สมุนไพร 3 ชนิด เก็บไว้ใช้ในช่วงลมเปลี่ยนฤดู

อากาศช่วงนี้เป็นที่ชอบอกชอบใจของนักท่องเที่ยวด้วยบรรยากาศสุดชิลปลายฝนต้นหนาว แต่หากใคร “อิน” กับอากาศช่วงนี้แบบไม่ทันระมัดระวังตัวเองจะไม่สบายเอาได้ง่ายๆ เพราะฝนและลมชื้นก็ยังมี บางวันก็ร้อนอบอ้าว แต่บางวันลมเย็นหนาวเริ่มมาแล้ว ช่วงเปลี่ยนฤดูจึงมักป่วยไข้ได้ง่าย

สมุนไพรในโลกวันนี้มีความก้าวหน้าบำบัดรักษาโรคได้มากมาย แต่ความรู้ระดับพึ่งพาตนเอง หรือ Health care ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าระดับที่เชี่ยวชาญ อาจจะพูดได้ว่าระดับดูแลตนเองก็สำคัญมาก เพราะถ้าจัดการสุขภาพขั้นพื้นฐานได้ดีจะลดทอนความเสี่ยงไม่ให้โรคภัยรุมล้อมลุกลามได้ ฤดูกาลที่กำลังเปลี่ยนนี้อยากเชิญชวนให้จัดหาสมุนไพร ๓ ชนิดไว้ประจำตู้เย็นที่บ้านหรือที่ทำงาน ให้ใกล้มือหยิบมาใช้ได้ทันใจ

คุณคิดว่าคือสมุนไพรชนิดใดดี ? ในมุมมองของมูลนิธิสุขภาพไทย แนะนำง่ายๆ คือ ตะไคร้ ขิง และพริกไทยดำ ทั้ง 3 ชนิดเดินไปตลาดที่ไหนในเมืองไทยก็หาได้แน่นอน แม้ว่าจะดูเหมือนสมุนไพรพื้นๆ ไม่ใช่พืชในป่าลึก หรือสมุนไพรแปลกๆ แต่ขอบอกตามคำเปรียบเปรยว่า “สูงสุดคืนสู่สามัญ”

ตะไคร้ ที่เป็นพืชสวนครัวและเป็นพืชปรุงอาหารรสเด็ดนี้ มีบันทึกการใช้ประโยชน์ไว้มากมายหลายอย่าง ที่เกี่ยวข้องกับอากาศเปลี่ยนที่น่าจดจำไว้ คือ เวลาเป็นไข้หวัด ตัวร้อน ปากแห้ง เพลีย ให้กินน้ำต้มตะไคร้จะช่วยรู้สึกโล่งคอไปถึงท้อง รู้สึกสบาย ไข้ลด ตะไคร้ยังช่วยถ่ายเทความร้อน ขับเหงื่ออก และช่วยขับปัสสาวะได้อย่างดีด้วย

หลายคนอาจไม่รู้ว่าวิธีใช้ตะไคร้แบบโบราณที่เวิร์ค ยังใช้การแช่น้ำกินได้ คือ เวลาเป็นไข้หวัด ไข้เปลี่ยนฤดู เช่น จากฤดูฝนเข้าฤดูหนาว จากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน เป็นต้น หากรู้สึกหน้าแดงๆ หน้าร้อนๆ รู้สึกร้อนๆ หนาวๆ เวลาหายใจเอามืออังแล้วรู้สึกลมหายใจร้อนกว่าปกติ จามบ่อยๆ ให้เอาตะไคร้ 2 ต้น เอาไปเผาไฟพอสุก แล้วเอามาตัดหัวตัดท้าย แล้วทุบให้พอแตก นำไปแชในน้ำร้อนสัก 10 นาที แล้วนำมากินครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 4-5 ครั้ง แก้อาการไข้เปลี่ยนฤดูได้ดีด้วย

ในต่างประเทศโดยเฉพาะที่อินเดียนิยมใช้ยาชงจากใบหรือหัวตะไคร้กันมาก โดยนำมากินขณะอุ่นๆ ใช้ขับเหงื่อในคนที่มีไข้ได้ผลดีมาก โดยเฉพาะไข้ที่อ่อนเพลียยิ่งควรใช้ยาชงตะไคร้เลย ที่ประเทศฟิลิปปินส์ก็มีการใช้รากตะไคร้ นำมาต้มกินแบบยาชงรากตะไคร้ ช่วยขับเหงื่อลดไข้ดีเป็นพิเศษ

ถ้านำตะไคร้มาผสมสมุนไพรที่แนะนำให้เก็บไว้ในตู้เย็นชนิดที่สอง คือ ขิง จะยิ่งช่วยเพิ่มสรรพคุณ หรือแต่งรสยาให้กลมกล่อมเสริมการออกฤทธิ์ ดังความรู้ดูแลสุขภาพในครัวเรือนแนะนำสืบต่อมาว่า ถ้าจะแก้หนาว เวลาอากาศหนาว จะต้มน้ำตะไคร้ใส่ขิง กินตอนเช้า กินแล้วรู้สึกตัวอุ่น ๆ และทำให้เหงื่อออกเล็กน้อย ใช้ตะไคร้ 1 ต้น ขิงแก่หรือขิงอ่อนก็ได้ ขนาดเท่าหัวแม่มือ ทุบพอแตก ต้มกับน้ำ 1 ขวด แต่งน้ำตาลเล็กน้อย ดื่มแทนน้ำชา กาแฟ ช่วยระบายลมได้ด้วย สูตรน้ำสมุนไพรนี้ แม้ว่าอากาศยังไม่หนาวนัก แค่ช่วงเปลี่ยนฤดูปรุงยามาดื่มทั้งที่บ้านหรือที่ทำงานก็ช่วยป้องกันไม่ให้เป็นไข้ได้ดี

ถ้าไปโดนหรือตากฝนแล้วเป็นไข้ ตัวร้อนเล็กน้อย มึนหัว คัดจมูก ก็ใช้ได้ และมีอีกวิธีให้ลองใช้ คือ เอาตะไคร้ 1 ต้น หั่นเป็นแว่น ๆ ขิงสด หั่น 5-6 แว่น ใส่น้ำ 3-4 แก้ว ต้นจนเดือด แล้วทิ้งไว้ให้อุ่น ๆ กินครั้งละ 1/2 – 1 แก้ว วันละ 3 เวลา หลังอาหาร กินแล้วไข้ลด จมูกโล่ง หายใจคล่องขึ้น

คราวนี้มาถึงสูตร ที่ใช้สมุนไพร 3 ชนิด คือ ตะไคร้ ขิง พริกไทยดำ ตำรับนี้กินแก้ไข้หวัดทั่วๆ ไปได้เลย และยังแก้อาการเจ็บคอได้ดีเช่นกัน ปรุงยาง่ายๆ ใช้หัวตะไคร้สัก 1 หัวนำมาซอยหรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ขิงสดหั่นเป็นแว่นสัก 3-4 ชิ้น พริกไทยดำสัก 2-3 เม็ด นำไปต้มกับน้ำสัก 2 แก้ว ต้มให้เดือด นำมากินครั้งละ ครึ่งแก้ว กิน 3 มื้อ รสยาเผ็ดร้อนช่วยขับเหงื่อ ทำให้ร่างกายอบอุ่น ลดไข้หวัด แก้เจ็บคอได้ด้วย

นอกจากยาชงสมุนไพรรับมืออากาศเปลี่ยนแล้ว วิถีชีวิตตามภูมิปัญญาดั้งเดิมที่อยากแนะนำเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันนำมาทำเป็นธุรกิจของชุมชนด้วย ซึ่งเป็นทั้งป้องกันและรักษาโรคในเวลาเดียวกัน นั่นคือ การอบสมุนไพร ซึ่งช่วยการไหลเวียนเลือด ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น สดชื่น และที่โดดเด่นมากคือ ช่วยให้ทางเดินหายใจโปร่งสบาย ปอดขยายตัวดี การอบสมุนไพร จึงช่วยป้องกันและลดการเป็นไข้หวัด ลดน้ำมูกด้วย และการอบสมุนไพร คือยาบรรเทาอาการหอบหืดภูมิแพ้ที่มักจะกำเริบในช่วงอากาศเปลี่ยนและช่วงอากาศหนาวๆ การอบสมุนไพรจึงเหมาะกับ “ปลายฝนต้นหนาว” อย่างมาก

ข้อควรระวังที่ต้องกล่าวไว้ คือ ท่านใดที่ที่มีไข้สูง ความดันโลหิตสูง ห้ามอบสมุนไพรเด็ดขาด เพราะจะทำให้ไข้ยิ่งสูงความดันสูงขึ้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

สูตรยาอบสมุนไพร ตำรับที่ทำง่ายที่สุด ใช้สมุนไพร 3 ชนิด หาซื้อได้ทั่วไป คือ เหง้าไพล ใบมะขาม และตะไคร้ วิธีทำง่ายมาก นำสมุนไพรทั้งหมดมาล้างน้ำ หั่นไพลเป็นแว่นๆ ใบมะขามจะตัดกิ่งมาหั่นเป็นท่อนๆ หรือจะริดแต่ใบก็ได้ ตะไคร้ให้หั่นเป็นท่อนๆ และทุบให้พอแตก สมุนไพรทั้ง 3 ชนิดใช้จำนวนเท่าๆกัน นำไปต้ม แล้วจัดทำกระโจมสำหรับอบ หรือจะทำแบบที่กำลังฮิตฮอต ทำเป็นสุ่มไก่ไว้ใช้อบสมุนไพร หรือสปาแบบบ้าน ๆ ก็ได้

เพียงแค่สมุนไพร 3 ชนิดนี้ก็พอเพียงแล้วในระดับครัวเรือน แต่ถ้าต้องการเสริมฤทธิ์สมุนไพร และแต่งกลิ่นให้หอมสดชื่น แนะนำให้เพิ่มใบมะกรูดหรือผิวมะกรูด ถ้าอยากได้บำรุงผิวพรรณให้เพิ่มเหง้าข่าแก่และขมิ้นชันฝานแล้วทุบให้แตก และใส่การบูรบดละเอียดลงไปเล็กน้อยด้วย และถ้าให้เหมาะกับอาการและโรคที่มากับช่วงเปลี่ยนฤดู ก็แนะนำให้เพิ่มหอมแดงสมุนไพรกลิ่นแรง เพราะเหมาะกับการแก้อาการน้ำมูกไหล หรือช่วยให้การหายใจโล่ง หอมแดงก่อนใส่ลงไปควรทุบให้พอแตกๆ จะได้ออกฤทธิ์ดี

บางครั้งเราเที่ยวเสาะหาสมุนไพรชื่อแปลกๆ สมุนไพรหายาก โดยลืมสมุนไพรใกล้ตัวที่มีสรรพคุณดีเยี่ยม เป็นที่ยอมรับและใช้กันแพร่หลาย ณ ปลายฝนต้นหนาวนี้ ท่านจะไปเที่ยวไกลแค่ไหน ก็อย่าลืมสมุนไพรใกล้ตัวสรรพคุณดี ๆ เหล่านี้นะ.

บทความที่เกี่ยวข้อง

น้ำฟักทอง

admin 6 มกราคม 2019

ส่วนผสม 1. ฟักทองนึ่งสุก 1 ถ้วย 2. น้ำสะอาด 3 ถ้วย 3. น […]

น้ำบัวบก

admin 6 มกราคม 2019

ส่วนผสม 1.ใบบัวบก 2 ถ้วย 2.น้ำสะอาด 2 ถ้วย 3.น้ำเชื่อม […]