้ร้อนใน ช่วยลดความร้อนในร่างกาย กระหายน้ำ แก้ไอ ขับระดู เป็นยาบำรุงโลหิตสตรี แก้ธาตุพิการ แก้เลือดกำเดา แก้โลหิตออกทางทวารหนัก และแก้อาการเลือดออกภายในอวัยวะต่างๆ เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือในลำไส้

ฝางเสนถือว่าเป็นสมุนไพรที่มีคุณสมบัติเย็น จึงไม่น่าแปลกใจที่ตลอด 60-70 ปีมานี้คนไทยได้รู้จักกิน “น้ำยาอุทัย” ซึ่งมีส่วนผสมของฝางช่วยดับกระหายคลายร้อนและแก้อาการร้อนใน สรรพคุณยาเย็นและช่วยแก้กำเดานั้น ใครที่มีอาการเลือดกำเดาออกบ่อยๆ ให้ดื่มน้ำต้มฝางจะช่วยได้

มาถึงสรรพคุณยาบำรุงโลหิตสตรีนั้น ที่เป็นตำรับยาสามัญประจำบ้านซึ่งสืบทอดมานานจนขณะนี้ได้รับการยอมรับประกาศในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว คือ ยาบำรุงโลหิต ตำรับยานี้แม้มีฝางเสนอยู่ด้วยแต่ก็มีตัวยาอื่นกว่า 30 ชนิด ตำรับยาคลาสสิกนี้จึงปรุงเองไม่ได้ให้ไปหาซื้อมากินจะง่ายกว่า จึงขอแนะนำตำรับยาบำรุงโลหิตสตรี แบบง่ายๆ พอจะทำเองได้ เริ่มจากยากไปง่าย ดังนี้

1.ใช้แก่นฝาง แก่นไม้แดง รากเดื่อหอม อย่างละเท่ากัน ต้มกิน
2.สูตรนี้รสชาติดี ใช้ดอกคำไทย(แห้ง) ดอกคำฝอย(แห้ง) และแก่นฝางเสน อย่างละเท่าๆกัน นำมาต้มน้ำหรือชงกับน้ำร้อนๆ รอให้อุ่นบีบน้ำมะกรูดหรือน้ำมะนาว และแต่งรสด้วยน้ำผึ้งเล็กน้อยก็ได้ กินเป็นเครื่องดื่ม ครั้งละแก้ววันละ 3 เวลา
3.วิธีนี้ง่ายสุดๆ เหมาะกับสังคมยุคใหม่ที่ชอบอะไรสะดวกทันใจ เพียงแค่นำแก่นฝางเสนที่ตากแห้งเวลา 1 ชิ้น(ความกว้าง 1.5 ซม. ยาว 10 ซม.) ต้มกับน้ำ 1 ลิตร ปล่อยให้เดือดสัก 15 นาที เพื่อสกัดตัวยาจะได้น้ำยาสีแดงๆ เก็บน้ำยาฝางในกระติกน้ำร้อน แบ่งกินได้ทั้งวัน บางคนใช้วิธีสับแก่นฝางเสนให้เป็นซีกเล็กๆ แบบไม้จิ้มฟัน แล้วใส่ถ้วยเติมน้ำเดือด แบบชงชา ทิ้งไว้ 10 นาที ดื่มอุ่นก็ได้เช่นกัน

ข้อควรระวัง ไม่ใช้กับสตรีตั้งครรภ์เพราะฝางมีสรรพคุณขับประจำเดือน สำหรับคนปกติทั่วไปก็ไม่มีปัญหา น้ำยาฝาง สีแดงสวยๆ นี้ ดื่มเป็นประจำ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ลดเสมหะ และช่วยบำรุงโลหิตสตรี เมื่อกินดื่มประจำแล้ว อย่าลืมมาช่วยกันปลูกต้นฝางเสนกันให้มากขึ้นด้วย.

บทความที่เกี่ยวข้อง

ระย่อม ประโยชน์ที่มองข้าม

admin 14 มกราคม 2019

เมื่อครั้งเมืองไทยกำลังให้ความสำคัญกับสมุนไพร ประมาณปี […]

ยากวนบำรุงร่างกาย

admin 6 มกราคม 2019

งานชิ้นเล็กๆอย่างหนึ่งของชาวมูลนิธิสุขภาพไทย คือการเดิน […]

บอระเพ็ดดองน้ำผึ้ง

admin 6 มกราคม 2019

ส่วนประกอบ : 1.บอระเพ็ด 2.น้ำผึ้งแท้ สรรพคุณ : บำรุงร่า […]