ภูมิปัญญาล้านนา ปั้นยาให้เป็นลูก (ลูกกลอน)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วัฒนธรรมการดูแลสุขภาพของไทยมีอยู่เต็มแผ่นดินขวานทองของไทย เรียกว่า “ร่ำรวยภูมิปัญญา” ก็ได้ ดังเช่นท้องถิ่นล้านนาในภาคเหนือ  มีวิธีการเตรียมยาลูกกลอนที่เรียกว่า กิ๊กยา หรือการปั้นยาให้เป็นลูก ซึ่งมักจะเรียกยาที่ปั้นได้ตามสีที่เตรียม เช่น ถ้าปั้นยาเป็นลูกแล้วเห็นชัดมีสีขาว ก็เรียกว่ายาแก้ลูกขาว หรือถ้าสียาออกดำ อาจเรียกเป็นยาเม็ดดำ

ในการเตรียมยาลูกกลอนแบบฉบับล้านนาทำได้หลายวิธี และในบางครั้งทำเป็นยาลูกกลอนแล้วก็นำไปปรุงหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบยาได้อีกด้วย ซึ่งมักจะเตรียมไว้ล่วงหน้า สำหรับการปั้นเป็นเม็ดนั้น โดยส่วนใหญ่จะหลายขนาด เช่น เท่าลูกมะเขือพวง (มะแคว้ง) มะเดื่อ พริกน้อย (เมล็ดพริกไทยดำ) ลูกหมากทัน (พุทรา) มะแคว้งขม (มะแว้ง) หรือเท่าเมล็ดข้าวโพด

การทำยาลูกกลอนมี วิธีปรุงยา หลายวิธี เช่น

1) นำสมุนไพรที่แห้งมาบดเป็นผงแล้วปั้นเป็นลูก โดยใช้ตัวประสาน คือ น้ำ ซึ่งมีการใช้หลายชนิด เช่นน้ำที่ได้จากการนึ่งข้าว น้ำผึ้ง หรือน้ำคั้น น้ำต้ม จากหญ้าฮ่อมเกี่ยว (กะเม็ง) และอื่นๆ

2) นำสมุนไพรที่แห้ง ตำเป็นผงแล้ว ชุบน้ำยาที่มีสรรพคุณเสริมฤทธิ์ตัวยา เช่น น้ำฮ่อมเกี่ยว(กะเม็ง) แล้วตากแดดให้แห้ง โดยอาจทำหลายครั้ง และเปลี่ยนน้ำยาชุบตัวอื่นแล้วปั้นเป็นลูกกลอน ตัวอย่างตำรับยา ยาสีมุนหลวง เอาใบหัสกึน  ใบมะข่าง ใบพิดพิวทั้ง 2 (เจตมูลเพลิงขาว เจตมูลเพลิงแดง) ใบข่า ใบปูเลย (ไพล) ใบบูราทั้ง 2 (บัวราขาว บัวราดำ) ใบผีเสื้อทั้ง 2 (คนทีสอขาว และ คนทีสอดำ) ใบเปล้าทั้ง 2 (เปล้าน้อย เปล้าใหญ่) เอาเท่ากัน แล้วตำผง ตำเอาน้ำผักแคบ (ตำลึง) ชุบตาก 3 ที ชุบน้ำผักหนอก 3 ที ชุบน้ำฮ่อมเกี่ยว(กะเม็ง) ตากแดด 3 ที  แล้วปั้นลูกกลอนไว้ใช้เทอะ ใช้เมื่อมีดบาด (พร้าถูก) กรณีอื่น น้ำยาที่ใช้ชุบ เช่น เปลือกกุ่มน้ำ เปลือกกุ่มบก  เปลือกผักอีลืม (มะรุม) น้ำปูเลย (ไพล)

3) นำสมุนไพรแช่น้ำ หรือสุราหรือน้ำสมุนไพรอื่นเป็นเวลา เช่น 1 วัน 3 วัน หรือ 7 วัน แล้วนำมาปั้นเป็นลูกกลอน บางครั้งก็อาจผสมสมุนไพรอื่นหรือไม่ก็ได้ ยาลูกกลอนที่ได้นำไปตากแดดให้แห้ง

4) เตรียมยาลูกกลอนเหมือนข้อแรกแล้ว แต่นำมาทำต่อโดยแช่ลงในน้ำยาสมุนไพรที่ต้องการเพิ่มฤทธิ์ แล้วจึงเอาออกตากแดด 3 ครั้งเก็บไว้กิน ตัวอย่าง ตำรับยาแก้ลูกน้อย  (หมายถึงยาแก้อาการที่เป็นยาเม็ดเล็ก) ท่านให้เอาหัสสคึนห้าบาท เทียนดำ สิบสองบาท แล้วเอามารวมกัน ตำเอาฮ่อมเกี่ยวเป็นน้ำ แช่ยาไว้1คืน แล้วเอามาปั้นเป็นลูกตากแห้ง แล้วสักกัตวาสรูป 7 ครั้งหรือ 7 ที เอาไว้ใช้เทอะ เป็นสันนิบาตใส่น้ำอุ่นน้ำขิงกิน  เป็นเหน็ดเหนื่อยเมื่อยตัว ใส่น้ำผึ้งกิน ไข้สั่นใส่น้ำมันงาทา ใส่น้ำอุ่นกิน เลือดดังตก ใส่น้ำเหล้า น้ำผึ้งกิน เจ็บหัว มะแคว้งเป็นน้ำ ยานี้ใส่ตบหัวดีและ เป็นนิ่วใส่น้ำเยี่ยววัวดำกิน เป็นไอ ใส่เหล้ากิน ตำรับนี้มีการยักกระสายตามอาการ การเตรียมใช้พิธีกรรมประกอบด้วย

ยาแก้ลูกน้อย อีกตำรับหนึ่งกล่าวไว้  ให้เอาแก่นหมากซักหนุ่ม ในยังขาวอยู่นั้นทั้งเปลือก ทั้งแก่นใน ขั้วหื้อผ่อย (คือคั่วให้กรอบ) บูราขาว เทียนดำ 10 พริกน้อย 10 ขิง 20 ข่า 30 หอมขาว 3 กีบ ขั้วจุอัน (ขั้วทุกชนิด) บดให้ละเอียด น้ำสุราแช่ไว้คืนหนึ่งแล้ว  ปั้นเป็นลูกเท่าพริกน้อย ไว้กินหายพยาธิ เจ็บหัวมัวตา เจ็บท้อง เจ็บอก…

ยาห้ามลงท้องเมื่อเป็นระดู เอาเอิบเชย (คืออบเชย) ไม้เนาใน พริกน้อย 7 ลูก ผีเสื้อ 7 ยอด ขิง 7 กลีบ ปั้นลูกกลอน แล้วเอาแหนเครือ เอายาลูกกลอนลงแช่ แล้วเอาออกตากแดดหื้อพอ 3 ที แล้วเอาไว้กินหาย

ยาธาตุ “เอาใบมะปินหนุ่ม (มะตูม) 3 ร้อย ปิ๊ดปิวแดง (เจตมูลเพลิงแดง) 3 ร้อย จุ่งจาริง (บอระเพ็ด) สามร้อยหญ้าเยี่ยวหมู 3 ร้อย ขิงแกง 6ร้อย โขงขะเมา 6 ร้อย เปลือกกุ่ม 10 ร้อย พริกน้อย (พริกไทยดำ) 6 ร้อย ลูกส้มจีน 6 ร้อย มะข่าง 3 ร้อย ตำผงให้ละเอียดแล้ว เอาน้ำผึ้งปัน (พัน) หนึ่ง” (ความหมาย 1000 เท่ากับน้ำ ประมาณ 1 ขวดน้ำปลา ในที่นี้ ถ้าเอายาใส่ ให้ได้เต็มขวด เท่ากับ 1000) มาหุงกับยาผสมกันแล้ว ทำเป็นลูกเท่าลูกมะทัน กินวันละ 1 ลูก ให้ครบ 10 วัน พยาธิหายหมด

ยาธรณีจันทร์คาด “มหาหิง 1 บาท ยาดำ 1 บาท การบูน 1 บาท ลูกจันทร์ 1 บาท พริกไทย 4 บาท ตำผงผสมกันน้ำมะกรูดเป็นกระสาย ปั้นเป็นลูกเท่า ลูกพุทรา หรือลูกมะแคว้งขม (ลูกมะแว้ง)” กินครั้งละ 5 ลูก เป็นยาระบายโรคลมต่างๆ ได้ดีนัก

การกินยาลูกกลอนตามแบบฉบับภูมิปัญญาล้านนาไม่ได้กินเป็นเม็ด ๆ เท่านั้น พบว่าบางครั้งจะนำเอายาลูกกลอนแช่ในน้ำธรรมดา หรือแช่ในเหล้า ก่อนจะกินด้วย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่น่าสนใจเพราะช่วยทำให้ยาแตกสลายตัวหรือละลายยาก่อนที่จะกินเข้าไปนั่นเอง นักวิชาการจากล้านนาที่คลุกคลีงานภูมิปัญญาด้านสุขภาพล้านนา พบว่ากิ๊กยาหรือการปั้นยาให้เป็นลูกของล้านนานั้น มีสิ่งน่าสนใจ 3 ประการ คือ การนำยาลูกกลอนที่เตรียมมาแช่หรือชุบในสมุนไพรทำให้การรักษาได้หลากหลายมากขึ้น และเป็นการเพิ่มฤทธิ์หรือเสริมฤทธิ์สรรพคุณด้วย  การเตรียมยาที่มักเทียบเคียงขนาดและน้ำหนักยาที่แน่นอน เพื่อให้ขนาดยาเท่ากันทุกเม็ด โดยใช้ขนาดของผลสมุนไพรเป็นเกณฑ์ และที่น่าสนใจคือ ยาลูกกลอนเตรียมไว้ไม่จำเป็นที่จะใช้กินเป็นยาภายใน แต่เตรียมไว้ใช้เป็นยาทาภายนอกได้ด้วย

ภูมิปัญญาดั้งเดิมช่างน่าสนใจก็ตรงนี้.