สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมปี 55 กระแสอนุรักษ์ต้าน..วงจรอุบาทว์ไม่ไหว

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาดำเนิน โครงการติดตามประเมินผลและการรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2555 ทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์จุฬาฯ รายงานว่า คุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในไทยมีการเปลี่ยนแปลงทั้งที่ดีขึ้นและเสื่อมโทรมลงรวดเร็ว

นอกจากนี้ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญช่วงระหว่างปี 2554 ถึงกลางปี 2555 มหาอุทกภัยนับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ขณะที่สถานการณ์หมอกควันและไฟป่า โดยเฉพาะในแถบภาคเหนือมีความรุนแรงมากช่วงต้นปีนี้ มีรายงานว่าบางเวลาบางพื้นที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินเกณฑ์มาตรฐานเกือบ 4 เท่า ตลอด 24 ชั่วโมง ในส่วนสถานการณ์การลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมาย น่าเศร้า พบว่ามีคดีสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไม้พยูง กล้วยไม้ป่า งาช้าง เสือ เต่า ตัวนิ่ม นกกรงหัวจุก ทั้งขายในประเทศและใช้ไทยเป็นเส้นทางผ่านในการส่งออกตลาดมืด

คุณภาพสิ่งแวดล้อมหลายสาขามีสัญญาณยืนยันจากร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพส่งแวดล้อม 2555 ว่า แม้ดิน น้ำ อากาศ สิ่งมีชีวิตพืชและสัตว์ในประเทศจะมีกฎหมายคุ้มครองดูแล รวมถึงนโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์ ก็ยังโดนมนุษย์กระทำและภัยธรรมชาติเล่นงาน และการพัฒนาที่ไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติตกที่นั่งลำบากอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ดร.สราวุธ ศรีทองอุทัย นักวิทยาศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอข้อเท็จจริงจากร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม 55 ในการประชุมเชิงปฏิบัติการร่างรายงานฯ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า “สิ่งมีชีวิตของไทยเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์จำนวนมาก เพราะถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ”

ข้อมูลจากรายงานระบุว่า ไทยยังสูญเสียพื้นที่ป่าไม้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีป่าไม้เพียง 99.2 ล้านไร่ หรือร้อยละ 30.9 ของพื้นที่ทั้งหมด ปี 2554 พบการบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่ 44,110 ไร่ บุกรุกทำลายป่าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 16,645 ไร่ และป่าชายเลน 309 ไร่ รวมทั้งสิ้น 61,063 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 กว่า 26% แต่ขณะเดียวกันทั้งรัฐและเอกชนร่วมปลูกป่าทดแทนป่าที่ถูกทำลายและป่าที่เสื่อมสภาพ ปีที่แล้วพื้นที่ป่าปลูกเพิ่มขึ้น 58,916 ไร่

ดร.สราวุธกล่าวว่า การคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำยังเป็นประเด็นสำคัญในการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดจากการพัฒนาโครงการที่มุ่งทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ มีการขุดลอก ถม สร้างสิ่งปลุกสร้างในหลายพื้นที่ พรุถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตร ชายหาดและหมู่เกาะโดนบุกรุกสร้างสถานที่ท่องเที่ยว ป่าชายเลนเปลี่ยนเป็นนากุ้ง ท่าเทียบเรือ ถนน ส่วนแนวปะการังและแหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทมลงผลกระทบจากกิจกรรมบนชายฝั่งและการท่องเที่ยวขาดความรับผิดชอบ พื้นที่ชุ่มน้ำลดลงและเสื่อมโทรม รวมทั้งระบบนิเวศแนวปะการังถูกคุกคามจากภัยธรรมชาติและมนุษย์ เหตุการณ์ปะการังฟอกขาวสองปีก่อน พบว่าปัจจุบันยังอยู่ในขั้นเสียหายถึงเสียหายมาก

นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้ยังกล่าวอีกว่า สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเครื่องมือประมง การเจ็บป่วย และขยะทะเล ปี 2554 พบสัตว์ทะเลเกยตื้นทั้งหมด 258 ตัว เป็นเต่าทะเล โลมาและวาฬ และพะยูน จำนวน 111, 135 และ 12 ตัว ตามลำดับ เมื่อวิเคราะห์พบว่า มีแนวโน้มสูญเสียชนิดพันธุ์เหล่านี้เพิ่มขึ้นทุกปี

เช่นเดียวกับการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืชก็ยังคงเป็นปัญหา เป็นธุรกิจตลาดมืดที่สร้างผลกำไรสูงให้อาชญากรผู้ลักลอบค้า โดยไทยเป็นแหล่งการค้าสัตว์ป่าจุดใหญ่ในภูมิภาคนี้ จากข้อมูล ปี 2554 มีการจับกุมคดีค้าสัตว์ป่าในไทยจำนวน 528 คดี ซากสัตว์ป่า 1,631 ตัว ในขณะที่ปี 2555 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2554 ถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2555 มีการจับกุมการกระทำผิดเกี่ยวกับสัตว์ป่าไปแล้ว 587 คดี สูงกว่าจำนวนคดีของทั้งปีที่ผ่านมา ซากกว่า 3,000 ตัว มูลค่าความเสียหายของรัฐ 8.4 ล้านบาท แต่คุณค่าทางระบบนิเวศมันมากมาย เพราะเป็นปัจจัยสำคัญรักษาสมดุลธรรมชาติ แล้วยังพบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าไม้พะยูงเป็นไม้ที่มีการลักลอบตัดในประเทศและส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ต้องปรับกฎหมายให้ทันสถานการณ์ปัจจุบันและมีโทษรุนแรงมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ จากการติดตามประเมินผลของมาตรการและแผนอนุรักษ์ พบว่า หลายตัวชี้วัดไม่บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด ไม่ว่าจะเป็นการประกาศคุ้มครองแหล่งหญ้าทะเลและพะยูน การเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำขึ้นทะเบียนพื้นที่ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศเพิ่มเติม รวมถึงการคุ้มครองชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ให้มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น อีกตัวคือ การคุ้มครองและฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ

สถานการณ์น้ำเป็นอีกเรื่องที่ ดร.สราวุธ เปิดเผยผ่านร่างรายงาน โดยบอกว่า ปริมาณน้ำฝนของไทยมีความผันผวน แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะยาว และในช่วง 6 ปีมานี้ ปริมาณฝนสะสมรายปีเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 ส่วนปี 2554 ไทยมีปริมาณน้ำสูงสุดในรอบ 61 ปี จากอิทธิพลปรากฏการณ์ “ลานีญา” มีพายุ 5 ลูก ส่งผลปริมาณฝนสะสมปีที่แล้วสูงกว่าปี 2553 ถึงร้อยละ 27 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น 1.4 ล้านบาท เป็นความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม 551 ล้านบาท

ส่วนปี 2555 ปริมาณฝนและปริมาณการกักเก็บน้ำของไทยลดลง เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2554 มีปริมาณน้ำที่กักเก็บได้ในอ่างลดลงทุกภาค ยกเว้นตะวันตกที่สูงขึ้น ผลจากฝนน้อยกว่าบวกกับการจัดการน้ำในอ่างขนาดใหญ่เร่งระบายน้ำก่อนเข้าสู่ฤดูฝนป้องกันน้ำท่วมในปีนี้ แต่ปัญหาในอนาคตไทยเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพราะความต้องการใช้น้ำสูง ในทางกลับกัน ปัญหาน้ำท่วมมีความไม่แน่นอนมาก เพราะช่วงปี 2545-2553 เกิดน้ำท่วมเพิ่มขึ้นและรุนแรงมากขึ้น ในปี 2552 และ 2553 มีเหตุการณ์น้ำท่วมถึง 11 ครั้ง ขณะที่ปี 2554 ลดลงเหลือ 7 ครั้ง แต่ท่วมบริเวณกว้าง ท่วมนานเสียหายมหาศาล

ขณะเดียวกันนักวิชาการอีกรายที่เข้ามาร่วมนำเสนอร่างนี้ในสาขาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน คือ ผศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน คณะวิศวกรรมศาสตร์ เธอบอกว่า ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 31 ของโลก มีอัตราปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้นทุกปีในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 3.8 ต่อปี จากการประเมินอุณหภูมิพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ย อุณหภูมิสูงสุดและต่ำสุดเฉลี่ยของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนในปี 2554 สภาพภูมิอากาศผันแปรผิดไปจากปกติมาก ช่วงฤดูร้อนไม่ร้อนมาก หลายพื้นที่มีอุณหภูมิต่ำสุดต่ำกว่าสถิติเดิม ปีที่แล้วยังได้รับผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อนถึง 5 ลูก “ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และความสมดุลของระบบนิเวศ ปริมาณฝนมากขึ้นส่งผลเสี่ยงน้ำท่วมสูงขึ้น ส่วนใหญ่จะเกิดในพื้นที่ภาคกลาง ส่วนภาคใต้และอีสานเสี่ยงภัยดินถล่ม ภัยแล้งส่วนใหญ่จะเกิดในภาคอีสาน ที่น่ากังวล การกัดเซาะชายฝั่ง การรุกล้ำของน้ำทะเล ทำให้สูญเสียพื้นที่ อย่าง สมุทรปราการ กัดเซาะชายฝั่งไปหลายร้อยตารางกิโลเมตร ที่เราเห็นอยู่ขณะนี้ ส่วนสัตว์และพืชบางชนิดมีปริมาณลดลงหรือบางชนิดอาจจะสูญพันธุ์” ผศ.ดร.ชนาธิปกล่าว

ผศ.ดร.ชนาธิปยังกล่าวอีกว่า แนวทางการรับมือต่อสภาวะโลกร้อน ภาครัฐต้องตระหนักถึงการสร้างความพร้อมในการรองรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งขณะนี้มีการวางแผนระยะเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำรายงานประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ในพื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ การเร่งจัดทำข้อมูลและแผนที่แสดงความเสี่ยงในด้านต่างๆ กำหนดแนวทางเฝ้าระวัง แจ้งเตือน และแนวทางบรรเทาและป้องกันผลกระทบ รวมถึงเร่งติดตั้งและพัฒนาระบบเตือนภัยทางธรรมชาติ ที่สำคัญ คือ พัฒนาศักยภาพชุมชนและเตรียมพร้อมรับมือภัยธรรมชาติที่จะเกิดบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น

มลพิษทางอากาศและเสียงเป็นอีกเรื่องจากรายงานที่ทุกคนให้ความสนใจ เธอบอกว่า ปี 2554 คุณภาพอากาศโดยทั่วไปดีขึ้น ระดับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และตะกั่ว อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ปัญหาอยู่ที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10) และก๊าซโอโซน ยังคงเป็นมลพิษหลักที่มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานในบางสถานที่และเวลา มีประชาชนร้องเรียนมาก ส่วนคุณภาพอากาศกรุงเทพฯ อยู่ในค่ามาตรฐาน คุณภาพดีขึ้น แต่จะพบฝุ่นปริมาณสูงบริเวณริมถนนจากยานพาหนะและการจราจรหนาแน่น ส่วนสถานการณ์เสียงริมถนนและพื้นที่ทั่วไปในกรุงเทพฯ และปริมณฑลดีขึ้นเล็กน้อย แต่ต่างจังหวัดแย่ลง “ปัญหาคุณภาพอากาศในเขตปริมณฑลบางพื้นที่ดีขึ้นและบางพื้นที่แย่ลง ปี 2554 จ.สมุทรปราการและปทุมธานีมีแนวโน้มฝุ่นละอองขนาดเล็กเฉลี่ยรายปีเพิ่มขึ้น ในต่างจังหวัด จังหวัดที่มีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานสูงสุด คือ สระบุรี ส่วนระยอง ระดับก๊าซโอโซนเกินมาตรฐาน สำหรับแนวทางแก้ปัญหาต้องมีมาตรการจัดการมลพิษทางอากาศและเสียงจากยานพาหนะที่มีอยู่ รวมถึงส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนและลดการใช้รถยนต์ ส่วนการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพอากาศและเสียงต้องมีความถี่ยิ่งขึ้นและต่อเนื่อง” ผศ.ดร.ชนาธิปกล่าว

ด้านคุณภาพน้ำ ไม่ว่าจะน้ำผิวดิน น้ำทะเลและชายฝั่ง และน้ำบาดาล เป็นหน้าที่ของ ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน คณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีสัญญาณอันตรายหลายประเด็นเลยทีเดียว เขาบอกว่า คุณภาพน้ำของแหล่งน้ำในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มดีขึ้น พบว่ามีแหล่งน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมน้อยลง ไม่พบที่เสื่อมโทรมมากตั้งแต่ปี 2551 เกิดจากปริมาณน้ำฝนที่สูงขึ้น “แต่สิ่งที่น่าห่วงและจะทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมอย่างรุนแรง เกิดจากน้ำเสียจากแหล่งชุมชนที่ไม่สามารถจัดการได้ทั่วถึง เพราะปัจจุบันมีระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนเพียง 101 แห่ง ทั่วประเทศ บำบัดน้ำเสียได้เพียงร้อยละ 10 ของปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมด แม้จะควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งอุตสาหกรรมลงสู่แหล่งน้ำได้มีประสิทธิภาพ แต่ไม่แก้ปัญหาน้ำเสียจากชุมชน ก็ไม่สามารถจัดการคุณภาพน้ำได้”

ในทางกลับกัน ดร.สิทธิเดชเผยสถานการณ์คุณภาพน้ำทะเลด้วยว่า คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง พื้นที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ได้แก่ บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา หาดชาญดำริ ปากน้ำระนอง จ.ระนอง และแหลงงอบ จ.ตราด ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คุณภาพน้ำทะเลเสื่อมโทรมลง โดยเฉพาะพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ย่านร้านอาหาร ชุมชนริมฝั่งมีการระบายน้ำเสียลงทะเลไม่บำบัด พบปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ ขณะที่คุณภาพน้ำบาดาลในภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังต้องติดตามเฝ้าระวังการปนเปื้อนในพื้นที่เสี่ยง ทั้งจากธรรมชาติและกิจกรรมมนุษย์ เช่น เขตนิคมอุตสาหกรรมระยองและชลบุรี พื้นที่ลักลอบทิ้งสารเคมี ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา รวมถึงเหมืองแร่สังกะสีลุ่มน้ำแม่ตาว จ.ตาก เหมืองแร่ทองคำ พิจิตร และแหล่งฝังกลบมูลฝอยในจังหวัดต่างๆ

เขาสรุปและเสนอแนะในรายงานให้ปรับปรุงกฎหมาย สนับสนุนการลดปริมาณการใช้น้ำเพื่อลดการเกิดน้ำเสีย สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์น้ำให้ประชาชน ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการลดน้ำเสีย ตลอดจนใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์กระตุ้นให้เปลี่ยนพฤติกรรม เช่น จัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียรวมกับน้ำประปา อีกข้อเสนอเป็นเรื่องการดูแลตรวจสอบ การปล่อยน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมอย่างเคร่งครัด

สถานการณ์ขยะท่วมประเทศยังคงเป็นอีกภาพที่ถ่ายทอดจากร่างรายงานฯ ดร.สิทธิเดชให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ขยะชุมชน ปี 2554 มีปริมาณขยะในทุกพื้นที่เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ปริมาณทั้งหมด 15.98 ล้านตัน เฉลี่ย 43,779 ตันต่อวัน โดยเมืองพัทยาเป็นพื้นที่ที่อัตราการเกิดขยะเพิ่มสูงสุดถึงร้อยละ 8.64 แต่ส่วนหนึ่งที่ขยะสูงขึ้นในปีนี้มาจากขยะน้ำท่วม ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ก็เป็นช่วงที่ปริมาณขยะในแต่ละพื้นที่เพิ่มชัดเจน นอกจากนี้ พบว่าขยะส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่เทศบาลสูงที่สุด 17,475 ตันต่อวัน รองลงมาเขตองค์การบริหารส่วนตำบล 16,715 ตันต่อวัน และกรุงเทพมหานคร 9,327 ตันต่อวัน และเมืองพัทยา 352 ตันต่อวัน ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมาแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

“ในขณะที่ปี 2554 มีขยะที่ได้รับการกำจัดอย่างถูกหลักวิชาการเพียงร้อยละ 35.3 เท่านั้น ก็มีปริมาณแค่ 5.64 ล้านตันจาก 15.98 ล้านตัน ที่เหลือฝังกลบและเผาสร้างมลพิษ แล้วในปริมาณขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้น 15.98 ล้านตัน มีปริมาณการนำไปใช้ประโยชน์เพียง 4.1 ล้านตัน ในแผนจัดการขยะของกรมควบคุมมลพิษ มีหลักๆ สนับสนุนลดปริมาณขยะจากบ้านเรือน คัดแยกขยะ หนุนให้ อปท.จัดการขยะอย่างถูกหลัก และแปรรูปขยะเป็นพลังงาน รวมถึงส่งเสริมธุรกิจรีไซเคิล” ดร.สิทธิเดชกล่าวถึงแนวทางลดมลพิษขยะเพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายกว่านี้

ปิดท้ายด้วยสถานการณ์ของเสียอันตราย รายงานระบุว่า ปี 2554 มีของเสียอันตรายเกิดขึ้นประมาณ 3.41 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ประมาณ 253,000 ตัน เป็นของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมร้อยละ 78 จากชุมชนร้อยละ 21 และขยะติดเชื้อร้อยละ 1 โดยกว่าร้อยละ 80 ของของเสียอันตรายเกิดในพื้นที่ภาคตะวันออก กรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคกลาง ขณะที่ของเสียอันตรายจากชุมชนเกิดขึ้นทั้งหมดประมาณ 719,000 ตัน เพิ่มขึ้น 48,700 ตัน จากปี 2553 ปัญหาที่เกิดขึ้นพบว่าของเสียอันตรายจากชุมชนส่วนใหญ่ถูกทิ้งปะปนกับขยะทั่วไป หรือขายให้ผู้รับซื้อของเก่าโดยไม่ตระหนักถึงการปนเปื้อนของสารอันตรายสู่สิ่งแวดล้อม

การเปิดร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมล่าสุดไม่เพียงสะท้อนด้านบวกและลบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมไทย แต่รายงานดังกล่าวยังบอกชัดว่ารัฐบาลในอดีตและปัจจุบันให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกันตอกย้ำหากประเทศยังเดินไปในแนวทางเดิม ไม่สร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และพัฒนาจะเกิดผลกระทบสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ

บทความที่เกี่ยวข้อง

สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ด้วย (พ.ร.บ.) บำนาญแห่งชาติ

admin 6 เมษายน 2019

ถ้าใครได้ติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับสังคมไทยในอนาคตคงจะพอทร […]

ระวังคุณภาพยาที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ

admin 6 เมษายน 2019

นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรว […]

เลิกใช้สารเคมี-ฟื้นฟูคุณภาพดิน

admin 5 เมษายน 2019

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2557 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและส […]