ลดอาหารเหลือทิ้งช่วยชาติหิวโหย

“ซิตี้ฮาร์เวสท์” นำผลผลิตของเขาแจกจ่ายให้คนอดอยากในนครนิวยอร์ค ซึ่งเป็นส่วนที่เหลือจากการขายให้ซูเปอร์มาร์เก็ต

เมื่อไปจับจ่ายซื้อของที่ตลาด หลายคนมักเลือกผักผลไม้ ที่มีความสดใหม่ ขนาดใหญ่พอดี และสีสันน่ารับประทาน สิ่งนี้อาจทำให้ใครหลายคนฉุกคิดว่า วัตถุดิบ ที่ไม่ถูกหยิบออกไป หายไปไหน

ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ ศาสตราจารย์ เพอร์ พินสทรับ-แอนเดอร์สัน ให้ข้อมูลว่า คนในประเทศพัฒนาแล้ว มักไม่เห็นคุณค่าของอาหาร เพราะเมื่อเทียบกับรายได้แล้ว เพียงสหรัฐประเทศเดียว ก็ทิ้งอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงเป็นอาหารพร้อมรับประทานมากถึง 40% ส่วนชาวยุโรปทิ้ง 100 ล้านตันในแต่ละปี

สวนทางกับประเทศที่กำลังพัฒนา ที่ความยากจนเป็นปัญหาใหญ่ เกษตรกรในอินเดีย สูญเสียรายได้จากพืชผลที่เสียหาย เพราะขาดแคลนเทคนิคด้านการเกษตร การขนส่ง และการเก็บรักษา ประกอบกับอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้เน่าเสียง่าย ชาวบ้านจึงต้องซื้อวัตถุดิบเหล่านี้ในราคาที่แพงขึ้น

รายงานของศาสตราจารย์ พินสทรับ-แอนเดอร์สัน สรุปว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวต้องเริ่มจากท้องถิ่นเทค คริส พาเวลสกี เกษตรกรรุ่นใหม่ในสหรัฐ ร่วมมือกับองค์กรการกุศล “ซิตี้ฮาร์เวสท์” นำผลผลิตของเขาแจกจ่ายให้คนอดอยากในนครนิวยอร์ค ซึ่งเป็นส่วนที่เหลือจากการขายให้ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เลือกเอาแต่หัวหอมที่ดูดีและขนาดใหญ่ โดยอ้างว่า ลูกค้าไม่ชอบของมีตำหนิ แม้เขาจะแย้งว่า หัวหอมทุกหัวรับประทานได้ก็ตาม
ซิตี้ฮาร์เวสท์ ระบุว่าในปี 2557 องค์กรได้ลดการทิ้งขว้างอาหารลงแล้วกว่า 46 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 21 ล้านกิโลกรัม โดยรับวัตถุดิบที่ไม่ผ่านการปรุงอาหารมาจากเกษตรกร ร้านอาหาร ร้านขายของชำ และผู้ผลิตท้องถิ่น

แม้แต่เชนซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ของอังกฤษ อย่าง เวทโรส ก็ต่อสู้กับปัญหานี้ด้วย โดยตั้งเป้าไม่ให้มีของเหลือสู่ที่ทิ้งขยะ หรือ “ซีโร่แลนด์ฟิล” จึงออกโปรโมชั่น ลดราคาของใกล้หมดอายุ บริจาคส่วนที่เหลือให้องค์กรการกุศลท้องถิ่น และส่งไปยังโรงงานไฟฟ้าชีวมวล

โรงงานบัดน้ำเสีย และผลิตไฟฟ้านิวตันครีค ย่านบรูคลิน ในนิวยอร์ค เป็นอีกโครงการหนึ่ง ที่ช่วยลดผลเสียต่อสิ่งแลดล้อม โดยเปลี่ยนเศษอาหารจากโรงเรียน และร้านอาหารในท้องถิ่น ให้เป็นพลังงาน ด้านมหานครนิวยอร์ค ยังขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการร้านอาหารในเมืองให้ลดขยะประเภทนี้ลงให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2558

อย่างไรก็ตาม ความพยายามแก้ปัญหาดังกล่าว อาจแก้ปัญหาได้ไม่มากนัก แม้รายงานของเอฟเอโอ จะระบุว่า อาหารบนโลกนี้ มีเพียงพอสำหรับทุกคน แต่นิสัยการกินทิ้งขว้าง ทำให้ประชากรโลกกว่า 1,000 ล้านคน ประสบปัญหาอดอยาก

เกษตรกรทั่วโลก ผลิตอาหารได้ปริมาณ 4,700 แคลอรี่ต่อคนต่อวัน ทว่ามนุษย์ต้องการเพียง 2,000 แคลอรี่ ซึ่งหมายความว่า อาหารกว่าครึ่งหนึ่งสูญหายไปขณะเดินทางจากฟาร์มมาสู่โต๊ะอาหารของเรา

นอกจากนี้ การกินทิ้งขว้าง ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกมากมาย เพราะต้องใช้น้ำเพื่อกำจัดของเสียปริมาณเท่ากับ 9 ล้านคนใช้ในแต่ละวัน และในแต่ละปี ต้องใช้พื้นที่ทิ้งขยะใหญ่เท่ากับประเทศเม็กซิโก ทั้งยังสร้างก๊าซเรือนกระจกเป็นสัดส่วน 10% ของประเทศที่พัฒนาแล้ว

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 7 ก.ค.2557

บทความที่เกี่ยวข้อง

เผ็ดสารพัด “พริก” เป็นได้ทั้งอาหารและยา

admin 6 เมษายน 2019

กินพริกกันมาก็มาก แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า นักวิจัยไทยยัง […]

ผลสำรวจพบคนไทยที่กินอาหารสุกๆดิบๆลดลง

admin 6 เมษายน 2019

ที่กรมควบคุมโรค นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เ […]

เพิ่มสมุนไพรในอาหารช่วยลดกินเค็มได้

admin 5 เมษายน 2019

นายอารยะ โรจนวณิชชากร หัวหน้าโครงการรณรงค์ลดการบริโภคโซ […]