ลูกประคบหน้างาดำ

ใบหน้าเป็นส่วนแรกของร่างกายที่ได้พบ จดจำ ชื่นชม และประทับใจ ในความงามของผิวพรรณบนใบหน้า สุขภาพผิวหน้าที่ทุกคนปรารถนา คือ มีผิวพรรณที่อ่อนเยาว์ ไร้ริ้วรอย ดูเป็นธรรมชาติ แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น ความเครียด นอนดึก รวมถึงการแสดงสีหน้าส่งผลให้เกิดริ้วรอย ตีนกา ใบหน้าดูแก่ก่อนวัยอันควร ดังนั้นการประคบจึงเป็นอีกทางเลือกในการดูแลผิวหน้าให้ดูสดใส เนื่องจากการประคบด้วยความร้อนช่วยคลายกล้ามเนื้อ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด นอกจากนี้สมุนไพรที่นำมาเป็นส่วนผสมสมุนไพรในลูกประคบ เช่น งาดำ อุดมไปด้วยวิตามินอี วิตามินอีในงาดำจะมีคุณสมบัติช่วยซ่อมแซมผิวและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผิวพรรณ

สรรพคุณทางยาไทยของงาดำ
บำรุงไขข้อ สมานแผล ตำราอายุรเวทระบุว่า งาดำดีกว่างาขาว งาช่วยบำรุงร่างกาย เพิ่มเลือด กระตุ้นกำหนัด ขับน้ำนม ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว รักษาโรคปวดข้อ โรคตา สมานแผลในกระเพาะลำไส้ แก้ท้องผูก และท้องเสีย และใช้ภายนอกรักษาแผลริดสีดวงทวาร คนอินเดียตอนใต้นิยมใช้น้ำมันงาชโลมร่างกาย แล้วเขาอบในกระโจมให้เกิดความร้อนเพื่อให้น้ำมันซึมสู่ผิวหนังได้ดีขึ้น เชื่อว่าขจัดความปวดเมื่อย ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า แข็งแรง และอายุยืน งาดำอุดมไปด้วยวิตามินเอ ช่วยในการซ่อมแซมเซลล์ผิว เพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ผิวหนัง ชะลอความแก่ และต้านอนุมูลอิสระ

ส่วนประกอบลูกประคบสมุนไพร
1.งาดำคั่ว 1 ช้อนชา
2.ใบบัวบกแห้ง 1/2 ช้อนชา
3.ตะไคร้แห้ง 1/2 ช้อนชา
4.ขิงแห้ง 1/2 ช้อนชา
5.เปราะหอมแห้ง 1/2 ช้อนชา
6.ข้าวกล้อง 1 ช้อนชา
7.เกลือเล็กน้อย

สรรพคุณสมุนไพร
งาดำ เพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิว
ใบบัวบก แก้ฟกช้ำ ลดการอักเสบ
ตะไคร้ ลดการอักเสบ คลายกล้ามเนื้อ
ขิง แก้ฟกช้ำ กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
เปราะหอม คลายกล้ามเนื้อ ป้องกันแสงแดด
ข้าวกล้อง อุดมด้วยวิตามินเอ บำรุงผิว
เกลือ เพิ่มการดูดซึมยาเข้าสู่ผิวได้เร็วขึ้น สมานแผล

อุปกรณ์
1. ผ้าสำหรับห่อลูกประคบ ขนาดกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร
2. เชือกสำหรับมัดผ้าห่อลูกประคบ ยาว 60 เซนติเมตร
3. จานกระดาษรองลูกประคบ

วิธีทำ
1. นำขิง และตะไคร้มาล้างทำความสะอาด นำมาหั่นหรือสับให้เป็นชิ้นตามขนาดที่ต้องการตำพอหยาบๆ
2. นำงาดำมาผสมกับสมุนไพรในข้อ 1 เสร็จแล้วใส่เกลือ คลุกเคล้าให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แต่อย่าให้สมุนไพรเละและแฉะเป็นน้ำออกมา
3. แบ่งสมุนไพรที่คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วเป็นส่วนเท่าๆกัน และตักแบ่งประมาณ 1-2 ช้อนโดยประมาณโดยตักใส่ลงในผ้าฝ้ายหรือผ้าดิบสำหรับห่อเป็นลูกประคบและมัดด้วยเชือกให้แน่นตามเทคนิคการห่อลูกประคบข้างต้นที่กล่าวไว้

วิธีประคบ
1. นำลูกประคบที่ได้ไปนึ่งประมาณ 15-20 นาที
2. ใช้ผ้าจับลูกประคบขณะร้อน ยกขึ้นจากปากหม้อ
3. ใช้ลูกประคบแตะที่ท้องแขนตนเองทดสอบความร้อน
4. ช่วงแรก แตะลูกประคบ และยกขึ้นโดยเร็ว จนกว่าลูกประคบจะคลายความร้อนลง
5. จากนั้น จึงวางลูกประคบให้นานพอประมาณ แลวกดเน้นบรเวณที่ต้องการ
6. เปลี่ยนลูกประคบเมื่อเย็นลง

ข้อห้าม หรือ ข้อจำกัดในการใช้ลูกประคบ
1. ห้ามใช้ลูกประคบที่ร้อนเกินไป
2. ควรใช้ผ้าขนหนูรองบริเวณผิวหนังอ่อนๆ หรือบาดเจ็บ
3. ควรระวังผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน อัมพาต เด็ก ผู้สูงอายุ เพราะการตอบสนองต่อความร้อนช้า
4. ไม่ประคบเมื่อมีอาการอักเสบ หรือ บวม ใน 24 ชั่วโมงแรก เพราะอาจบวมมากขึ้น

การเก็บรักษาลูกประคบ
1. ลูกประคบที่ทำครั้งหนึ่ง สามารถเก็บไว้ได้นาน 3-5 วัน ถ้าใส่ตู้เย็นสามารถเก็บได้ 7 วัน
2. ควรผึ่งให้แห้งก่อนเก็บ ไม่ให้อับชื้น ถ้าเก็บในตู้เย็นจะเก็บได้นานมากขึ้น
3. ลูกประคบที่แห้ง ก่อนใช้ควรพรมด้วยน้ำ หรือเหล้าขาว

ที่มา : คู่มือพึ่งตนเอง 37 หลักสูตรเพื่อสุขภาพและความงาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไทยยังอุดมสมบูรณ์ ‘ขิง-ข่า’มีมากถึง 1 ใน 4 ของโลก

admin 2 เมษายน 2019

ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายปิยเก […]

สมุนไพร 3 ชนิด เก็บไว้ใช้ในช่วงลมเปลี่ยนฤดู

admin 14 มกราคม 2019

อากาศช่วงนี้เป็นที่ชอบอกชอบใจของนักท่องเที่ยวด้วยบรรยาก […]

น้ำมะตูม-ขิง

admin 6 มกราคม 2019

ปกติเราจะคุ้นกับน้ำมะตูมกันดีอยู่แล้ว แต่น้ำมะตูมขิงนั้ […]