สสค.จวกการศึกษาไทย

เมื่อ (28 พ.ค.) ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) อภิปรายเรื่อง “การพัฒนาการศึกษาไทยและมุสลิมไทย:ต้นทุนและศักยภาพในเวทีอาเซียน ” ในการประชุมวิชาการโลกมุสลิมประจำปี 2557 ว่า ในยุคโลกาภิวัฒน์สังคมและทุกคนต้องเร่งพัฒนาตนเองให้พร้อมที่จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของประเทศไทยกลับตกต่ำลง ซึ่งสวนทางกับงบประมาณที่รัฐลงทุนไปกับระบบการศึกษาอย่างสิ้นเชิง โดยปี 2557 งบประมาณด้านการศึกษาของไทยสูงกว่า 500,000 ล้านบาท หรือ มากกว่า ร้อยละ 20 ของงบประมาณแผ่นดิน และสูงติดอันดับที่ 2 ของโลก

นพ.สุภกร กล่าวต่อไปว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ประกาศใช้มา 10 กว่าปี แต่ระบบการศึกษาไทยยังไม่กระเตื้อง โครงสร้างการศึกษายังเป็นปัญาหาเรื้อรังที่มีผลต่อเด็กไทยหลายล้านคน ในจำนวนเด็กไทยที่เกิดมาปีละราว 9 แสนคน ร้อยละ 10 หรือ 9 หมื่นคน หลุดออกไปจากระบบการศึกษาก่อนจบชั้นม.3 หรือภาคบังคับ ร้อยละ 30 หรือ 2.7 แสนคน ยุติชีวิตการเรียนลงตั้งแต่ชั้น ม.3 ร้อยละ 20 หรือ1.8แสนคน ออกจากระบบการศึกษาไปเมื่อจบชั้นม.6 หรือ ปวช.ซึ่งส่วนใหญ่เด็กเหล่านี้หลุดออกไปด้วยปัญหาความยากจน และความจำเป็นในชีวิต และร้อยละ 40 หรือ 3.6 แสนคน เท่านั้นที่เข้ามาถึงระดับอุดมศึกษา และจะจบออกมา 3 ใน 4 จากทั้งหมด

“เด็กที่จบระดับอุดมศึกษา 1 ใน 3 มีงานทำ เพราะฉะนั้นการเข้ามหาวิทยาลัยได้ ไม่ใช่ความสำเร็จที่สุดในระบบการศึกษาไทย” นพ.สุภกร กล่าวและว่า การสูญเสียการศึกษาทำให้ท้องถิ่นสูญเสียรายได้กว่า 85 ล้านบาทต่อปีหากคำนวณรายได้ตลอดชีพในช่วงอายุทำงาน15-60 ปีระหว่างคนที่ไม่จบชั้น ม.3กับคนที่จบ ม.3 หรือ ม.6 ปวช.และที่จบปริญญตรี จะมีความต่างของรายได้สะสมหลายล้านบาท ดังนั้น ควรจะกระตุ้นการใช้จ่ายและเศรษฐกิจในท้องถิ่น อาทิ เด็กที่ออกก่อนจบม.3 ที่เป็นแรงงานกินค่าแรงขั้นต่ำทำเงินตลอดอายุการทำงานอายุ15-60ปี น้อยกว่าคนจบปริญญาตรี 2 เท่า สูญเสียรายได้ปีละ 50 ล้านบาทส่วนใหญ่เข้าไปเป็นแรงงานในเมืองต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า50%ของรายได้เหลือกลับถิ่นแค่ 50% สูญเสียรายได้ออกนอกท้องถิ่นอีกปีละ15 ล้านบาท อีกทั้งพ่อแม่ที่ไม่ไว้ใจโรงเรียนในท้องถิ่นส่งลูกเข้าเมืองเสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอย่างน้อย 2,500 บาทต่อคนต่อเดือนเป็นค่าใช้จ่ายของลูกที่ไปเช้า-เย็นกลับเสียค่าใช้จ่ายในการส่งลูกเรียนในเมืองอีกปีละ 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข”

นพ.สุภกรกล่าวด้วยว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากคุณภาพการศึกษาในโรงเรียน ที่เน้นจะเน้นพัฒนาโรงเรียนที่ดังๆ ไม่กี่แห่ง ส่วนโรงเรียนที่เหลืออีก2-3 หมื่นกลับถูกมองข้าม หรือเด็กที่จบมหาวิทยาลัยออกมาทำงานไม่เป็นเพราะเด็กเหล่านี้ไม่ได้ถูกสอนให้เตรียมพร้อมออกมาทำงานเหมือนลูกนกที่อยู่ในกรงเมื่อถูกปล่อยออกไปหากินไม่ได้สุดท้ายก็ไม่รอด ดังนั้นการจะแก้ระบบการศึกษาต้องแก้ที่คุณภาพและต้องเอาเด็กเข้าสู่ระบบ

ที่มา : เดลินิวส์ 28 พ.ค.2557

บทความที่เกี่ยวข้อง