เสลดพังพอนตัวเมีย

เสลดพังพอนตัวเมีย เป็นพืชที่พบขึ้นตามป่าและปลูกกันตามบ้าน ขึ้นได้แทบทุกที่ ทั้งในที่ร่มรำไรหรือแดดจัด แต่เมื่ออยู่ในแดดรำไร่คุณภาพเมื่อเก็บเกี่ยวเป็นวัตถุดิบทำยาจะดีกว่า ใบจะใหญ่ สีเขียวเข้ม ถ้าอยู่กลางแดดใบจะเล็ก และงามแค่หน้าฝน ช่วงท้ายฝนถ้าไม่ได้น้ำใบจะร่วงหมด เสลดพังพอยตัวเมียที่อยู่ในแดดจัด เมื่อเก็บไปตากแห้งใบจะมีสีเหลืองไม่สวย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clinacanthus nutans (Burm.f) Lindau
ชื่ออื่น : พญาปล้องคำ, พญายอ, พญาปล้องทอง, ผักมันไก่, ผักลิ้นเขียด

ลักษณะ
ไม้พุ่มแกมเลื้อย สูง 1-3 เมตร ลำต้น ใบ และกิ่งก้านสีเขียว ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงกันข้าม รูปใบรีแคบ ปลายและโคนต้นใบแหลม ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อย 3-6 ดอก สีแดงอมส้ม กลีบดอกเป็นหลอด ปลายแยก

สรรพคุณเด่น
แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย เริม งูสวัด อีสุกอีใส

วิธีใช้ในครัวเรือน
ใช้ใบเสลดพังพอนตัวเมีย 10-15 ใบ ตำผสมเหล้าหรือแอลกอฮอล์ ใช้สำลีชุบน้ำยาทาบ่อยๆ

การปลูก การดูแล
เสลดพังพอนตัวเมีย ใช้กิ่งปักชำ ให้เลือกกิ่งที่สมบูรณ์แข็งแรง ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป ตัดกิ่งให้ยาวคืบเศษ มีตาติดอยู่ 2-3 ตา ลิดใบส่วนล่างออกเหลือใบส่วนบนไว้บ้างเพื่อช่วยในการเกิดราก ปักกิ่งชำในถุงเพาะชำให้ฝังดิน 1 ข้อ หรือลึกประมาณ 3 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่ม เมื่อกิ่งชำแตกรากและใบอ่อน อายุประมาณ 20-30 วัน ก็ย้ายปลูกได้

เหมาะจะปลูกเป็นพืชแซมเพื่ออาศัยร่มเงาของไม้ใหญ่หรือไม้ผล ปลูกในฤดูฝน ขุดหลุมปลูกกว้าง 10-15 ซม. ลึก 10 ซม. ระยะห่างระหว่างต้น ระหว่างแถว 80 x 80 ซม. ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักรองก้นหลุมแล้วย้ายกิ่งชำมาปลูกหรือจะตัดกิ่งมาปักลงในหลุมเลยก็ได้

หลังจากย้ายปลูก ถ้าฝนไม่ตก ควรหมั่นรดน้ำจนกว่ากิ่งชำจะตั้งตัวได้ หลังจากนั้นก็ดูแลอย่าให้ดินขาดความชื้นก็พอ เสลดพังพอนตัวเมียเป็นไม้กึ่งพาดกึ่งเลื้อย ไม่ถึงกับเลื้อยพัน แต่ค่อนข้างเกะกะ บ้างครั้งต้องใช้ไม้ปักช่วยพยุงลำต้น เรื่องโรคแมลงแทบไม่จำเป็นต้องดูแล ส่วนการใส่ปุ๋ยในการปลูก ถ้าดินอุดมสมบรูณ์อยู่แล้ว ไม่ค่อยจำเป็น แต่หลังการเก็บเกี่ยวควรใส่ปุ๋ยคอกเพื่อช่วยให้แตกกิ่งใบเร็วขึ้น

เก็บเกี่ยว
เสลดพังพอนตัวเมีย ควรมีอายุ 6 เดือนขึ้นไปจึงค่อยเก็บเกี่ยวจะได้น้ำหนักดี ถ้าใช้วิธีทะยอยเก็บใบไปเรื่อยๆ ก็ให้เก็บใบที่อยู่ใต้ยอดลงมาสัก 2 ปล้อง แต่ถ้าเก็บให้ได้ปริมาณมากและสะดวกรวดเร็ว ก็ให้ตัดเหนือโคนต้นประมาณ 10 ซม. แล้วมาลิดเอาใบ ถ้าใส่ปุ๋ยคอก ให้ใส่หลังเก็บเกี่ยวอีก 3-5 เดือน ก็เก็บได้อีก

แปรรูป
ใช้วิธีเดียวกับฟ้าทะลายโจร (ดูฟ้าทะลายโจร) นำใบมาสรงน้ำสะอาด 3 ครั้ง สะเด็ดน้ำให้แห้งแล้วนำมาผึ่งลม อย่าผึ่งหลายวัยเกินไปสีใบจะซีด หากใช้วิธีอบด้วยตู้พลังงานแสงอาทิตย์ดีที่สุด จะได้ใบแห้งที่มีสีสวย

ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป
ยาหม่อง, กลีเซอรีน, คาลาไมน์, ครีม, ทิงเจอร์

ที่มา : หนังสือปลูกยารักษาป่า เล่ม 1
ลิขสิทธิ์จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย มูลนิธิสุขภาพไทย

บทความที่เกี่ยวข้อง