ลำไย ผลไม้และยาพื้นบ้านนานาชาติ (1)

หน้านี้หน้าลำไยไปตลาดมักเห็นวางขายกันทั่ว ลำไยเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่ครั้งหนึ่งวัยรุ่นนำเอาคำเรียก“ลำไย” เป็นศัพท์สแลงเพื่อเรียกเพื่อนฝูงที่ทำตัวเชื่องช้าและน่ารำคาญว่าเป็นพวก “ลำไย” โดยไม่รู้ที่มาว่าทำไม ลำไยอันแสนอร่อยและมีคุณค่านี้ถูกใช้เรียกเป็นคำตำหนิไปได้

ลำไย เป็นพืชที่เกิดเองตามป่าหรือตามธรรมชาติ และต่อมาก็นำมาปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Euphoria longana, Lamk. หรือ Dimocarpus longan Lour. หรือ Nephelium longana Camb. อยู่ในตระกูล SAPINDACEAE เป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลาง สูงได้ถึง 10 เมตร ดอกเล็กออกเป็นช่อ ผลกลมโตเปลือกลูกสีน้ำตาล มีรสหวานหอมน่ากิน พบเห็นปลูกทั่วไปในจีน เวียดนาม กัมพูชา ลาว และไทย ลำไยจะออกดอกตามธรรมชาติช่วงเมษายนถึงพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือน กรกฎาคมถึงสิงหาคม

ลำไยสด 100 กรัม ในด้านโภชนาการมีความน่าสนใจ ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 12.38-22.55 % แคโรทีนอยด์ 20 ไมโครกรัม วิตามินเค 196.5 มิลลิกรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.01 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.14 มิลลิกรัม เรตินอล 3 ไมโครกรัมโปรตีน 1.2 กรัม ไขมัน 0.1%  วิตามินซี 43.12-163.7 มิลลิกรัม กรดนิโคตินิก 1.3 มิลลิกรัม กรดอะมิโน ซึ่งพบเป็น แกรมม่าอะมิโนบิวทีริก แอซิด ในปริมาณ 51-180 มิลลิกรัม เส้นใยอาหาร 0.4 % ความชื้น 81.4 %  เถ้า 0.7  น้ำตาลรีดิ้ว 3.85-10.16 % น้ำตาลที่พบมักเป็น กลูโคส ฟรุคโตส แซคคาโรส และซูโครส กรดอินทรีย์ มาลิค  อ๊อกซาลิค  ซิตริก  ซัคซินิคและทาร์ทาริค

นอกจากนี้ยังพบสารประกอบที่ระเหยได้ 28 ชนิด โดยสารประกอบหลักที่ให้กลิ่นหลักมักเป็น b-ocimene, 3,4-dimethyl-2,4,6-octatriene, ethyl acetate, allo-ocimene, 1-ethyl-6-ethylidene-cyclohexene และนักวิทยาศาสตร์พบว่า วิธีการสกัด สายพันธุ์และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันจะพบสารประกอบของกลิ่นต่างกันไป เมื่อวิเคราะห์ใบ พบสารประกอบ เคอร์เซติน 16-hentriacontanol, epifriendelinol, stigmasterol glucoside, stigmasterol, ß-sitosterol ในส่วนของดอก มีสารประกอบ fucosterol, stigmasterol อยู่ในอัตรส่วน 40:60 และยังมี sterol อื่นๆอีกด้วย

สารประกอบทางเคมีจากเปลือก พบสารพวก ฟีนอลิค ได้แก่ กรดแกลลิค  คอริลาจิน อีลาจิค และสารควบคู่ของมัน, สาร (-)-epicatechin, 4-0-methylgallic acid flavones glycosides, glycosides of quercetin and kaemferol กลุ่มพอลิแซคคาไรด์ ได้แก่ L-arabinofurannose 32.8%, D-glucopyanose 17.6%, D-galactopyranose 33.7% and D-galacturonic acid 15.9%

สารประกอบทางเคมีพบในเมล็ด พบมากเป็นสารประกอบ ซาโปนิน  นอกนั้นเป็นแทนนิน ไขมันและแป้ง การวิจัยระยะต่อมาพบสาร ethyl gallate 1-b-o-galloyl-D-glucopyranose, methyl brevifolin carboxylate, grevifolinand 4-o-α-L-rhamnopyranose-ellagic acid, gallic acid, corilagin and ellagic acid

สารประกอบทางเคมีพบในเนื้อลำไย ได้แก่กลุ่มฟอสโฟไลปิด คือ ไลโสฟอสฟาติดีล คอลีน ฟอสฟาติดิล คอลีน ฟอสฟาติดิล  อินโนซิทอล  ฟอสฟาติดิล เซอรีน ฟอสฟาติดิล เอทาโนลามีน ฟอสฟาติดิล และฟอสฟาติดิคแอสิด  กลีเซอรอล  ฟอสฟอลิปิด และอาจจะมีผลดีในการเพิ่มภูมิต้านทานในมนุษย์

ปัจจุบันเทคโนโลยีการปลูกและการเก็บเกี่ยวลำไยดีขึ้นได้ผลผลิตมากขึ้น จึงนำไปสู่การพัฒนาการใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ของลำไย มีงานวิจัยในส่วนเปลือกของผล พบว่ามีสาร โพลีฟีนอล ฟวาโวนอยด์ แทนนิน โพลีแซคคาไรด์  สารสกัดจะแสดงฤทธิ์ ต้านแบคทีเรีย ต้านไวรัส และต้านการอักเสบ  ต้านเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง นอกจากนี้จากเอกสารวิจัยแสดงผลการสกัดเปลือกผล ด้วยการใช้แรงดันไฮโดรสเตติกที่สูง สารสกัดที่ได้มีปริมาณสารสำคัญมากกว่าวิธีอื่น พบว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง มีฤทธิ์ต้านเอ็นไซม์ไทโรสิเนส  และยังมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งได้ผลดีในหลอดทดลอง

ในการศึกษาการสกัดดอกลำไยพบว่ามีโพลิฟีนอลสูง โดยนำสารสกัดด้วยน้ำนี้ทดลองกับหนูที่เหนี่ยวนำให้ได้รับอาหารที่มีแคลอรีสูง มีไขมันสูง พบว่าสารสกัดน้ำดอกลำไยมีแนวโน้มในการลดไขมันได้ การสกัดดอกลำไยยังมีการใช้สารละลายอินทรีย์ชนิดอื่นอีกหลายชนิด ให้ผลดีในการต้านอนุมูลอิสระ เปลือกต้นลำไยและใบลำไย พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและมีสารอีลาจิคสูง ซึ่งสารดังกล่าวมีแนวโน้มนำมาใช้ประโยชน์ทางเครื่องสำอางได้ สารสกัดเมล็ดลำไยด้วยแอลกอฮอล์เมื่อนำมาป้อนให้หนูไมซ์ ที่เหนี่ยวนำด้วย สารสโคโปลามีนขนาด 300 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เมล็ดลำไยพันธุ์อีดอสกัดที่ทำการวิจัยในไทย พบว่ามีฤทธิ์ต้านเอ็นไซม์ไทโรสิเนสสูง   พบว่ามีส่วนช่วยเรื่องการจดจำและการเรียนรู้  เนื้อลำไยแห้งที่สกัดด้วยวิธีอุลตร้าโซนิคเซลดิสอินตีเกรเตอร์ พบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงและต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง

นอกจากนี้มีรายงานวิจัยที่กล่าวถึงสารสกัดทุกส่วนของผล มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และสามารถพัฒนาเป็นสารเสริมเพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกายร่วมกันกับยาอื่นได้ดี แต่ยังไม่มีการศึกษาทางคลินิก และศึกษาผลต่อฤทธิ์หรือสรรพคุณอื่นมากนัก เช่น ฤทธิ์ต้านเบาหวาน ลดความอ้วน ขณะเดียวกันพบว่ามีการจดสิทธิบัตรงานวิจัยไทย ได้แก่ กรรมวิธีการสกัดเป็นสารสกัดที่รู้ปริมาณสารองค์ประกอบ และสิทธิบัตรการผลิตลำไยผงกันแล้ว

และเนื่องจากลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจมูลค่านับพันล้านบาท จึงมีงานวิจัยกรรมวิธีการเก็บเกี่ยวผลลำไย ว่าทำอย่างไรไม่ให้เสียหายและเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ลำไยมีอายุหลังการเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 3-4 วันเปลือกผลจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ ถ้าเก็บไว้ที่ 5 องศาเซลเซียสจะเก็บได้นาน 2 สัปดาห์ หากอุณหภูมิต่ำกว่านั้นจะทำให้เปลือกเสียหายได้ ในวิถีชาวบ้านยังใช้เนื้อไม้ลำไยมาทำครก สาก กระเดื่อง และนำกิ่งไม้ลำไยทำเชื้อเพลิงเช่นทำฟืนและถ่านได้ด้วย

          ลำไยยังไม่จบอย่าเพิ่ง “ลำไย”(รำคาญ) ฉบับหน้าลำไยกับตำรับยาพื้นบ้านนานาชาติ.