ศึกษาดูงานด้านอาสาสมัครที่ จ.นครศรีธรรมราช(3)

ช่วงเช้าวันที่3 คณะผู้ศึกษาดูงานได้เดินทางไปไหว้ศักการะและเรียนรู้ประวัติวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารที่เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของคนเมืองคอน และคณะผู้ศึกษาดูงานได้นั่งรถรางเพื่อชมประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครศรีธรรมราชกันต่อ โดยมี นายศราวุฒิ จ้วงเฮ้า วิทยากรประจำรถราง มาให้ความรู้ว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช และแนะนำสถานที่สำคัญภายในตัวเมืองนครศรีธรรมราช อาทิ พระบรมธาตุเจดีย์ ที่มีโบราณวัตถุสำคัญประดิษฐ์อยู่ วัดท้าวโคตร ,วัดหน้าพระลาน ศาลเจ้าพระเสื้อเมือง , หอพระพุทธสิหิงค์ ,พระพุทธสิหิงค์ , หอพระอิศวร , หอพระนารายณ์ , วัดเสมาเมือง , กำแพงเมือง, ศาลาประดู่หก , วิหารพระสูง , และสระล้างดาบศรีปราชญ์ อีกด้วย หลังจากนั้นผู้ศึกษาดูงานได้เดินทางมาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวนครศรีธรรมราชกันต่อที่พิพิธภัณฑ์เมืองนครศรีธรรมราช

ช่วงบ่ายเดินทางไปที่กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต.ปากพูน โดยนางกระจาย ชวาสิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้าน ต.ปากพูน , นายทักษิณ แสนเสนาะ ประธานกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต.ปากพูน นายเจกเพียร พรหมมงคล ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต.ปากพูน และนายเรียง สีแก้ว นักวิชาการเครือข่ายปกป้องดิน น้ำ ป่า นครศรี – พัทลุง ได้เล่าความเป็นมาของการตั้งกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต.ปากพูน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด150 คน โดยกิจกรรมของกลุ่มฯประกอบด้วย

1) กลุ่มออมทรัพย์ : กลุ่มออมทรัพย์ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งปี 2560 เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข็มแข็งรู้จักเก็บรู้จักออม ไม่ต้องไปกู้นายทุนนอกพื้นที่

2)กิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง
⦁ แนวเขตอนุรักษ์ : เพื่อเป็นที่หลบภัยให้กับสัตว์ขนากเล็กและสัตว์วัยอ่อน
⦁ ซั้งบ้านปลา :เมื่อกั้นรั้วเสร็จก็เริ่มสร้างบ้านให้น่าอยู่ (สร้างบ้านปลา) ด้วยนิเวศที่มีลักษณะเป็นป่าเลน บ้านปลาจึงใช้ไม้ไผ่ปักรวมกันเป็นซั้งเป็นกอ วางเป็นจุด ๆ กระจายทั่วพื้นที่ในเขตอนุรักษ์เพื่อเป็นที่หลบภัยกับสัตว์ขนาดเล็ก
⦁ ธนาคารปูม้า/ปูดำ : ลักษณะของธนาคารปูนั้นจะมีเฉพาะบนฝั่ง เพื่อเน้นให้เกิดการเรียนรู้และสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรร่วมกัน

3)อาหารทะเลแปรรูป : สมาชิกในกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านชาวประมง ได้นำสัตว์น้ำที่จับได้มาแปรรูป สร้างมูลค่าให้กับคนในชุมชนมีรายได้เสริม และรายได้ส่วนหนึ่งเป็นทุนหนุนเสริมกิจกรรมอนุรักษ์ต่อไป

4) กองทุนปรับเปลี่ยนเครื่องมือ : ด้วยราคาเครื่องมือประมง (อวน) สูงและต้องใช้เงินทุนในการปรับเปลี่ยนเครื่องมือในแต่ละครั้ง ดังนั้นจึงเกิดกองทุนเครื่องมือที่สมาชิกในกลุ่มทุกคนสามารถมาซื้ออวนในราคาที่ไม่แพง และสามารถผ่อนจ่ายได้โดยไม่ด้องใช้เงินก้อน ภายในระยะเวลา 6เดือน

5)การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย : กลุ่มอนุรักษ์ประมงพื้นบ้านปากพูน ได้เชื่อมร้อยเครือข่ายร่วมกับเครือข่ายประมงพื้นบ้านนครศรีธรรมราช จัดทำกิจกรรมเชิงรูปธรรมในพื้นที่ และร่วมกันจัดทำข้อเสนอ การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ร่วมกับสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

6) ศูนย์การเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง : ด้วยความรักษ์ความสามัคคีของชาวประมงทุกคนสามารถนำทรัพยากรปากพูนให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ในเวลาไม่นาน ทำให้กลายเป็นพื้นที่ที่หลายคนให้ความสนใจและเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง