เผยผลการตรวจสอบสารพิษตกค้างผักผลไม้ ประจำปี 2559

วันนี้ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) โดยนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน ได้แถลงผลการตรวจสารพิษตกค้างในผักและผลไม้รอบที่ 2 ประจำปี 2559 หลังจากสุ่มเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ที่นิยมบริโภค 16 ชนิดระหว่างวันที่ 23-29 สิงหาคม 2559 ได้แก่ พริกแดง กะเพรา ถั่วฝักยาว คะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี แตงกวา มะเขือเปราะ และมะเขือเทศ และ ผลไม้ 6 ชนิด ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง มะละกอ แตงโม แคนตาลูป ฝรั่ง และแก้วมังกร รวมทั้งสิ้น 158 ตัวอย่าง จากห้างโมเดิร์นเทรด 3 ห้างหลัก ได้แก่ บิ๊กซี แมคโคร เทสโก้โลตัส และตลาดค้าส่ง 3 ตลาด ได้แก่ ตลาดไท ตลาดปฐมมงคล จ.นครปฐม และตลาดศรีเมือง จ.ราชบุรี อีกทั้งได้เก็บตัวอย่างผักผลไม้ที่ติดฉลากปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์จากห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่ง อาทิ กูร์เมต์มาร์เก็ต ท็อปส์ โฮมเฟรชมาร์ท แม็กซ์แวลู วิลล่ามาร์เก็ต เลมอนฟาร์ม โกลเด้นเพลส ฟู้ดแลนด์ โดยส่งวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างแบบ Multi Residue Pesticide Screen (MRPS) พบว่าผักและผลไม้โดยรวมมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน (MRL) ถึง 56% (ของตัวอย่างที่เก็บทั้งหมด 158 ตัวอย่าง)

นางสาวปรกชลเปิดเผยว่า แหล่งจำหน่ายที่พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานมากที่สุดคือผักและผลไม้จากห้างโมเดิร์นเทรดเจอตกค้างมากสุดถึง 70.2% โดยเทสโก้โลตัสพบไม่ปลอดภัย 12 จาก 16 ตัวอย่าง รองลงมา ได้แก่ แมคโคร 11 จาก 16 ตัวอย่าง บิ๊กซี 10 จาก 15 ตัวอย่าง ส่วนตลาดค้าส่งพบตกค้างเกินมาตรฐาน 54.2%โดยตลาดไทพบ 10 จาก 16 ตัวอย่าง ตลาดปฐมมงคล 9 จาก 16 ตัวอย่าง และตลาดศรีเมือง 7 จาก 16 ตัวอย่าง“ตลาดศรีเมืองมีโครงการที่น่าสนใจ กล่าวคือส่งเสริมเกษตรกรให้พัฒนาการผลิตที่ปลอดภัย มีอาคารผักผลไม้ที่ปลอดภัยเพื่อรองรับผลผลิตดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ทำให้พบการตกค้างน้อยกว่าแหล่งจำหน่ายอื่นอย่างเห็นได้ชัด”

สำหรับผักที่พบสารพิษตกค้างเกินค่า MRL มากที่สุด คือ คะน้า 10 จาก 11 ตัวอย่าง ลำดับรองลงมาได้แก่พริกแดง 9 จาก 12 ตัวอย่าง ถั่วฝักยาวและกะเพราพบ 8 จาก 12 ตัวอย่าง ผักบุ้ง 7 จาก 12 ตัวอย่าง มะเขือเปราะ 6 จาก 11 ตัวอย่าง แตงกวา 5 จาก 11 ตัวอย่าง มะเขือเทศ 3 จาก 11 ตัวอย่าง ในขณะที่กะหล่ำปลีและผักกาดขาวปลีพบน้อยที่สุดเพียง 2 จาก 11 และ 12 ตัวอย่างตามลำดับ สอดคล้องกับผลการเฝ้าระวังของไทยแพนตลอดหลายปีที่ผ่านมา ส่วนผลไม้ที่พบสารพิษตกค้างเกินค่า MRL มากที่สุด คือ ส้มสายน้ำผึ้ง 8 จาก 8 ตัวอย่าง รองลงมา ได้แก่ แก้วมังกร 7 จาก 8 ตัวอย่าง ฝรั่ง 6 จาก 7 ตัวอย่าง มะละกอและแตงโม 3 จาก 6 และ 7 ตัวอย่างตามลำดับ และแคนตาลูปพบ 1 จาก 7 ตัวอย่าง

ผลการตรวจผักที่ได้รับตรารับรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบสารพิษตกค้างเป็นจำนวนมากเช่นกัน โดยฉลากสินค้า Q พบการตกค้างเกินมาตรฐาน 16 จาก 26 ตัวอย่างหรือ 61.5% ซึ่งสูงกว่าการตรวจพบในการสำรวจเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา (57%) ส่วนผักผลไม้ที่ติดฉลากว่าเป็นสินค้าปลอดภัยโดยไม่มีตรารับรองมาตรฐานพบเกินมาตรฐาน 5 จาก 10 ตัวอย่าง

ผักและผลไม้ที่มีตรารับรอง Organic Thailand ซึ่งกำกับดูแลโดยมกอช.พบสารพิษตกค้างเกินค่า MRL2 จาก 10 ตัวอย่าง ส่วนตรารับรองอินทรีย์อื่นพบใกล้เคียงกัน คือพบ 2 จาก 9 ตัวอย่าง ในขณะที่สินค้าที่ระบุว่าเป็นผักและผลไม้อินทรีย์ที่ขายในห้างต่างๆ ซึ่งไม่แสดงตรารับรองมาตรฐานนั้น พบสารพิษตกค้างเกินค่า MRL จำนวน 4 ตัวอย่างจากจำนวนที่สุ่มตรวจ 8 ตัวอย่าง

“สิ่งที่น่าตระหนกอย่างยิ่งคือการค้นพบว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตามรายชื่อวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งยกเลิกการใช้แล้ว ได้แก่ ไดโครโตฟอส เอ็นโดซัลแฟน เมทามิโดฟอส และโมโนโครโตฟอสรวมทั้งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่กรมวิชาการเกษตรไม่อนุญาตทะเบียน 2 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน และเมโทมิล ตกค้างอยู่ในผลผลิตรวม 29 จาก 158 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 18.4%” นางสาวปรกชลกล่าว

นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากกลุ่มกินเปลี่ยนโลกซึ่งเป็นกลุ่มรณรงค์ประเด็นอาหารร่วมกับไทยแพนได้เรียกร้องให้รัฐบาลหยิบยกประเด็นความปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้กลายเป็นวาระสำคัญของประเทศ เพราะในญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปพบการตกค้างของสารพิษเกินมาตรฐานในระดับ 3-5% เท่านั้น พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิรูประบบรับรองมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)อย่างเร่งด่วน รวมทั้งยุติความพยายามในการผลักดันมาตรฐานเกษตรอินทรีย์โดยทันทีเพราะไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าจะทำให้ตรารับรองที่หน่วยงานกำกับดูแลอยู่จะมีความปลอดภัยกว่าสินค้าทั่วไปในท้องตลาดได้แต่อย่างใด

ส่วนกรณีการพบสารต้องห้ามในผักและผลไม้นั้น นางสาวกิ่งกรกล่าวว่า “เป็นบทบาทหน้าที่ของนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรคนใหม่ต้องดำเนินการ โดยควรร่วมกับกองบังคับการปราบปรามคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.)ใช้หลักฐานจากไทยแพนเพื่อสืบสวนย้อนกลับจับกุมผู้ครอบครองและจำหน่ายสารพิษดังกล่าวมาลงโทษโดยเร็ว”

“กลุ่มผู้บริโภคจะติดตามการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆข้างต้นอย่างใกล้ชิด และพร้อมจะร่วมมือกับไทยแพนเพื่อใช้มาตรการทางกฎหมายและการรณรงค์กับผู้บริโภค ในการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรและอาหารให้ปลอดภัยมากขึ้นต่อไป” นางสาวกิ่งกรกล่าว

ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มที่
http://www.thaipan.org/node/847

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : นางสาว ปรกชล อู๋ทรัพย์
โทรศัพท์ 089-8955173, 02-9853837-8 อีเมลprokchol@biothai.net

………..

ที่มา : เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)
6 ก.ค.2559

บทความที่เกี่ยวข้อง