หมากแตก ใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน

ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและส่งเสริมการจัดการแหล่งทรัพยากรนั้น จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน ถ้าปราศจากสำนึกและความร่วมมือของคนในชุมชน เพราะการหวังพึ่งคนนอกหรือหน่วยงานต่างๆจากภายนอกเพียงอย่างเดียวนั้น จะช่วยในการทำงานในระยะเริ่มต้น แต่การทำงานอย่างต่อเนื่องจนบรรลุผลนั้น จำเป็นต้องอาศัยพลังของคนในชุมชนจึงจะสามารถรักษาและพัฒนาแหล่งทรัพยากรไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้อย่างยั่งยืน ปลูกยารักษาป่าในวันนี้ มูลนิธิสุขภาพไทยขอแนะนำไม้ท้องถิ่นที่เป็นสมุนไพรใช้ได้หลายส่วนด้วยกัน ตั้งแต่รากใช้แก้ไข้มาลาเรีย ไปจนถึงผลซึ่งนอกจากช่วยแก้ลม อาการจุกเสียดแล้ว ยังสามารถสกัดผลเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้อีกด้วย สมุนไพรที่ว่านี้ก็คือ กระทงลาย หรือคนอีสานเรียกขานกันว่า”หมากแตก”

ชื่อท้องถิ่น หมากแตก
ชื่อสามัญ กระทงลาย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Celastrus paniculata Willd.

ลักษณะทั่วไป
ไม้เถา ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปวงรีหรือวงกลมแกมขนาน ดอกเป็นดอกช่อออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ กลีบดอกมีสีเขียว ผลแห้ง แตกได้ รูปทรงกลมหรือรูปไข่ เมล็ดมีเยื่อสีน้ำตาลแดง เกิดตามป่าดงดิบและป่าโปร่งทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

แหล่งที่พบ ป่าโคก

การใช้ประโยชน์
ราก แก้ไข้มาลาเรีย แก่นรักษาวัณโรค ผลแก้ลม จุกเสียด บำรุงโลหิต ผลหมากแตกสามารถนำไปสกัดน้ำมัน ทำเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้

การขยายพันธุ์

ขั้นตอนการขยายพันธุ์
1. เก็บผลหมากแตกที่สุกและแก่เต็มที่จะมีลักษณะผลสีน้ำตาล อมแดง ผลแก่เต็มที่เมล็ดจะแตกออก และเก็บเมล็ดนำมาแช่น้ำประมาณ 2-3 วัน เนื้อที่หุ้มเมล็ดก็จะเปื่อยออกเหลือเฉาะเมล็ด
2. นำเมล็ดที่ได้นำมาล้างน้ำให้สะอาดและนำมาตากแดดให้แห้งประมาณ 2-3 แดด
3. เตรียมกระบะเพาะด้วยไม้ทำคอกไม้สี่เหลี่ยม ภายในกระบะเพาะประกอบวัสดุเพาะในส่วนผสมของแกลบสุก ดินร่วนปนทราย ขุยมะพร้าว เศษซากใบไม้ที่เน่าเปื่อยได้ง่ายนำมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน
4. นำเมล็ดหมากแตกที่ตากแห้งแล้วนำมาหว่านบนวัสดุเพาะภายในกระบะเพาะและนำเศษซากใบไม้แห้งสับเป็นชิ้นเล็กๆนำมาคลุมทับเมล็ดหมากแตกบางๆอีกครั้งหนึ่ง
5. รดน้ำทุกครั้งที่สังเกตเห็นว่าวัสดุเพาะแห้งไม่จำเป็นต้องรดน้ำทุกวันเพาะจะทำให้เมล็ดเน่า
6. สถานที่ในการเตรียมกระบะเพาะชำกล้าไม้จะต้องเป็นที่ร่มรำไร ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 30-45 วัน เมล็ดก็จะเริ่มงอก
7. เมื่อต้นกล้ามีการเจริญเติบโตมีความสูงของลำต้นประมาณ 5 เซนติเมตรมีใบจริง 2-3 ใบ ให้ทำการย้ายต้นกล้าใส่ถุงเพาะชำ รดน้ำบำรุงรักษาจนกว่าต้นกล้าจะเจริญเติบโตแข็งแรงและนำไปเพาะปลูกต่อไป

สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ 2537
สงวนลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์ ถ่ายสำเนา หรือคัดลอกข้อความ หรือรูปที่ปรากฏในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดในเอกสารนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากมูลนิธิสุขภาพไทย เป็นลายลักษณ์อักษร

บทความที่เกี่ยวข้อง