เยียวยาใจที่ซึมเศร้า….ด้วยรักและแบ่งปัน

“เราก็ไม่ได้คาดหวังว่า แรงกายแรงใจที่เราช่วยเพียงช่วงเวลาไม่เท่าไรนี้ จะแก้ปัญหาได้หมด แต่ทุกๆ คนในสังคมก็ต้องช่วยกันเพราะเราต่างก็เป็นสมาชิกของสังคม….”

จากความเครียดที่สั่งสมกับชีวิตที่พลิกผัน ทำให้ หลิง – สุวรัชน์ กนกกันฑพงษ์ ต้องเผชิญกับภาวะโรคซึมเศร้าอย่างไม่ทันตั้งตัว ซึ่งกว่าที่เธอจะฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับมาเต็มร้อยได้นั้นต้องอาศัยเวลาและการเยียวยาหลากหลายวิธี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การเข้ามาเป็นอาสาสมัครของโครงการ

คุณหลิงเล่าให้ฟังว่า รู้จักโครงการนี้จากการไปฟังเสวนาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตอย่างไรให้มีความสุข ที่เสมสิกขาลัยจัดขึ้น ซึ่งวิทยากรในวันนั้นคือพระไพศาล วิสาโล พระนักคิดนักเขียนที่เธอชื่นชอบ

“วันนั้นท่านได้พูดถึงการทำประโยชน์ให้สังคม ว่าทำได้หลายอย่าง แล้วท่านยกตัวอย่างโครงการนวดเด็กนี้ขึ้นมา เราก็สนใจ เพราะช่วงนั้นเราเองเริ่มแข็งแรงขึ้นแล้ว หลังจากที่รักษาโรคซึมเศร้ามาได้ระยะหนึ่ง จึงคิดว่าอยากจะแบ่งปันสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เรามีให้กับสังคมบ้าง”

“ตอนนั้นเรามาเพราะอยากแบ่งปันจริงๆ ไม่ได้คาดหวังว่าจะให้เด็กมาช่วยเยียวยาอะไรเรา แต่พอทำไป ๆ มันเป็นเหมือนเส้นคู่ขนาน คือเราช่วยเด็ก เด็กช่วยเรา เพราะตอนนั้นตัวเราดีขึ้นแล้วก็จริง แต่ถามว่าเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ไหม ไม่ อาจแค่ 80 ซึ่งพอทำๆ ไปจาก 80 ที่เรามีมันกลายเป็น 100 และเรารู้สึกได้เลยว่าเราเข้มแข็งขึ้นจากการมาทำตรงนี้

บททดสอบแรกที่ได้จากการเป็นอาสาสมัครที่นี่คือ ความอดทน และลดอัตตา
“ช่วงแรกที่มาทำตรงนี้ บอกตรงๆ ว่า หงุดหงิดมาก (หัวเราะ) เพราะคิดว่าจะได้นวดเด็กเล็กๆ แต่เรากลับต้องมาวิ่งไล่เด็กอายุขวบกว่าๆ ซึ่งแข็งแรงมาก วิ่งไม่หยุด แล้วเราอายุจะสี่สิบแล้ว กลับมาบ้านนี่ แป๊กเลยนะ เหนื่อยมากๆ แต่พอหายเหนื่อยมันมีความสุขนะ เวลาที่เรานึกถึงภาพเขายิ้มอย่างมีความสุขที่ได้วิ่ง ได้ปีนป่ายของเล่น ความเหนื่อยมันก็หายไปกลายเป็นความรู้สึกสุข และชื่นใจเข้ามาแทน “

“การทำอะไรเพื่อคนอื่นมันทำให้เรามองตัวเองน้อยลงด้วยนะ ถามว่าเมื่อก่อนที่เราป่วย ไม่สบาย เป็นโรคซึมเศร้าเพราะอะไร เพราะเรามัวครุ่นคิดอยู่กับตัวเอง ติดยึดอยู่กับตัวเองคือคนเราทุกคนต่างอยากได้สิ่งดีๆ เข้ามาหาตัว ก็สร้างความคาดหวังขึ้นมาว่า ถ้าฉันมีสิ่งนี้ฉันจะมีความสุข ถ้าฉันมีตำแหน่ง มีเงิน มีครอบครัวที่อบอุ่น ฉันจะมีความสุข แต่ถ้าเราลดการมองตรงนี้ลง แล้วมามองว่า ความสุขตรงนั้นมันผิวเผิน มาแป๊บๆ แล้วก็ผ่านไป กับการที่เราได้แบ่งปันได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นบ้าง แม้เพียงสิ่งเล็กๆ แต่ทำแล้วมีความสุข ความสุขมันก็จะสะสมเข้ามาเรื่อยๆ พอทำไปเรื่อยๆ บุคลิก ความนึกคิด ความคาดหวัง การดำรงชีวิตของเราจะเปลี่ยนไป และพอเราได้คลุกคลีกับสภาพแวดล้อมที่ทำให้เรามีความสุข มันก็จะส่งเสริมความสุขของเราไปเรื่อยๆ อันนี้รู้สึกได้จริงๆ เพราะเพื่อนๆ หรือน้องๆ ที่มาเจอเราตอนหลังยังบอกเลยว่า ทำไมไม่กี่ปี พี่หลินดูเปลี่ยนไป จากสมัยก่อนที่ดูเคร่งเครียด จริงจังกับทุก ๆ เรื่อง หลังๆ เพื่อนจะแบบว่า เอ๊ะทำไมเห็นหน้าที่ไรอมยิ้มตลอดเวลา เหมือนคนมีความสุขตลอดเวลา

แบ่งปันเยียวยา…รักษาใจ
“คือเมื่อก่อนเราไม่ได้เป็นแบบนี้ไง แต่จะเป็นคนที่ทุ่มเททำงานแล้วก็เหมือนกดดันตัวเอง คนอื่นทำร้อยเราทำร้อยยี่สิบแบบนั้น ยิ่งทำงานในองค์กรที่ทำธุรกิจเบียร์การทำงานในองค์กรมันมีการแข่งขันสูงยิ่งกดดัน ทำอยู่ตรงนั้น 7 ปีเคยเครียดถึงขนาดต้องเข้าไปให้น้ำเกลือในโรงพยาบาลสองครั้ง จนตอนหลังเราตัดสินใจลาออก แล้วมาทำธุรกิจเสื้อผ้ากับครอบครัว ชีวิตเราเปลี่ยนแต่ความเครียดยังอยู่พอออกมาทำเอง อะไรๆ มันติดขัดไปหมดแล้วเรายังมีปัญหาครอบครัวอีกตอนนั้นเราก็ล้มไปอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งนี่เป็นผลมาจากการที่เรามองแต่ตัวเอง ไม่ได้มองคนอื่นเลยว่าเขาเป็นยังไง”

“แล้วเรารู้สึกว่า สิ่งที่ดิ้นรนมาทั้งหมดไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงเลยเรานี่โชคดีกว่าคนอีกเป็นล้านๆ คนเลยนะ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว พ่อแม่พี่น้อง ฐานะทางเศรษฐกิจเราก็ไม่ได้ลำบาก ร่างกายเราก็ครบ พอมองอย่างนี้เราสุขเลย แล้วชีวิตเราก็ดีขึ้นตามลำดับ กระทั่งได้ฟังพระอาจารย์ไพศาลพูด เราก็รู้สึกฮึดขึ้นมาว่า เรามีเยอะ เราอยากแบ่งปัน”

การทำงานตรงนี้ ยังนำมาซึ่งความเข้าใจในธรรมะมากขึ้นด้วย
“เมื่อก่อนคิดว่าธรรมะเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วมันอยู่ใกล้เรานิดเดียวอย่างเราเชื่อเรื่องกรรม เวลาเรามองเด็กกำพร้า เบื้องหลังเรารู้ว่า ครั้งหนึ่งเขาอาจเคยทำอะไรไว้ ถึงได้เกิดมาเป็นแบบนี้และหวังว่าสิ่งที่เราให้มันจะเป็นอานิสงส์ที่ทำให้เขาเข้มแข็งสามารถหยัดยืนได้ด้วยตัวเองเมื่อเขาเติบโตขึ้น และจะไม่ไปผิดซ้ำซ้อนทำให้เกิดเป็นปัญหาสังคมขึ้นมาอีก
“เราก็ไม่ได้คาดหวังว่า แรงกายแรงใจที่เราช่วยเพียงช่วงเวลาไม่เท่าไรนี้ จะแก้ปัญหาได้หมด แต่ทุกๆ คนในสังคมก็ต้องช่วยกันเพราะเราต่างก็เป็นสมาชิกของสังคม และจากที่เราได้มาสัมผัส รู้ได้เลยว่ามูลนิธิฯทำงานอย่างต่อเนื่องและใส่ใจเด็กจริงๆ”

สำหรับคนที่สนใจอยากเริ่มต้นทำสิ่งดีๆ คุณหลิงแนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องทำในเรื่องที่ยิ่งใหญ่เสมอไป แต่อาจเป็นสิ่งเล็กๆ ที่สามารถทำได้บ่อยๆ และไม่เบียดเบียนตัวเองมากนัก

“ใครถนัดแบบไหนก็ไปช่วยกัน อาจจะเริ่มจากวันเกิดตัวเองไปเลี้ยงเด็กกำพร้า ไปทำบุญ ไปทำประโยชน์ให้สังคม ซึ่งการทำทานจริงๆ ไม่ต้องควักกระเป๋าเลยก็ได้ อาจลองดูซิว่าในบ้านของเรามีอะไรที่เราไม่ได้ใช้แล้ว แต่อาจเป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้าง นำไปบริจาคก็ได้ คนละนิดคนละหน่อย ไม่ต้องคิดว่าการทำประโยชน์ต้องออกเงินอย่างเดียว พอเราทำตรงนี้เป็นนิสัย ในทางพุทธบอกว่าการทำทานเป็นกลอุบายให้เราลดละความละโมบ ลดความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน แล้วชีวิตเราจะเป็นสุขมากขึ้น ไม่ต้องไปดิ้นรนหาตำแหน่งหน้าที่การงาน หาการยอมรับ ไม่ต้องใช้กระเป๋าใบละเป็นแสน เราก็มีความสุขได้ และเป็นสุขแท้ที่อิ่มเต็มจากภายใน ที่เงินทองซื้อหาไม่ได้ ”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ของขวัญปีใหม่ ด้วยใจอาสา

admin 19 มิถุนายน 2019

ดูรายละเอียด การสมัครเป็นอาสาสร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคร […]

ทศวรรษฉลาดทำบุญ กับคุณค่าต่อสังคม

admin 19 มิถุนายน 2019

งาน 10 ปี โลก(จิต)อาสา : ทศวรรษฉลาดทำบุญกับคุณค่าต่อสัง […]