อึ้ง!โจ๋ไทยฮิตหุ่นการ์ตูนพึ่ง’ยารีดไขมัน’เสี่ยงถึงตาย

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระแสนิยมของวัยรุ่นไทย นักเรียน นักศึกษาจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้หญิงและหญิงข้ามเพศมีค่านิยมที่จะต้องมีรูปร่างผอมมาก เพรียวคล้ายการ์ตูนญี่ปุ่นจึงจะเรียกว่ามีรูปร่างดี เพื่อที่จะสวมใส่เสื้อผ้าทันสมัยซึ่งมีขนาดเล็กมากได้ ทำให้วัยรุ่นที่อ้วน หรือเพียงแค่รู้สึกว่าตัวเองอ้วนหันมา ลดน้ำหนักทางลัด ไม่ออกกำลังกายสลายไขมัน แต่เข้าสถานบริการลดความอ้วน ซึ่งมีเปิดบริการในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือใช้ยาลดน้ำหนักอย่างผิดวิธีจากการบอกต่อปากต่อปาก เช่น สั่งซื้อยาทางอินเตอร์เน็ต จากร้านขายยา หรือสถานบริการลดความอ้วน หรือใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น อาหารเสริม ชา กาแฟ น้ำผลไม้ ที่โฆษณาว่ามีสรรพคุณช่วยลดน้ำหนัก ทำให้ได้รับผลข้างเคียงหรือพิษภัยจากการลักลอบใส่ยาลดความอยากอาหารดังกล่าว จนบางรายถึงกับเสียชีวิต เช่น ได้รับยาเกินขนาด มีโรคประจำตัว และห้ามใช้ยาประเภทนี้

“ยาลดความอ้วนที่ใช้กันในปัจจุบันมี 2 กลุ่มคือ ยาที่ออกฤทธิ์ที่ระบบลำไส้ ยับยั้งการดูดซึมของสารอาหาร และยาที่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง เพื่อลดความอยากอาหาร กินแล้วไม่หิวง่าย เช่น เฟนฟลูรามีน (Fenfluramine), เด็กซ์เฟนฟลูรามีน (Dexfenfluramine), ไซบูทรามีน (Sibutramine) ซึ่ง อย.ได้เพิกถอนการขึ้นทะเบียนยาทุกตำรับที่มีส่วนผสมของยาชนิดนี้ตั้งแต่ปี 2543 และปี 2553 ตามลำดับ ขณะนี้ในประเทศไทยไม่มีการใช้ยาดังกล่าวแล้ว เนื่องจากมีข้อมูลการใช้ยาไซบูทรามีนในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และการเกิดหลอดเลือดในสมองแตกได้ แต่ที่เป็นปัญหาขณะนี้ พบว่ามีการลักลอบเข้ามาทั้งสารเคมีหรือเป็นตัวยาในรูปอาหารเสริมมีสรรพคุณลดน้ำหนัก จึงขอให้ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อเด็ดขาด” ภก.ประพนธ์กล่าว และว่า นอกจากนี้ยังพบการใช้ยาเฟนเตอร์มีน (Phentermine) ที่จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ซึ่งห้ามผลิต ขาย นำเข้าและส่งออก แต่ต้องดำเนินการโดย อย.เท่านั้น เพราะขณะนี้องค์การสหประชาชาติได้แนะนำประเทศสมาชิกเฝ้าติดตามการใช้ยาลดความอ้วนกลุ่มนี้ เนื่องจากพบว่า มีการใช้ยาดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ มีรายงานการใช้ยาในทางที่ผิด และพบว่าหาซื้อยาได้จากตลาดมืด

ภก.ประพนธ์กล่าวอีกว่า คนที่ใช้ยาลดความอ้วนขณะนี้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่กลุ่มคนอ้วนจริง เพราะเมื่อวัดค่าดัชนีมวลกาย (บีเอ็มไอ) มักพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ต้องการลดความอ้วนเพื่อเลียนแบบดารา หรือต้องการทำตามเพื่อน ผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากการใช้ยาลดความอ้วน คือ นอนไม่หลับ เวียนศีรษะ วิตกกังวล ปวดศีรษะ ใจสั่น ตาพร่า ท้องผูก หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดการติดยาได้ ที่สำคัญยาลดความอ้วน ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า เนื่องจากฤทธิ์ของยาจะกระตุ้นอาการซึมเศร้าให้รุนแรงขึ้น และห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี เนื่องจากเป็นวัยกำลังเจริญเติบโต ยาอาจมีผลต่อการเจริญพันธุ์ในวัยหนุ่มสาว รวมทั้งห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ด้วย

ที่มา : มติชน 17 ก.พ.57

บทความที่เกี่ยวข้อง