ระย่อม ประโยชน์ที่มองข้าม

เมื่อครั้งเมืองไทยกำลังให้ความสำคัญกับสมุนไพร ประมาณปี พ.ศ. 2540 นั้น ระย่อม คือ สมุนไพรชนิดหนึ่งที่โด่งดังมาก มีสรรพคุณในการบำรุงร่างกาย แต่ต่อมามีข้อมูลออกมาว่าระย่อมมีความเป็นพิษสูง สมุนไพรที่กำลังรุ่งก็เลยร่วงโรยเลือนหายไป ในขณะที่ประเทศอินเดียมีการพัฒนายา โดยนำรากมาบดทำเป็นยาเม็ด ส่วนทางยุโรปและอเมริกามีการศึกษาสารสกัดระย่อมทำเป็นยาฉีดลดความดันโลหิตและกล่อมประสาท ในปัจจุบันมีการสกัดสารจากรากระย่อมมาใช้เป็นยาแก้ความดันโลหิตสูงแล้ว

ระย่อม มีชื่อสามัญว่า Rauwolfia (รอโวลเฟีย) Serpent wood, Indian Snake Root มีชื่อวิทยาศาสตร์ Rauvolfia serpentina (L.) Benth. ex Kurz มีชื่ออื่นๆ เช่น ละย่อม (สุราษฎร์ธานี) ปลายข้าวสาร (กระบี่)เข็มแดง ย่อมตีนหมา (ภาคเหนือ) เข็มขาว เข็มแดง (ภาคอีสาน)กะย่อม ระย่อมน้อย (ภาคใต้)กอเหม่ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)คลาน ตูมคลาน มะโอ่งที สะมออู (กะเหรี่ยงกาญจนบุรี)เสอเกินมุ อิ้นตู้หลัวฟูมุ (จีนกลาง) เป็นต้น

ภูมิความรู้ดั้งเดิมและการใช้ประโยชน์ที่กล่าวถึงมากที่สุด คือ ใช้รากเป็นยา รากมีรสขมเป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อตับและหัวใจ มีสรรพคุณที่รวบรวมได้ เช่น เป็นยาขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้พิษกาฬ ถ้านำรากมาบดผงปั้นเม็ดหรือคั่วให้กรอบแล้วนำมาชงหรือต้มกิน เป็นยาช่วยย่อยอาหาร ช่วยบำรุงประสาทช่วยแก้โลหิตเป็นพิษ ช่วยฟอกเลือด ทำให้เลือดเย็น การใช้เป็นยาลดความดันโลหิตให้นำรากแห้งในขนาด 200 มิลลิกรัม มาบดผงคลุกกับน้ำผึ้งปั้นเป็นเม็ด กินติดต่อกัน 1-3 อาทิตย์ มีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยแก้ปวดอาการศีรษะเนื่องจากความดันโลหิตสูง มีการนำมาใช้ให้จิตใจสงบ แก้อาการนอนไม่หลับหรือช่วยให้นอนหลับ แก้อาการบ้าคลั่ง คลุ้มคลั่งเนื่องจากดีกำเริบและโลหิต และใช้แก้ไข้ป่าหรือไข้มาลาเรีย โดยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม รวมถึงแก้ไข้ชัก แก้โรคเด็กเป็นซางชัก แก้หืด แก้ลมอัมพฤกษ์ ช่วยแก้อาการจุกเสียดด้วย

ในตำรายาไทยกล่าวไว้คล้ายกันแต่ไม่ตรงกันทั้งหมด คือรากระย่อมใช้แก้ไข้ แก้ไข้หวัดตัวร้อนที่ทำให้มีอาการปวดหัว เป็นยาแก้บิด แก้ท้องเดิน ท้องเสีย ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ เป็นยาขับพยาธิในเด็ก พยาธิไส้เดือนกลมของเด็ก ยาต้มจากรากมีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ และเพิ่มการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ เป็นยาขับระดูของสตรี และช่วยบำรุงความกำหนัด ใช้เป็นยาทาภายนอกก็ได้ ใช้แก้พิษแมลงกัดต่อย แก้โรคผิวหนังผดผื่นคัน แก้หิด ให้ใช้รากสด 2-3 ราก นำมาตำให้ละเอียด แล้วเติมน้ำพืชให้พอแฉะ ใช้เป็นยาทาแก้หิด ให้ทำวันละ 2-3 ครั้งจนกว่าจะหาย และรากช่วยบำรุงน้ำนมของสตรี

สำหรับส่วนอื่นๆ ของระย่อมก็เป็นยา กระพี้ มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิต ทำให้โลหิตเป็นปกติ ทำให้โลหิตตั้งอยู่ ต้นเป็นยาแก้ไข้อันทำให้หนาว เปลือกมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้พิษ แก้ไข้สันนิบาต น้ำค้นจากใบ ใช้เป็นยารักษาโรคแก้วตามัว ดอกมีสรรพคุณเป็นยาแก้ตาแดง แก้โรคตา

ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านก็ใช้ระย่อม พ่ออาน อุทโท หมอยาพื้นบ้านอีสานอยู่ที่จังหวัดเลย ปัจจุบันมีอายุ 92 ปีแล้วยังใช้รากระย่อมเป็นยาบำรุงร่างกายสตรีมานานกว่า 30 ปี โดยไปเก็บระย่อมมาจากป่าใกล้บ้าน แต่เนื่องจากระย่อมมีสรรพคุณในการขับระดูด้วย สตรีมีครรภ์ห้ามใช้เพราะจะทำให้แท้งลูกได้ และสตรีที่กำลังให้นมบุตรก็ห้ามใช้ ระย่อมมีพิษเล็กน้อย อาจไปสู่ทารกได้

ที่ต้องระวัง คือ ระย่อมนี้มีพิษเล็กน้อย ไม่กินในปริมาณมากและไม่ควรใช้ต่อเนื่องนานๆ จะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ หากใครใช้แล้วมีผลข้างเคียง เช่น วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ใจสั่น หายใจไม่ออก หน้าแดง ปากแห้ง คอแห้ง ไม่สบายท้อง ไม่มีเรี่ยวแรง ซึมเศร้า ง่วงนอนบ่อย มีอาการถ่ายมากกว่าปกติ หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ต้องหยุดหรือเลิกใช้ทันที

แต่ในวงการที่พัฒนาเป็นยาสมุนไพร ระย่อมเป็นพืชที่น่าสนใจยกระดับงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรได้ ข้อมูลทางเภสัชวิทยาในระย่อมมีสารสำคัญ ได้แก่ สารในกลุ่ม indole alkaloids ชนิดที่สำคัญ คือ reserpine, ajmaline, ajmalinimine, raurolfia alkaloid G, rescinnamidine, sarpagine, serpentine, serpentinine, sitosterol, stigmasterol, vinorine, yohimbine ฯลฯ ซึ่งฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต สงบระงับประสาท กดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้นอนหลับ แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน กระตุ้นกล้ามเนื้อมดลูกและลำไส้เล็กบีบตัว ยับยั้งการบีบตัวของลำไส้ ต้านการเต้นไม่เป็นจังหวะของหัวใจ มีฤทธิ์ต่อหัวใจ ทำให้หลอดเลือดคลายตัว เพิ่มน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเพศหญิง ฯลฯ โดยเฉพาะ สาร reserpine ซึ่งมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตและกล่อมประสาท และในรากระย่อมมีสาร rauhinbine ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาบำรุงความกำหนัดอีกด้วย

ระย่อมเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพน่าศึกษาทดลอง ในตางประเทศเช่นประเทศอินเดียมีการศึกษาวิจัยมาตั้งแต่ 50 ปีก่อนแล้วว่า สารสกัดจากรากระย่อมทดลองใช้ในคนธรรมดาและคนไข้เบาหวาน ผลการทดลองพบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของคนได้ หากมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบน่าจะเป็นสมุนไพรที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ดี และรณรงค์ส่งเสริมให้ใช้อย่างถูกวิธีเพื่อลดความเป็นพิษของระย่อมด้วย

ยอดอ่อน ดอกอ่อน และผลอ่อนของระย่อม นำมาปรุงเป็นอาหารได้ เช่น ทำแกงเลียง แกงส้ม ระย่อมเป็นไม้พุ่ม ดอกสวยงาม ปลูกไว้ชมเล่นก็ได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

หมากแตก ใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน

admin 3 มกราคม 2019

ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและส่งเสริมการจัดการแหล่งทรัพยากรนั […]