วิจัยผักพื้นบ้าน 9 ชนิดสารอาหารสูงเร่งอนุรักษ์ตำรับ-ห่วงสูญหาย

ผศ.ดร.สมศรี เจริญเกียรติกุล สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการทำวิจัยเรื่อง “ภูมิปัญญาอาหารพื้นบ้านจากพืชท้องถิ่นต่อสุขภาพ” ภายใต้แผนงานวิจัย “การถ่ายทอดความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์พืชท้องถิ่น จ.กาญจนบุรี” ได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ปี 2553 โดยได้สำรวจพันธุ์พืชท้องถิ่นบริเวณการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ได้สำรวจและวิเคราะห์สารอาหารในพันธุ์พืชเหล่านั้น เพื่ออนุรักษ์พันธุ์พืช ภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งปัจจุบันมีพันธุ์พืชและผักที่มีประโยชน์ จำนวนมากที่ประชาชนไม่รู้จัก

ผศ.ดร.สมศรีกล่าวว่า จากฐานการสำรวจพืชประมาณ 30 ชนิด คัดเลือกพันธุ์พืชที่มีประโยชน์สูงและมีรสชาติดีได้ 9 ชนิด คือ ผักหวานป่า ผักกูด ตะคึก กระพี้จั่น เพกา เร่วป่า กระชายพราน บุก และว่านเปราะ โดยพบว่าพืชกลุ่มนี้มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก เมื่อเทียบกับพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูงและประชาชนทั่วไปรับประทานเป็นปกติอย่างตำลึง ก็พบว่า ในจำนวน 9 ชนิดนี้ ผักหลายชนิดมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าด้วย ซึ่งได้มีการสนับสนุนให้ประชาชนในท้องถิ่นใช้ผักเหล่านี้มาทำเป็นอาหาร ตามตำรับพื้นบ้านอีกทาง เพื่อรวบรวมเป็นเมนูอาหาร ไว้ไม่ให้หายสาบสูญไป เพื่อคงความหลากหลายทางอาหารไว้

ผศ.ดร.สมศรีกล่าวว่า ในกลุ่มผักพื้นบ้านเหล่านี้ พบว่าเป็นแหล่งที่ดีของใยอาหาร มีแร่ธาตุหลักหลายชนิด ซึ่งได้ให้ชาวบ้านร่วมประกวดอาหารและคัดเลือกมา 3 ตำรับ และนำไปศึกษาคุณค่าโภชนาการและสารออกฤทธิ์ต่อในห้องปฏิบัติการ

โดยเมื่อได้ผลการวิเคราะห์แล้ว ได้นำไปเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปรับทราบ รวมถึงชาวบ้านที่เป็นเจ้าของตำรับ เพื่อให้เกิดการร่วมกันอนุรักษ์พืชพันธุ์ผักตามธรรมชาติ ไม่ให้เกิดการสูญหายไป เพราะผักบางชนิด มีคุณค่าทางอาหารสูงมากจำเป็นต้องเพาะพันธุ์เพิ่ม และขยายการบริโภค ทำให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จักมากขึ้นด้วย

ที่มา : ข่าวสด 23 ม.ค.57

บทความที่เกี่ยวข้อง

ปลูกยา หน้าฝน

admin 3 มกราคม 2019

ปัจจุบันคนไทยหันมาใช้สมุนไพรที่เป็นยาสำเร็จรูปกันอย่างแ […]