เรียนรู้ “พิษ” ในตำรายาดั้งเดิม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในตำรายาล้านนา คำว่า “ปิ๊ด” ก็คือ พิษ ซึ่งน่าจะมีความหมายเหมือนกับภูมิปัญญาท้องถิ่นอื่นๆ ที่มีความหมายถึงการออก”ฤทธิ์” ทั้งที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และหมายถึงการจัดการพิษในร่างกายด้วย

หากเทียบเคียงกับการแพทย์แผนจีนมีการกล่าวถึงยาที่ใช้รักษาแบบดั้งเดิม เรียกว่าเป็น “ตู๋เอยี้ยว” หมายถึงยาพิษ โดยนัยหมายถึง ยาทุกตัวมีพิษ จึงต้องเรียนรู้วิธีการแปรสภาพของยาก่อนนำมาใช้ เพื่อลดพิษของยา ในอีกมุมหนึ่งหมายถึงเวลาใช้ยาร่วมกันหลายๆ ชนิด นอกจากจะช่วยเสริมการออกฤทธิ์ให้ตรงเป้าหมายและเพิ่มสรรพคุณยาแล้ว หมอยาผู้ชำนาญยังรู้จะปรุงตัวยาหลายชนิดเพื่อช่วยลดพิษของยาด้วย

นอกจากนี้ในจีนยังมีคำว่า“เซียวตู๋” แปลว่า“ฆ่าเชื้อ”หรือ “ทำลายพิษ” ซึ่งหมายถึงการขจัดพิษจากโรคหรืออาการต่าง ๆ ด้วย เช่น ชะเอมเทศ หรือเรียกภาษาจีนว่า กำเช่า หรือ Liquorice Root, Glycyrrhiza uralensis Fischer สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน ราก รสอมหวาน สุขุม ค่อนข้างเย็นเล็กน้อย มีสรรพคุณระบายความร้อน ขับพิษ ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยย่อยอาหาร แก้ไอ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้อาการใจสั่น แก้ลมชัก โดยทั่วไปๆ มักจะปรุงชะเอมเทศในยาตำรับแก้ไอมีเสมหะมาก แต่ก็ยังพบสรรพคุณที่กล่าวถึง แก้พิษจากฝีแผล แก้คอบวมอักเสบ แก้พิษจากยาและอาหาร และช่วยระบายความร้อนและขับพิษได้ด้วย

“พิษ” ในตำรายาล้านนา หมายถึง “ฤทธิ์”ของยาเช่นกันแล้ว ยังอาจเป็น “สารพิษ” (toxin) หรืออาการของพิษ อาการไม่พึงประสงค์จากโรค หรือเกิดจากการใช้ยาที่ไม่ตรงกับโรค จนเกิดอาการแพ้ได้ด้วย และในหลักทฤษฎีดั้งเดิมที่อธิบายซึ่งเคยได้ยินกันเสมอ เช่น สาเหตุเกิดจากลม เรียกว่า ลมพิษ หรืออาการที่เกิดจากการกินอาหารผิดสำแดง หรือได้กินอาหารที่เป็นพิษ ล้านนาเรียกว่าได้กิน “ง้วนสาร” ก็ได้ อาการพิษจะเป็นมากหรือน้อยแล้วแต่ชนิดของโรค เช่น เป็นไข้ มีอาการปวดหัวมาก อาจเรียกว่า พิษของไข้ หรือ อาการอักเสบ ปวด บวมที่เกิดจากการเป็นฝี เป็นตุ่ม เป็นแผล เหล่านี้ เป็นผลที่เกิดจากการเจ็บป่วย

พิษยังอาจเกิดจากการถูกต้องกับสารพิษทำให้พิษเข้าสู่ร่างกาย ดังเช่นไปถูกหรือต้องกับดินโป่ง ซึ่งหมายถึงดินที่อาจมีพิษของสัตว์พิษปล่อยพิษไว้ ทำให้มีอาการเจ็บป่วย ก็เรียกว่า พิษโป่ง และในภูมิปัญญาท้องถิ่นยังคาดว่าอาจเกิดจากการถูกกระทำทางด้านไสยศาสตร์ ซึ่งมีอาการต่างๆ รวมถึงที่เกิดจากเหตุการณ์บางอย่าง เช่น การคลอดบุตรแล้วเกิดพิษในร่างกาย เรียกว่า “ออกลูกเป็นพิษ”

ในการรักษาตามภูมิปัญญาล้านนา ซึ่งนักวิชาการได้เคยรวบรวมไว้ เช่น แก้พิษ ยาห้าม หรือยับยั้ง ยาถีบ (ขจัดออก) ยาถอนพิษ ยาดับพิษ ที่มีรูปแบบยาหลากหลายมาก ตั้งแต่ ยาฝน ยาแช่ ยาอาบ ยาลูกกลอน ซึ่งแล้วแต่อาการและสาเหตุของโรค เช่น ยาแก้ไข้เด็กเป็นพิษ (อาการพิษจากไข้) เอาไส้เดือนเผาไฟแช่น้ำ เอารากผักดีด ตัด (ใส่เล็กน้อย) ใส่น้ำข้าวจ้าวกินฯ (แช่ด้วยข้าวสาร-ข้าวเจ้า เอาน้ำกิน) ยาห้ามพิษฝี (ยับยั้งการเกิดอาการรุนแรงของฝี) เอาโขงขะเหม่า หวานร่องทอง ตับเต่าน้อย เนียมระสี (เนระพูสี) หญ้าสามราก ดอกด้ายน้ำ ฝนกินฯ ยาลมเสียบพิษ (พิษจากลมที่เสียดแทง ลมทำให้เกิดอาการพิษ) ได้กินง้วนสาน สะป๊ะผีใส่ คนใส่ ป้ากหนึ่งเอารากมะโว่ รากมะกรูด รากมะนาว รากมะผาง ปิ่งสมุทร ฝนตก(ฝนลง) น้ำข้าวจ้าวกิน

  ยาพิษโป่ง และสะป๊ะ (สรรพะ) พิษตังมวลได้ เอารากหัสคืน ปัชชะเมา (พิศนาศน์) ปิ๊ดปิว (เจตมูลเพลิงแดง) ดอกคำ จันทร์ขาว แดงฝนน้ำอุ่นกินฯ ยา “ทิพพ์พระญาอยา” (เป็นยาถอนพิษ) โดยใช้ไม้สัก สนสามใบ ไม้ฝางส้ม ท้อ สุรพิษฅำ เขี้ยวงู เขืองแพงม้า หนามพุงดอ ต้อยตั่ง รากมะแว้ง และจันทน์ทั้ง 2 คือ จันทน์ขาว จันทน์แดง ทั้งหมดนี้นำมาฝนใส่น้ำสะอาดกิน ลมพิษ ให้ใช้หมากทาง 3 ยอด บอระเพ็ด 3 ยอด กระทุงหมาบ้า 3 ยอด หญ้าเยี่ยวหมู 3 ต้น หอมแดง 7 กีบ พริก 7 ลูก นำทั้งหมดนี้มาตำรวมกัน ปั้นเป็นลูกกลอนไว้รับประทานกับน้ำอุ่น จึงค่อยบรรเทาอาการจนหาย และยังพบยาระงับพิษเบื่อเมาที่เกิดจาก การกินยาผิดขนาน ให้ใช้อ้อยแดง 1 ท่อน ขนาด ยาวพอดี แบ่งเป็น 4 ส่วน ใช้ 3 ส่วน รากเถาตดหมูตดหมา แบ่งเป็น 4 ส่วน ใช้ 3 ส่วน หญ้าปากควายยาวขนาดนิ้วมือ 3 นิ้วต่อกัน ทั้ง 3 อย่าง นำไปแช่ในน้ำที่แช่ด้วยข้าวเจ้าสาร แล้วใช้เป็นน้ำยาสำหรับกิน

ยาประคบ สำหรับรักษา ผู้ที่ถูกกระทำทางไสยศาสตร์หรือถูกต้องอาถรรพ์อย่างใดอย่างหนึ่ง การรักษาให้เอา ไพล หัวข่า ขมิ้นอ้อย หมากทาง สลอดต้น เจตมูลเพลิงขาวและเจตมูลเพลิงแดง ต้นเขยตาย คนทีสอ ไม้ยาแก้ คือยาแก้ห้าต้นประกอบด้วยต้นหมูปล่อย แตงเถื่อน หนาดคำ บอระเพ็ดและดีงูหว้า ใบมะโว่ ทั้งหมดนำมาต้มแล้วรมยาให้ผู้ป่วย คือ ต้มยาให้เป็นไอน้ำให้ผู้ป่วยสูดดมเข้าไปในร่างกาย หรือใช้เป็นยาประคบตามร่างกาย ก็จะหายจากพิษคุณไสย

ภูมิปัญญาล้านนาอันหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นที่รู้จักกันในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับยาแก้พิษของหมอพื้นบ้านลำพูน ให้ใช้ ว่านรางจืดหรือต้นรางจืด กินแก้ยาเบื่อเมา แก้ลมเพลมพัด เช่น ยาฆ่าพวกแมลงต่างๆ ได้ผลดี วิธีใช้เอาหัว ฝนใส่น้ำข้าวจ้าว กลอกปากเข้าไปไม่ว่าสัตว์หรือคนเมื่อถูกยาเบื่อชนิดใดก็ตามเมื่อกินยานี้แล้ว ก็หายแล ถ้ากินเป็นประจำ (เดือนละ1-2 ครั้ง) จะช่วยถอนพิษต่างๆ ในร่างกายและเป็นยาอายุวัฒนะ อีกด้วย นอกจากนี้ในตำราใบลานตำรายาหริภุญชัยบันทึก การอาบน้ำถอนพิษ ใช้ต้มอาบหรือแช่สมุนไพรในน้ำอาบ บางทีใช้ตำรับทั้งอาบและกินไปด้วยกัน เช่น หมากผู้ หมากเมีย ส้มชื่น ใบมะเฟือง ใบมะยม หญ้าแพรก ใบมะขาม นำมาต้มอาบ 6 หม้อ แล้วต้มใบส้มกบและมะขามอาบ แก้อาการพิษได้เช่นกัน

ภูมิปัญญาพื้นบ้านเกี่ยวกับ “พิษ” มีมากมายทั่วทุกภาค หากเข้าใจว่าสิ่งรอบตัวมีพิษมีผลต่อสุขภาพ และอาการโรคบางอย่างก็ทำให้เกิดอาการพิษในร่างกายได้ เราควรสนใจศึกษาเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดนำมาใช้ประโยชน์ในโลกปัจจุบันเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยได้แน่นอน