สารพิษการเกษตรลงสู่แม่น้ำสายหลักของไทย

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่มีการปลูกพืชเศรษฐกิจมากมายหลายชนิด และเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค รวมถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศ เกษตรกรจึงจำเป็นต้องนำสารเคมีมาใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช

ดังนั้น เพื่อเป็นการศึกษาถึงผลกระทบดังกล่าว ที่อาจส่งตรงถึงมนุษย์ซึ่งเป็นผู้บริโภค กรมวิชาการเกษตร โดย คุณมลิสา เวชยานนท์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษทางการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และคณะ ได้ทำการศึกษาวิจัยและประเมินสถานการณ์การแพร่กระจายของสารพิษการเกษตร จากแหล่งเกษตรกรรมลงสู่แม่น้ำสายหลักของประเทศไทย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง โดทำการศึกษาวิจัยตั้งแต่ปี 2552-2555

คุณมลิสา เล่าถึงที่มาของการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ว่า เนื่องจากปัจจุบันการปนเปื้อนของสารพิษตกค้างทางการเกษตรในผลผลิตการเกษตรและในสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และเนื่องจากประเทศไทยเป็นรัฐภาคีหนึ่งที่อยู่ในอนุสัญญาสต๊อกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกี่ยวข้องกับสารมลพิษจากสารเคมีทางการเกษตรและอุตสาหกรรม ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหาร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร ได้ทำความตกลงและให้ความร่วมมือในการติดตามการปนเปื้อนของสารพิษทางการเกษตร ได้แก่ เอนดริน อัลดริน ดีลดริน ดีดีที และคลอเดน เป็นต้น ซึ่งตกค้างในสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เพื่อที่จะดูว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง โดยทำการวิจัยในแม่น้ำ 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง

“เราได้สุ่มตรวจสารพิษ โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ สารกำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนคลอรีน กลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส กลุ่มไพรีทรอยด์ และกลุ่มคาร์บาเนต นอกจานั้น ก็เป็นสารกำจัดวัชพืช จากสถิติพบว่ามีการนำเข้ามาใช้ในประเทศค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นสารพิษหรือสารเคมีที่นำมาใช้ในการเกษตรจึงเกิดผลกระทบและยังตกค้างอีกด้วย” คุณมลิสา กล่าว

คุณมลิสา กล่าวอีกว่า กว่าจะสำรวจและเก็บตัวอย่างจากแม่น้ำแต่ละสาย ใช้เวลาถึง 3 ปี เท่าที่เก็บตัวอย่างน้ำมาตรวจ พบว่า แม่น้ำป่าสักเป็นแม่น้ำสายยาวที่สุดในบรรดาแม่น้ำ 4 สายที่กล่าวมาแล้ว ตรวจพบว่ามีสารพิษบางชนิดในปริมาณสูง และส่วนใหญ่จะเป็นสารกำจัดวัชพืช ส่วนแม่น้ำสายอื่นจะพบสารพิษทั่วๆไป ส่วนใหญ่จะเป็นสารกลุ่มที่มีการตกค้างยาวนาน ที่เรียกกันว่า สารกลุ่มป๊อบ (POPs = Persistent Organic Pollutants) คือมีระดับความเป็นพิษรุนแรงและเฉียบพลัน ซึ่งเป็นกลุ่มออร์กาโนคลอรีน เช่น ดีดีที เอนดริน เป็นต้น แต่มีปริมาณที่ต่ำ ซึ่งสารเหล่านี้ห้ามใช้มานานประมาณ 30 ปีแล้ว ทั้งนี้ พบว่าสารพิษในกลุ่มป๊อบ (POPs) ตกค้างในเนื้อปลาและพืชน้ำ รวมทั้งสารพิษในกลุ่มไพรีทรอยด์ และออร์กาโนฟอสฟอรัสบางชนิด แต่ปริมาณที่ตรวจพบอยู่ในระดับที่ปลอดภัย มนุษย์สามารถบริโภคได้โดยผ่านกระบวนการปรุงต่างๆ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณที่สะสมได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามควรคำนึงว่าจะมีสารพิษอยู่ในระดับต่ำที่ปลอดภัย แต่หากเราบริโภคหรือได้รับเข้าไปมากหรือบ่อยครั้ง ก็จะมีโอกาสสะสมในตัวเราได้

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ได้จากการวิจัยดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรจะนำเสนอต่อคณะกรรมการที่ดูแลอนุสัญญาสต๊อกโฮมเพื่อรายงานสถานการณ์ตกค้างสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อมนุษย์ อีกทั้งจะนำข้อมูลข้อมูลปริมาณสารพิษที่ตรวจพบทั้งหมดนี้ไปกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดิน โดยกำหนดให้มีน้ำผิวดินที่มีความปลอดภัยสำหรับการนำมาทำน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมทั้งคำนึงถึงสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำด้วย

หากท่านใดสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร. 02-9405504 ต่อ 1105

ที่มา : แนวหน้า 25 ธ.ค.56

บทความที่เกี่ยวข้อง

เผยผลการตรวจสอบสารพิษตกค้างผักผลไม้ ประจำปี 2559

admin 6 เมษายน 2019

วันนี้ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) […]

ทำชาขับสารพิษให้คนริมเหมืองทอง

admin 6 เมษายน 2019

พิษณุโลก – ชาวบ้านจำนวนมากในพื้นที่บ้านหนองขอน หม […]

เปิดผลสำรวจพบสารพิษตกค้างกว่า 50% ในผักผลไม้

admin 5 เมษายน 2019

เปิดผลสำรวจ “เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ” พบ […]