ลุยตรวจผักผลไม้ในห้าง หาต้นตอปนเปื้อนสาร

กรณีเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) สุ่มตรวจผักและผลไม้มากกว่า 50% ที่ขายในห้างค้าปลีก-ตลาดทั่วไป ทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น ยโสธร และสงขลา โดยผักและผลไม้ที่สุ่มตรวจ ได้แก่ คะน้า ถั่วฝักยาว พริก ผักชี กะเพรา ส้ม สตรอเบอรี่ แอปเปิล ฝรั่ง และแตงโม โดยนำตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ที่มีมาตรฐานตัวคิว “Q” นั้น
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สั่งการให้นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ประสานกับกรมวิชาการเกษตร และองค์การอาหารและยา (อย.) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า สารปนเปื้อนที่มีการตรวจพบนั้น พบในขั้นตอนใด และฟาร์มไหน หากพบผิดปกติ กระทรวงเกษตรฯ และ อย.สามารถเพิกถอนใบอนุญาตมาตรฐานสินค้าเกษตรได้ทันที

ด้านนายศักดิ์ชัยกล่าวว่า ในวันที่ 20 สิงหาคม มกอช.จะเรียกสมาชิกสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเข้าหารือและทำความเข้าใจถึงขั้นตอนการขนส่ง การรับสินค้าเข้าวางขาย และการให้มาตรฐานตัวคิวกับสินค้าเกษตร เพื่อไม่ให้มีการปนเปื้อน จนกระทบต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคผักผลไม้ ที่ผ่านมา มกอช.เป็นหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานสินค้า แต่หน่วยงานที่เป็นเจ้าของสัญลักษณ์ตัวคิว มีหลายหน่วยงาน ทั้งกรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ และอื่นๆ ดังนั้น หากตรวจสอบพบว่ามีความผิด หน่วยงานเจ้าของมาตรฐานตัวคิว สามารถแจ้งความเอาผิดกับผู้กระทำผิดได้ทันที

นายศักดิ์ชัยกล่าวว่า ขั้นตอนต่างๆ ยอมรับว่า มีช่องว่างที่สามารถทำให้ผักและผลไม้เกิดสารปนเปื้อนได้ เช่น ขั้นตอนการปลูกผักและผลไม้เพื่อให้ฟาร์มได้มาตรฐาน ตามระบบนั้นจะต้องมีการจัดการคุณภาพ มาตรฐาน มีสารพิษตกค้างน้อยที่สุดให้ได้มาตรฐานสากล ฟาร์มนั้นก็จะได้มาตรฐานจีเอพี (GAP) แต่พอขั้นตอนการรวบรวมสินค้า ในขั้นตอนนี้หากสินค้าของเกษตรกรไม่เพียงพอสำหรับนำส่ง อาจแอบนำสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานจีเอพีมาปะปนด้วย เพื่อให้เพียงพอกับคำสั่งซื้อ จึงอาจมีการตรวจเจอสินค้าที่มีการปนเปื้อนสารเคมีได้ ส่งผลให้มาตรฐานฟาร์มนั้นหายไป และสุดท้ายการบรรจุหีบห่อเพื่อส่งเข้าโมเดิร์นเทรด หากไม่ได้มาตรฐาน อาจพบสารปนเปื้อนได้เช่นกัน

“การปนเปื้อนไม่รู้ว่าเกิดขึ้นในกระบวนการไหน เพราะกว่าจะส่งจากฟาร์มถึงโมเดิร์นเทรดมีหลายขั้นตอน แต่การมีมาตรฐานตัวคิว ก็มีความสำคัญ เพราะสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า ผักผลไม้ที่วางขายมาจากสวนใด และหากพบผิด ทางการสามารถดำเนินการแจ้งความเอาผิดได้ ตั้งแต่การเพิกถอนใบอนุญาต ไปถึงการจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายศักดิ์ชัยกล่าว

ที่มา : มติชน 20 ส.ค.2557

บทความที่เกี่ยวข้อง