‘สิทธิเด็ก’ เรื่องของเด็กตัวเล็กที่ไม่ควรมองข้าม

วาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก อธิบายว่า ‘เด็ก’ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน หรือเด็กที่ใดๆ ก็ตาม ก็ล้วนเป็น ‘มนุษย์’ เช่นเดียวกัน แต่ละคนจึงย่อมมีสิทธิเฉกเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จึงต้องส่งเสริมและคุ้มครองในสิทธิเด็กที่มีอยู่อย่างเคารพ โดยสิทธิฯ ดังกล่าวได้รับการรับร้องผ่านกฎหมายทั้งในระดับโลกและประเทศ

โดยหากกล่าวถึงสิทธิเด็กในแง่ทั่วไป แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มสิทธิทั่วไปที่เด็กควรได้รับ และกลุ่มสิทธิสำหรับกลุ่มเด็กที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

กลุ่มสิทธิทั่วไปที่เด็กควรได้รับ คือ เด็กทุกคนต้องได้รับการส่งเสริมการพัฒนาให้เป็นไปตามช่วงวัยพัฒนาการ และจะต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

กลุ่มสิทธิเด็กที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เช่น เด็กที่ถูกทารุณ ได้รับความรุนแรง หรือเด็กที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ซึ่งกลไกของกฎหมายได้ให้สิทธิโอกาสในการพิจารณา และช่วยฟื้นฟูพฤติกรรมเด็ก เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเปลี่ยนทัศนคติความคิดจนกลับมาอยู่ในสังคมได้โดยไม่กลับเข้าไปกระทำความผิดอีก

ด้านสิทธิตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Right of the Child) ที่บังคับใช้ในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 มีทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่

1.สิทธิในการมีชีวิต คือสิทธิของเด็กที่คลอดออกมาแล้วจะต้องมีชีวิตอยู่รอดอย่างปลอดภัย อนุสัญญาฯ กำหนดว่ารัฐภาคีจะต้องรับรองว่าเด็กทุกคนมีสิทธิติดตัวมาตั้งแต่เกิด และต้องประกันอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ให้มีการอยู่รอดและพัฒนาของเด็ก

2.สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง เป็นสิทธิที่เด็กได้รับปกป้องคุ้มครองจากการทารุณกรรมทุกรูปแบบ เช่น การทารุณกรรมทางร่างกาย จิตใจ และทางเพศ ซึ่งรวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การค้าประเวณีเด็ก การขายเด็ก การนำเด็กไปใช้ขอทาน ไม่ว่าจะโดยบิดา มารดา หรือผู้ใดก็ตาม นอกจากนี้ เด็กที่ลี้ภัยจากอันตรายเข้ามาในประเทศของรัฐภาคี จะต้องได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือ สำหรับ ‘เด็กพิการ’ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ก็ย่อมมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตที่ดีอย่างมีศักดิ์ศรี และได้รับการส่งเสริมให้พึ่งพาตนเองได้

3.สิทธิในด้านพัฒนาการ เด็กทุกคนจะได้รับสิทธิให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับพัฒนาการ ร่างกาย จิตใจ สังคม รวมถึงความพึงพอใจและความสุข เช่น การมีส่วนร่วมในกิจกรรมครอบครัวในโรงเรียน หรือสังคมที่เด็กอยู่ได้อย่างมีความสุข มีโอกาสเล่น พักผ่อน รับข้อมูลข่าวสารอย่างมีอิสระในการคิดและแสดงออก โดยได้รับการกล่อมเกลาทางด้านจิตใจ ความรู้ ความคิดที่เหมาะสมกับวัย และที่สำคัญที่สุดก็คือเด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี

4.สิทธิในการมีส่วนร่วม เป็นสิทธิที่ให้ความสำคัญกับการแสดงออกทั้งในด้านความคิดและการกระทำของเด็ก ในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่อาศัยอยู่ รวมทั้งสิทธิในการปกป้องเรียกร้องผลกระทบที่เกิดกับชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก ด้วยการอนุญาตให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตนเองและสามารถแสดงความคิดเห็นโดยไม่กระทบสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น

หากถามว่า เด็กในสังคมไทยปัจจุบันได้รับการส่งเสริมและคุ้มครองเพียงพอหรือไม่ ผอ.มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ให้คำตอบว่า ปัจจุบันสิทธิเด็กในสังคมไทยได้รับการส่งเสริมและคุ้มครองมากขึ้น มีการตั้งหน่วยงานรัฐ มีกลุ่มและองค์การเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการคุ้มครองมากขึ้น แต่หากมองในแง่เชิงคุณภาพยังคงต้องมีการปรับปรุงอีกหลายประเด็น อาทิ การศึกษา หรือเชื้อชาติของเด็กผู้ลี้ภัย เป็นต้น

“การรับรู้และเข้าใจเรื่องสิทธิเด็ก จึงเป็นไม่ใช่เรื่องที่ควรนิ่งเฉย แต่ผู้ใหญ่ทุกคนควรหันมาตระหนัก และให้ความสำคัญอย่างจริงจัง” วาสนากล่าวย้ำ

เพราะแม้จะมีข้อบังคับออกมาคุ้มครองมากขึ้น แต่การส่งเสริมให้บริการเหล่านี้เข้าถึง ‘กลุ่มเด็ก’ ยังจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่อยู่รอบตัวเด็ก โดยเฉพาะ ‘พ่อแม่’ ผู้เป็นกลไกเริ่มต้นในการดูแลปกป้องบุตรของตน…

เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th

บทความที่เกี่ยวข้อง

สร้างของเล่นพัฒนาเด็กพิการ‬

admin 23 กุมภาพันธ์ 2019

การเล่นเป็นกระบวนการการพัฒนาของร่างกาย จิตใจ สติปัญญา แ […]

ใช้ “นิทาน” ช่วยพัฒนาการเด็กออทิสติก

admin 23 กุมภาพันธ์ 2019

นางสกุลศรี บุญโชติอนันต์ คณะทำงานโครงการนิทานสร้างได้ ก […]

ห้ามใช้ “มือถือ-แอปฯ” เลี้ยงลูกต่ำกว่า 3 ขวบ สมองไม่จัดลำดับเรียนรู้

admin 23 กุมภาพันธ์ 2019

พญ.พรรณพิมล วิปุรากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจ […]