ว่านหอมแดงแรงฤทธิ์ บรรเทาพิษโรคทางเดินหายใจ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อเอ่ยชื่อหอมแดงคนทั่วไปมักนึกถึงหอมแกงตามตลาดที่นิยมใช้ทำอาหารรสแซ่บจำพวกลาบ ต้มยำ เป็นต้น แต่สำหรับแพทย์แผนไทย ถ้าตำรับยาใดมีเครื่องยาชื่อหอมแดง นั่นหมายถึง “ว่านหอมแดง” ที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Eleutherine bulbosa (Mill.) Urb. ซึ่งเป็นคนละชนิด คนละวงศ์กับหอมแดงหรือหอมแกงที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Allium ascalonicum L.  ว่านหอมแดงเป็นพืชพันธุ์ต่างถิ่นจากอินเดียที่เข้ามาสู่พื้นบ้านไทยนานมากจนกลายเป็นพืชประจำถิ่นที่ขึ้นอยู่ในป่าดิบร้อนชื้นของไทยได้ ไม่เหมือนหอมแกงที่ต้องปลูกประคบประหงมในแปลงเกษตรเท่านั้น

ข้อพิสูจน์ว่าว่านหอมแดงเข้ามาอยู่ในไทยเก่าแก่กว่าหอมแกงก็คือ วัฒนธรรมความเชื่อคนไทยเชื่อว่า ว่านชนิดนี้เป็นของศักดิ์สิทธิ์ในทางคงกระพันชาตรี แก้คุณไสยได้ ในบางท้องถิ่นเช่นแถบจังหวัดเลย จะปลูกว่านหอมแดงไว้ตามคันนา ด้วยความเชื่อว่าว่านนี้ช่วยบันดาลให้ข้าวแตกกอแผ่รวงออกไปเต็มท้องนา จึงเรียกว่านหอมแดงในอีกชื่อหนึ่งว่า “ว่านข้าวแผ่” ส่วนคนที่อีโรติค คิดว่าว่านตัวนี้ช่วยทำให้ข้าวตั้งท้องดี จึงเรียกอีกชื่อว่า “ว่านชู้ข้าว” หรือ “ว่านชายชู้”

อย่างไรก็ตาม อัตลักษณ์ของหัวว่านตัวนี้ก็คือ สีแดง ที่เห็นได้ชัดๆ แค่ใช้มีดกรีดหัวก็จะมีน้ำสีแดงเข้มไหลออกมา สามารถใช้ย้อมสีอาหารได้ ชาวไทยภูเขาหลายชนเผ่ายังนิยมใช้แต่งสีแดงบนเปลือกไข่ในพิธีมงคลต่างๆ  ส่วนหัวหอมแกงแม้มีกาบสีแดงแต่ไม่มีสารที่แต่งสีแดงได้ อันที่จริงว่านหอมแดงกับหอมแกงมีสรรพคุณคล้ายๆ กันคือช่วยให้ระบบทางเดินหายใจแข็งแรง แต่ที่แนะนำให้ใช้ว่านหอมแดงก็เพราะเป็นสมุนไพรที่ปลอดสารและปลอดภัยมากกว่าหอมแกงที่ปลูกแบบเคมีเกษตร แม้ว่านหอมแดงจะหาซื้อตามตลาดไม่ได้เหมือนหอมแกง แต่ก็มิได้หายากอย่างที่คิดเพราะเป็นพืชมีเหง้าปลูกขยายพันธุ์ได้ง่าย

ว่านหอมแดงอาจจะไม่นิยมนำมาทำอาหาร แต่เป็นเครื่องยาสำคัญในยาแผนโบราณหลายตำรับ อย่างในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวงก็มีถึง 23 ตำรับ ส่วนใหญ่จะใช้เป็นยารักษากลุ่มโรคซางในเด็กเล็ก  โรคซางทำให้เด็กมีอาการไข้ ตัวร้อนจัด เชื่อมซึม ปากคอแห้งปาก อาเจียน ดูดนม กินอาหารไม่ได้เพราะมีเม็ดซางผุดขึ้นในช่องปาก ลิ้น ลำคอ และมักจะมีอาการท้องเดินท้องเสียร่วมด้วย 

ในคัมภีร์สรรพคุณแลมหาพิกัด กล่าวว่าหัวว่านหอมแดงใช้แก้ลมอากาศธาตุ นำมาบดผงละลายน้ำร้อน แก้ลมวิงเวียน ตาพร่าและแก้ท้องขึ้น ในคัมภีร์โรคนิทานใช้หัวว่านหอมแดงสด ร่วมกับเม็ดผักชี กระเทียม ขมิ้นอ้อย ไพล เม็ดพรรณผักกาด กับยอดกุ่มบก กุ่มน้ำ อย่างละเท่าๆ กัน ตำพอกกระหม่อมทั้งเด็กหรือผู้ใหญ่ แก้สมองพิการ บรรเทาอาการปวดศีรษะรุนแรงชนิดที่ตามืดหูอื้อ ในตำรายาศิลาจารึกวัดโพธิ์สมัยรัชกาลที่ 3 มีตำรับยาหนึ่งชื่อ “สนั่นไตรภพ” ซึ่งมีกัญชาเป็นส่วนประกอบและเป็นหนึ่งใน 16 ตำรับสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง ในสูตรตำรับหลวงนี้มีน้ำคั้นว่านหอมแดง 1 ทะนาน ประกอบอยู่ด้วย ช่วยแก้กล่อนกษัยทั้งปวง คำว่า กษัย ในที่นี้หมายถึงกลุ่มโรคเรื้อรัง ที่พิษของโรคทำให้ร่างกายทั้งระบบเสื่อมโทรมลง ทำให้ร่างกายซูบซีด โลหิตจาง ปวดเมื่อยเรื้อรัง อ่อนแรง มือเท้าชา เป็นต้น

สำหรับหมอพื้นบ้าน ใช้หัวว่านหอมแดงสดจับหวัดในเด็กโดยนำมาตำผสมกับเปราะหอมสุ่มกระหม่อมเด็กแก้หวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม หายใจไม่ออก และยังใช้ทาท้องเด็ก แก้ท้องอืดได้ชะงัด สำหรับผู้ใหญ่อาจจะใช้วิธีบุบหัวว่าน 3-4 หัวต้มรมไอน้ำสูดหายใจให้จมูกโล่ง ชาวบ้านบางถิ่นนิยมต้มหัวว่านหอมแดงกินทั้งเนื้อทั้งน้ำเป็นประจำทุกวันช่วยบำรุงเลือดลม บำรุงกำลังวังชาไม่ให้แก่ก่อนวัย และยังช่วยชะลอไม่ให้แก่ตามวัยด้วย(ฮา) ที่สำคัญคือช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บในยามนี้ ซึ่งมีทั้งโรคที่มากับฝุ่นละอองขนาดต่างๆทั้งPM 10 และ PM 2.5 รวมทั้งไวรัสโคโรน่าพันธุ์ใหม่สายตรงจากอู่ฮั่น ซึ่งเหยื่อไวรัสที่เสียชีวิตส่วนใหญ่วัยเกิน 60เนื่องจากร่างกายเสื่อมถอย มีโรคแทรกซ้อนมากกว่าวัยอื่นนั่นเอง

ว่านหอมแดง เป็นพันธุ์ไม้เพาะปลูกง่ายไม่ต้องใช้เคมี ขนาดยามแล้งยังแตกใบเขียวเรี่ยดิน มีดอกขาวฟอร์มสวยคล้ายดอกกล้วยไม้ จึงมีคนนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ส่วนพวกนักเลงว่านนิยมปลูกเป็นไม้มงคลไว้แก้คุณไสยได้สารพัด แต่มีเคล็ดเพื่อความขลังว่าต้องปลูกวันเสาร์ ขณะปลูกและเวลารดน้ำต้องท่องคาถาบูชาพระเจ้า 5 องค์ นโมพุทธายะ 3 จบ 

ยุคนี้เราควรนำภูมิปัญญาหมอไทยการใช้ว่านหอมแดงมาใช้เป็นยาและอาหารให้แพร่หลายในวิถีชีวิตประจำวัน เช่นนำมาต้มดื่มเป็นยา หรือตุ๋นกับไก่บ้านเป็นยาและอาหารบำรุงกำลัง เดี๋ยวนี้มีหมอยาไทยต่อยอดสกัดน้ำมันหอมระเหยจากหัวว่านมาปรุงเป็นยาหม่องน้ำและบาล์ม เพื่อใช้สูดดมแก้หวัดคัดจมูก และทาแก้แผลแมลงสัตว์กัดต่อย ว่านหอมแดงจึงเป็นสมุนไพรประโยชน์สามอย่างแบบทรีอินวัน คือ เป็นทั้งไม้ประดับ ไม้มงคล และพืชสวนครัวที่ใช้เป็นยาและอาหารในโลกแห่ง “โรคไร้พรมแดน”