‘เด็กไทยเนือยนิ่ง’ รัฐผุดกิจกรรมกระตุ้น

นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเมื่อ(6 ม.ค.)ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุน สสส.ได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (Physical Activity Promotion Plan) โดยตั้งเป้าหมายให้คนไทยมีกิจกรรมการทางกายเพิ่มขึ้นเป็น 80% ในปี 2563 จากที่ปี 2557 คนไทยมีกิจกรรมทางกายเพียง 67.6% ทั้งยังตั้งเป้าลดอัตราการชุกของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนลง 10%

โดยการทำงานในปี 2558 เน้นการเพิ่มกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับทุกช่วงวัย การเพิ่มพื้นที่สุขภาวะในโรงเรียน สถานประกอบการ ชุมชน สาธารณะ ทางสัญจร และลดเวลาของพฤติกรรมเนือยนิ่งจากการนั่ง การอยู่หน้าจอ และการเดินทาง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 6-14 ปี ซึ่งปัจจุบันถูกคุกคามจากภาวะอ้วนลงพุง และยังมีกิจกรรมทางกายลดลงต่อเนื่อง

ขณะที่มีเด็กถึง 41% ที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง คือ ใช้เวลาอยู่หน้าจอโทรทัศน์ถึง 6 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนั้นยังมีพฤติกรรมเนือยนิ่งอื่นๆ อาทิ นั่งเรียนทั้งในเวลาและเรียนเสริมนอกเวลา เล่นเกม เล่นโทรศัพท์มือถือ รวม 13.5 ชั่วโมงต่อวัน

นายยงยุทธ กล่าวอีกว่า จากการวิจัยพบว่าหากเด็กในวัยเรียนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ จะส่งผลต่อพัฒนาการทุกด้าน ทั้งด้านสมอง อารมณ์ และการอยู่ร่วมกันในสังคม ดังนั้น สสส.จึงเน้นยุทธศาสตร์ไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชน โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายในการดำเนินงาน 2 โครงการ ได้แก่
1. โครงการเพิ่มกิจกรรมทางกายในเด็ก (Active Play) ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ ขยายสนามเด็กเล่นแบบ Brain based สู่ศูนย์เด็กเล็กตั้งเป้า 200 แห่ง สร้างโรงเรียนส่งเสริมกิจกรรมทางกายต้นแบบ 100 แห่ง สร้างเครือข่ายโรงเรียนรักเดิน 20 แห่ง

2.โครงการสำรวจการมีกิจกรรมทางกายของเด็กไทย (Report Card) เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ กว่า 40 ประเทศทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะสรุปผลสำรวจได้ในปี 2559 เพื่อนำผลการสำรวจไปใช้ขับเคลื่อนนโยบายร่วมกับรัฐบาล เพราะปัญหาขาดกิจกรรมทางกายของเด็ก เป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ที่สังคมยังไม่ตระหนัก และต้องอาศัยความร่วมมือในการทำงานระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง

นอกจากนั้น คณะกรรมการกองทุน สสส.ยังเห็นชอบยุทธศาสตร์การเพิ่มพื้นที่สร้างเสริมกิจกรรมทางกายในชุมชนเมือง ได้แก่ โครงการเมืองเดินดี และโครงการลานกีฬาพัฒน์ เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงคำนึงถึงการพัฒนาคนและชุมชนแออัด ให้มีสุขภาพกายที่แข็งแรงและสุขภาพใจที่ดี มีกำหนดพื้นที่นำร่อง 2 แห่ง ได้แก่ ลานกีฬาพัฒน์ชุมชนการเคหะคลองจั่น และชุมชนใต้ทางด่วนอุรุพงษ์

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 7 ม.ค.2558

บทความที่เกี่ยวข้อง