เกษตรกรไทยเสี่ยง’สารพิษตกค้าง’

เกษตรกรไทยเสี่ยงจากสารพิษกำจัดศัตรูพืชตกค้างในร่างกาย 32% ขณะที่ภาพรวมอัตราเสียชีวิตสูงกว่าโรคไข้เลือดออก แพทย์ยัน ส่งผลเกิดโรคร้าย แนะทบทวนหลักเกณฑ์การใช้และเพิกถอน ขณะที่ปริมาณนำเข้าสารเคมีปี 2556 สู่งกว่า ปี 2550 กว่า 28%

วานนี้(20 ก.พ.) โครงการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและพัฒนากลไก เพื่อยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(Thailand Pesticide Alert Network : Thai-PAN) จัดประชุมวิชาการเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช “สร้างสังคมไทยให้ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช”

นพ.พิบูล อิสสระพันธุ์ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ระหว่างปี 2550-2555 ซึ่งวิเคราะห์สาเหตุการเจ็บป่วยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ ออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต ฮาโลจีตเนต สารกำจัดแมลง สารกำจัดวัชพืชและเชื้อรา สารเบื่อหนู และสารกำจัดศัตรูพืช พบว่าตลอด 6 ปี ประเทศไทยมีผู้ป่วยถึง 44,129 ครั้ง โดยค่าเฉลี่ยอัตราป่วยต่อแสนประชากร อยู่ที่ 15.82 ในขณะที่อัตราการเสียชีวิต อยู่ที่ 1.19

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบอัตราการตายของคนไทย ระหว่างสาเหตุจากสารกำจัดศัตรูพืชกับไข้เลือดออก พบว่า สัดส่วนการตายด้วยสารกำจัดศัตรูพืชเฉลี่ยสูงกว่า โดยในปี 2554 สูงถึง 13.2 เท่า ของการตายด้วยโรคไข้เลือดออก

อย่างไรก็ตามจากรายงานตัวเลขอัตราการตายในข้างต้นนั้น เมื่อแยกสาเหตุของการเกิดพิษ ใน 6,701 ราย พบว่า เกิดจากอุบัติเหตุจากสารกำจัดศัตรูพืช 1,523 ราย อุบัติเหตุจากสารเคมีอื่นๆ 86 ราย ทำร้ายตนเองจากสารกำจัดศัตรูพืช 5,005 ราย และทำร้ายตัวเองจากสารเคมีอื่นๆ 87 ราย ดังนั้นแนวโน้มการเจ็บป่วยจึงน้อยกว่าการตั้งใจทำร้ายตัวเองซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกสารกำจัดวัชพืชในการฆ่าตัวตาย

“โดยสรุปผู้ป่วยที่ถูกส่งตัวมารักษายัง โรงพยาบาล 1 ใน 5 สาเหตุเกิดจากการทำงาน ในขณะที่ 4 ใน 5 เกิดจากความพยายามในการฆ่าตัวตาย แม้ว่าจากข้อมูลจะพบว่าอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าการได้รับสารพิษจากอุบัติเหตุและการทำงาน แต่หากดูผลการตรวจเลือดเกษตรไทย ระหว่างปี 2554-2556 ก็ยังพบว่าปริมาณจำนวนผู้ที่มีความเสี่ยงยังคงอยู่ในระดับที่คงที่ คือประมาณ 32% ของผู้ที่เข้ารับการตรวจเลือดทั้งหมด” นพ.พิบูลกล่าว

ขณะที่ นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากข้อมูลทางวิชาการระบุว่าโรคที่สัมพันธ์กับสารเคมีทางการเกษตร ส่งผลให้เกิดโรครุนแรงจำนวนมาก โดยเฉพาะมะเร็งสมอง มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง สมองเสื่อม หอบหืด ทารกในครรภ์ไม่เติบโต แท้งลูก และเบาหวาน ดังนั้นจึงชี้ได้ว่าผลกระทบ ต่อสารกำจัดศัตรูพืชนั้น ส่งผลกระทบ ต่อชีวิตของคนเราอย่างชัดเจน จึงเสนอว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาทบทวนเกณฑ์การห้ามใช้/เพิกถอน ทะเบียนวัตถุอันตรายทางเกษตรใหม่

ด้าน นายศักดิ์เกษม สุนทรภัทร์ กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปริมาณการนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืช ในปี 2556 แบ่งเป็น สารกำจัดแมลง 5.8 พันตัน น้อยกว่าปี 2550 ประมาณ 32% สารป้องกันและกำจัดโรคพืช 6.1 พันตัน น้อยกว่าปี 2550 ประมาณ 7% สารกำจัดวัชพืช 7.3 หมื่นตัน มากกว่าปี 2550 ประมาณ 47% ขณะที่สารอื่นๆ เช่น สารชีวอินทรีย์กำจัดแมลง สารกำจัดไร สารกำจัดหนู 1.8 พันตัน น้อยกว่าปี 2550 ประมาณ 27% โดยรวมปี 2556 ประเทศไทยนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืช 8.7 หมื่นตัน มากกว่าปี 2550 ประมาณ 28%

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 21 ก.พ.57

บทความที่เกี่ยวข้อง

ผักผลไม้มากกว่าครึ่ง! มีสารกำจัดวัชพืชตกค้างเกินค่ามาตรฐาน

admin 6 เมษายน 2019

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีจ […]

เผยผลการตรวจสอบสารพิษตกค้างผักผลไม้ ประจำปี 2559

admin 6 เมษายน 2019

วันนี้ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) […]

สารเคมีตกค้างในพริกสูงสุด ไทยแพนจี้ ก.เกษตรฯ ปฏิรูปตรา Q

admin 6 เมษายน 2019

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ […]