พังแหร พืชยาวงศ์เดียวกับกัญชา

เชื่อว่าหลายท่านไม่คุ้นชื่อ ไม่คุ้นตาพืชสมุนไพร พังแหร แน่ๆ และท่านที่รู้ก็อาจจะมีความสงสัยว่า พังแหร ที่เรารู้จักคือต้นไหนกันแน่ เนื่องจากมีการเรียกชื่อเหมือน ๆ กัน แต่เป็นคนละชนิดกัน จึงขอแนะนำทำความรู้จักต้นไม้นี้ซึ่งแปลกใจว่า คนไทยนำมาใช้ประโยชน์ไม่มากนัก พังแหร เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกับกัญชา คือ Cannabaceae และในประเทศไทยมีรายงานพบเห็นอยู่ถึง 4 ชนิด คือ

ชนิดแรก เรียกชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trema angustifolia (Planch.) Blume มีชื่อท้องถิ่น พังแหร (ภาคใต้) พังแกร (ยะลา) พังอีแร้ (ปัตตานี สตูล)

ชนิดที่สอง ชื่อวิทยาศาสตร์ว่าTrema cannabina Lour. มีชื่อท้องถิ่นทั่วไปว่า พังแหร เช่นกันแต่เป็นพังแหรชนิดเดียวที่เป็นไม้พุ่ม

ชนิดที่สาม ชื่อวิทยาศาสตร์ว่าTrema orientalis (L.) Blume มักเรียกกันว่า พังแหรใหญ่ ตายไม่ทันเฒ่า (ยะลา) ขางปอยป่า  ปอแฮก (ภาคเนือ) ตะคาย (ภาคกลาง) พังแหร (แพร่) ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษคือ Charcoal tree, Gunpowder tree, Peach cedar

ชนิดที่สี่ ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trema  tomentosa (Roxb.) Hara พังแหร (ภาคใต้) ปอแต้ง ปอฟาน ปอหู (ภาคเหนือ) ปอหมัน (ขอนแก่น) ปอขี้ไก่ (ลำปาง) ปอขี้เลียด (สระบุรี) ตายไม่ทันเฒ่า (ประจวบคีรีขันธ์)

พังแหรทั้ง 4 ชนิดนี้จากการศึกษาเอกสารเท่าที่มีอยู่นั้นพบว่า มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางยาเพียงชนิดเดียว คือ พังแหรชนิด Trema  orientalis นอกนั้นนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ขอแนะนำการใช้ด้านอื่น ๆ ก่อน ดังนี้

พังแหร หรือที่ทางราชการไทยเรียกว่า พังแกร ชนิด Trema angustifolia มีการนำเยื่อจากเปลือกมาใช้ในอุตสาหกรรมการทำกระดาษและสิ่งทอ ใบนำมาใช้สำหรับขัดถู (emery cloth) ลักษณะเหมือนกระดาษทราย พังแหร ชนิดนี้มีการกระจายอยู่ในแถบเอเชียตะวันออก ชมพูทวีป (Indian subcontinent) ตอนใต้ของประเทศจีน ประเทศไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย

พังแหรชนิด Trema  cannabina ชื่อวิทยาศาสตร์คงเดาทางกันได้เพราะบ่งบอกว่าน่าจะมีสารของกัญชา แต่ก็ยังไม่มีรายงานว่ามีการนำไปใช้ประโยชน์แบบกัญชา (หรืออาจมีใช้กันแต่ไม่รายงาน) พังแหรชนิดนี้ให้เส้นใยที่มีความแข็งแรงมาก โดยเฉพาะส่วนเปลือกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อและกระดาษ นอกจากนี้น้ำมันที่ได้จากพังแหรชนิดนี้ใช้ทำสบู่และสารหล่อลื่นต่าง ๆ ได้ เราพบเห็นพังแหรชนิดนี้มักมีการกระจายอยู่ในแถบเอเชียตะวันออก ชมพูทวีป (Indian subcontinent) ตอนใต้ของประเทศจีน มาเลเซีย อินโดไชน่า

สำหรับพังแหรชนิด Trema orientalis ทางราชการไทยเรียกว่า พังแหรใหญ่ แต่ต้นนี้มีรายงานว่าในประเทศคองโกนำส่วนของใบและผลมากินด้วย และมีรายงานการใช้ประโยชน์ทางยาสมุนไพรในหลายประเทศ เช่น ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิและมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อมาลาเรีย นำเปลือกและใบน้ำมาต้ม ใช้เป็นน้ำยาบ้วนปาก ทำเป็นยาดม ทำเป็นเครื่องดื่ม ทำเป็นโลชั่น นำมาต้มอาบหรือรมแก้ไอ แก้เจ็บคอ หอบหืด หลอดลมอักเสบ แก้หนองใน  แก้ไข้เหลือง แก้ปวดฟัน ส่วนของใบก็มีรายงานว่าช่วยในการลดพิษที่เข้าสู่ร่างกายได้ เปลือกนำมาชงดื่มแก้อาการบิด เนื้อไม้นำมาทำให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ นำไปย่างไฟให้แห้ง แล้วเอาชงเป็นชาดื่ม แก้บิดมีตัว

นอกจากนี้ พังแหรชนิดนี้ยังมีประโยชน์ในการเป็นไม้เบิกนำในการฟื้นฟูป่าได้เป็นอย่างดี โตเร็ว นิยมนำไปใช้ทำถ่านที่ให้พลังงานความร้อนดีมาก ในกลุ่มประเทศเอเชียและอาฟริกานิยมปลูกเพื่อให้ร่มเงาในสวนกาแฟและโกโก้ และเป็นต้นไม้ขึ้นได้ดีแม้ในดินนั้นมีคุณภาพเลว เมื่อเจริญเติบโตแล้วจะทำให้ดินมีคุณภาพดีขึ้น ยังพบว่าต้นพังแหรเป็นที่ชื่นชอบของแมลงที่เป็นศัตรูพืช เมื่อปลูกพังแหรร่วมกับพืชเศรษฐกิจอื่นจะเป็นการลดความเสี่ยงจากการทำลายของแมลงได้ด้วย

พังแหรใหญ่ยังมีเส้นใยจากเปลือกที่นิยมนำมาใช้ทำด้ายหรือเชือก เปลือกใช้ทำสีย้อมให้สีดำและสีน้ำตาล ใบทำสีย้อมให้สีกาแฟด้วย เยื่อที่อยู่ด้านในของเปลือกเมื่อนำมาถูบนเชือกจะทำให้เชือกเป็นสีดำและมีความเหนียวคงทนขึ้น เปลือกและใบมีสารแซปโปนินและแทนนินสูง เปลือกพังแหรใหญ่นำไปทำกระดาษให้ความเหนียว คงทน ไม่ฉีกขาดง่ายด้วยเช่นกัน สำหรับเนื้อไม้จะมีสีชมพูอ่อนสามารถนำมาทำอุปกรณ์ เครื่องเรือนต่าง ๆ หรือนำเนื้อไม้มาเป็นเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพดี และนิยมนำมาทำเป็นถ่านเพื่อใช้เป็นดินปืนในการผลิตกระสุนปืนและดอกไม้ไฟ  ซึ่งเป็นที่มาของชื่อสามัญของพังแหรใหญ่ ที่เรียกว่า Charcoal tree หรือ Gunpowder tree ในอาฟริกาใต้นิยมปลูกตามแนวริมฝั่งแม่น้ำเป็นไม้ป้องกันแนวตลิ่ง ในฟิลิปปินส์มีการนำใบมาเป็นอาหารให้ วัว ควายและแพะ แต่ไม่ควรให้กินมากเพราะมีเยื่อใยสูงจะเป็นอันตรายต่อระบบย่อยอาหาร ในมาเลเซีย อินโดนีเซียและอินเดียใช้เนื้อไม้มาผลิตเป็นไม้แผ่น และใช้ในการผลิตกระดาษ ทำเชือก เหมือนประเทศอื่น ๆ

พังแหรชนิด Trema  tomentosa มีชื่อทางราชการว่า ปอขี้ไก่ ซึ่งสามารถนำไปสกัดสารแทนนินได้จำนวนมากและนำสารแทนนินไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ เส้นใยจากเปลือกก็สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรม กระดาษ เชือกและเส้นใยประดิษฐ์ ใบใช้แทนกระดาษทราย เนื้อไม้มีคุณภาพดีเช่นกัน พังแหรชนิดนี้มีการกระจายอยู่ในอาฟริกาตะวันออก ชมพูทวีป จีนตอนใต้ ญี่ปุ่น เขตร้อนของเอเชียตะวันออกไปจนถึงออสเตรเลียและหมู่เกาะแปซิฟิค

น่าแปลกใจที่ในประเทศไทยพบพังแหรชนิด Trema  orientalis จำนวนมาก แต่กลับมีการนำมาใช้ประโยชน์ไม่มากเท่ากับประเทศเพื่อนบ้าน และยิ่งแปลกใจอีกที่ในประเทศไทยพบพังแหรได้ถึง 4 ชนิด จึงน่าจะมีการฟื้นฟูการปลูกและการใช้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้ให้มากขึ้น จะช่วยสร้างอาชีพได้มากมาย เช่นการเผาถ่าน ซึ่งเรามีความเชียวชาญในเรื่องนี้เป็นอย่างดี หรืออุตสาหกรรมขนาดเล็กในการผลิตเชือกและเส้นใยจากพืชชนิดนี้ทดแทนการใช้พลาสติก เพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ และพัฒนาการใช้ประโยชน์ทางสมุนไพรด้วย.