รำไทยบำบัด “พาร์กินสัน”

สัปดาห์นี้พาไปชมนาฏบำบัดโรคพาร์กินสัน นาฏศิลป์ล้ำๆ เพื่อการออกกำลังในผู้ป่วย กับ ดร.สุรสา โค้งประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักกายภาพบำบัดผู้หยิบเอาท่ารำไทยที่เราเห็นกันจนชินตา มาเป็นท่ากายภาพบำบัดคนแรกของไทย
“มีอยู่ครั้งหนึ่งได้ไปดูรำค่ะ ดูไปก็เออ…สวยเนอะ สง่าแต่อ่อนช้อย หลังต้องตรง แขนต้องเหยียด แต่ถ้ามองในมุมนักกายภาพบำบัด แต่ละท่ามันคือ การยืดหยุ่น การทรงตัว การยืดกล้ามเนื้อ ซึ่งล้วนแต่เป็นแบบการออกกำลังที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีปัญหากับการเคลื่อนไหวตัว พอมาเรียนปริญญาเอกจึงใช้การบำบัดผู้ป่วยพาร์กินสันด้วยรำไทยมาเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์” ดร.สุรสา กล่าวถึงความเป็นมา

ดร.สุรสา อธิบายว่า ผู้ป่วยพาร์กินสันจะมีอาการมือสั่น แขนสั่น ขาสั่น ตัวค่อม หลังงอ กล้ามเนื้อหดเกร็ง ท่ารำที่เธอเลือกใช้จึงต้องเป็นท่าที่ง่าย แต่ได้ประโยชน์ ให้ผู้ป่วยที่มาร่วมรำได้ยืดหยุ่นกล้ามเนื้อและฟื้นฟูทักษะอื่นๆ ไปพร้อมกัน ซึ่งขั้นตอนในการเลือกท่ารำนี้เธอต้องศึกษาค้นคว้าจากหนังสือและวิดิโอนาฏศิลป์นานถึง 1 ปี กว่าจะได้ท่ามาใช้กับเพลงไทยในความยาวประมาณ 15 นาที จากท่าแม่บทกว่า 100 ท่า
นักวิจัย เผยว่า เพลงไทยก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น เพราะเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างการรำที่มีเพลงและไม่มีเพลง การรำแบบมีเพลงจะทำให้ผู้ป่วยมีสมาธิและเคลื่อนไหวได้ดีกว่า โดยจังหวะที่นำมาใช้จะไม่เร็วหรือช้าเกินไป เน้นความสบายเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

ในส่วนของการวิจัยเธอได้รับความร่วมมือจากศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางพาร์กินสัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่คณะแพทย์จะร่วมเป็นที่ปรึกษาและส่งตัวผู้ป่วยพาร์กินสันจำนวน 28 คนมาเป็นกลุ่มทดลองการทำกายภาพแบบใหม่ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องมาทำกายภาพบำบัดสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมงติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน ณ คลินิกพิเศษ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาฯ ซึ่งจะมีนิสิตปริญญาโทและ ดร.สุรสา เป็นผู้ฝึกสอนให้ด้วยตัวเอง

ผู้ป่วยที่ได้รับการส่งตัวมาเข้าโปรแกรม จะได้รับการประเมินอาการก่อนกายภาพบำบัดในหลายๆ ด้านทั้งการวัดความเร็วการเคลื่อนไหว, การทรงตัวจากการทดสอบเส้นทางการเดิน, การประเมินทางพาร์กินสัน, การทำแบบสอบถาม และการวัดความสมดุลของร่างกายโดยจะวัดผลเป็นค่าคะแนนเพื่อเปรียบเทียบสถิติการเปลี่ยนแปลงของคนไข้ที่เกิดขึ้นก่อนและหลัง ซึ่งจากการวัดผลพบว่า ผู้ป่วยทั้ง 28 คนมีอาการดีขึ้นเมื่อได้ออกกายภาพบำบัดด้วยท่ารำไทยอยู่เป็นประจำ ทำให้มีการบรรจุโปรแกรมกายภาพบำบัดนี้ไว้ในวิธีการรักษาโรคพาร์กินสันด้วย

นางอัญชลี เลิศอนันตวงศ์ วัย 59 ปี ผู้ป่วยพาร์กินสันที่มาเข้าร่วมโปรแกรมกายภาพบำบัดเผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เธอเป็นโรคพาร์กินสันมานานนับ 32 ปี ทำให้ที่ผ่านมาเธอเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านไม่กล้าออกไปไหนนอกจากวันที่มีนัดพบแพทย์ เธอมีอาการสั่นค่อนข้างมาก เมื่อมีโปรแกรมรำไทยของ ดร.สุรสา เข้ามา แพทย์เจ้าของไข้จึงส่งตัวเธอมาเข้าโปรแกรม ซึ่งตอนนี้นับเป็นครั้งที่ 22 แม้จะยังไม่ครบโปรแกรม 30 ครั้งเธอก็สังเกตได้ว่าอาการดีขึ้นมาก สั่นน้อยลง มีสั่นมากบางครั้งเมื่อต้องยกมือสูง

“พอมารำไทยอาการก็ดีขึ้นมาก เมื่อก่อนพูดไม่ได้เท่าไหร่ มันจะสั่น มือจะสั่นไปหมดแต่ตอนนี้เริ่มขี่จักรยานได้แล้ว ตอนแรกไม่เชื่อว่าจะดี อายด้วยต้องมาทำท่าอะไร แก่แล้ว แต่พอทำแล้วดีขึ้นก็ยิ่งอยากทำ มีกำลังใจ ถึงบ้านจะอยู่พระราม 2 แต่ต้องไปกายภาพที่จุฬาวันเว้นวันก็จะไป เพราะท่ารำนี่ช่วยได้จริงๆ ไม่ยากด้วย ยังมีหวังว่าซักวันจะหาย” ผู้ป่วยพาร์กินสันที่เข้าร่วมโครงการ กล่าว

ท้ายสุดนี้ น.ส. กนกวรรณ วังยพงศ์สถาพร นิสิตระดับปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยผู้ช่วยในโปรแกรมนี้ยังได้ร่วมโชว์ลีลาแสดงท่ากายภาพบำบัดให้ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ชมทีละท่า ซึ่งเธอยังบอกด้วยว่าไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นผู้ป่วยพาร์กินสันที่ออกกำลังในท่านี้ได้เท่านั้น คนทั่วไปก็สามารถทำได้เพราะเป็นท่าที่ให้ความยืดหยุ่นได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศ ที่ต้องนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์หรือนั่งท่าเดิมเป็นเวลานานๆ

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์

บทความที่เกี่ยวข้อง

หมอจับเส้นแห่งมหาสารคาม

admin 14 มกราคม 2019

หมอไล พันธุ์โยศรี เป็นชาวมหาสารคาม ปัจจุบันอายุ 76 ปี อ […]