เห็ดพิมาน และเห็ดซางฮวง เห็ดในสกุลฟิลินัส (ตอนที่ 1)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในช่วงปีที่ผ่านมา ข่าวทางสื่อมวลชนได้พูดถึง“เห็ดพิมาน” กันค่อนข้างบ่อยมาก โดยเฉพาะกล่าวถึงตำรับยารักษามะเร็ง จนรายการทางโทรทัศน์นำไปขยายผล และนำเสนอข้อมูลการเพาะเลี้ยงเห็ดพิมานกันมากมาย สนนราคาขายกันหลักล้านบาทต่อกิโลกรัม ปีใหม่นี้จึงขอนำเสนอข้อมูลให้กระจ่างชัดในทางวิชาการ ให้เป็นที่เข้าใจกันและส่งเสริมความรู้ที่ถูกต้องถึงการนำมาใช้ประโยชน์

คำว่า “เห็ดพิมาน” เป็นชื่อเรียกในภาษาไทย และในตำรายาแผนไทยเก่าแก่บางเล่มได้กล่าวไว้ว่า เห็ดพิมานเป็นยารักษาโรคที่มีการใช้บำบัดอาการรักษาได้หลายอาการ เช่น

ตำรับยาเย็น สำหรับผู้ที่มีอาการไข้ ให้ใช้เห็ดพิมาน 1 ส่วน ฮากหนามแน่ 1 ส่วน ฮากดอกซ้อน 1 ส่วน ฮากเทียนดำ 1 ส่วน หัวพันมหา 1 ส่วน แมงวัน 3 ตัว ฝนใส่น้ำเหล้า เด็ดแต้มตามตุ่มที่ออกตามตัวเนื่องมาจากพิษไข้  หรือใช้เป็นยากิน ซึ่งในตำรับประกอบด้วย จันแดง 1 ส่วน เห็ดพิมาน 1 ส่วน เห็ดขาม ฮากหวดข้าน้อย ฮากถั่วพู ฝนกินดีแล

เรื่องราวเห็ดพิมานเริ่มมีการศึกษาหาข้อเท็จจริงในปี พ.ศ. 2535 มีนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการจัดจำแนกชนิด พบว่าเห็ดพิมานที่ปรากฏในตำรายาโบราณ พบว่ามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phellinus rimosus  ซึ่งเป็นเห็ดที่อยู่ในสกุลฟิลินัส (Phellinus) ซึ่งเห็ดในสกุลนี้เป็นเห็ดที่มีการเจริญเติบโตจำเพาะกับต้นไม้ ดังนั้นเห็ดพิมานก็ควรจะเป็นเห็ดที่เจริญได้ดีบนต้นพิมานหรือกระถินพิมาน (Acacia tomentosa Willd.) แต่ความรู้ในปัจจุบันกลับพบว่าเห็ดในสกุลฟิลินัสที่เจริญได้ดีบนต้นพิมาน คือ เห็ดฟิลินัส ชนิด Phellinus pomaceus (Pers.) Maire  ส่วนเห็ดพิมานชนิด Phellinus rimosus  (ซึ่งเราเข้าใจแต่เดิมนั้น) พบได้บนต้นแดง (Xylia xylocarpa (Roxb.) Taub.) จึงเรียกในภาษาไทยว่า “เห็ดหิ้งต้นแดง”

เห็ดในสกุลฟิลินัสที่มีการบันทึกในตำรายาจีนโบราณ และในตำราเภสัช (Chinese Pharmacopeia) ของจีน พบว่าคือชนิด Phellinus igniarius  ซึ่งในภาษาไทยเรียก“เห็ดซางฮวง” แต่ก็มีคนไทยตั้งชื่อเรียกอีกชื่อว่า “เห็ดอุ้งตีนหมี” เห็ดชนิดนี้เจริญได้ดีบนต้นเต็ง (Shorea obtusa Wall. ex Blume)  ”เห็ดซางฮวง” หรือ “เห็ดอุ้งตีนหมี” มีการบันทึกว่าใช้เป็นยาบำรุง ปรับสมดุลโลหิต โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีประจำเดือนไม่ปกติ เมื่อได้รับสารสกัดจากเห็ดนี้จะทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ ลดอาการปวดประจำเดือนได้เป็นอย่างดี

ขอบอกให้ชัดว่า เห็ดชนิดนี้จะให้ผลได้ดีเมื่อได้ กินสารสกัด ไม่ใช่กินเนื้อเห็ดโดยตรง การสกัดส่วนใหญ่เป็นการสกัดโดยใช้น้ำร้อนหรือสกัดด้วยแอลกอฮอล์ จึงทำให้ได้สารสำคัญที่อยู่ในเนื้อเห็ดมาใช้ประโยชน์สามารถออกฤทธิ์ในร่างกายได้ นอกจากนี้สารสำคัญที่ได้จากเห็ดส่วนใหญ่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ร่างกายดูดซึมเอาไปใช้ยาก นักวิทยาศาสตร์จึงแนะว่าควรมีการตัดโครงสร้างทางเคมีของสาระสำคัญนี้ให้มีขนาดเล็กลงก่อน ร่างกายจึงดูดซึมไปใช้ได้ดี การตัดโครงสร้างทางเคมีของสารสกัดจากเห็ดนั้น มีการแนะนำ  เช่น การกินร่วมกับวิตามินซี เป็นต้น

เรื่องชนิดเห็ดมีความซับซ้อนในชื่อเรียกพอสมควร ดังในประเทศจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีมีการใช้เห็ดชนิด Phellinus linteus ซึ่งเป็นเห็ดในสกุลฟิลินัสอีกชนิดหนึ่ง แต่ชื่อในภาษาไทยก็มีการเรียกชื่อซ้ำกันอีกว่า “เห็ดซางฮวง” เป็นการเรียกทับศัพท์เดิมที่เป็นภาษาเกาหลีที่มีความหมายว่า “เห็ดสีเหลืองบนต้นหม่อน” คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนได้ทำการศึกษาเห็ดซางฮวงชนิดนี้  โดยการใช้เทคนิคการตรวจสอบดีเอ็นเอ พบว่าเห็ดซางฮวงที่นิยมนำมาใช้ทำยาถูกแยกออกเป็น 2 ชนิด คือ Tropicoporus linteus และ Sanghuangporus sanghuang ในส่วนของชนิด Tropicoporus linteus พบได้ในเอเชียนั้นจะเจริญได้ดีบนต้นเค็ง (Dialium cochinchinense Pierre) ดังนั้นเพื่อไม่ให้สับสน ในภาษาไทยควรเรียกเห็ดซางฮวงชนิดนี้ว่า “เห็ดเค็ง”  (เพราะขึ้นในต้นเค็ง)

ส่วนเห็ดชนิด Sanghuangporus sanghuang  ซึ่งส่วนใหญ่พบได้มากในที่มีอากาศเย็น เจริญได้ดีบนต้นหม่อน (Morus spp.) ใต้หมวกเห็ดมีสีเหลืองสดใส ในภาษาไทยจึงเรียกเห็ดชนิดนี้ว่า “เห็ดต้นหม่อน”

ในปัจจุบันมีงานวิจัยไม่น้อยกว่า 3,500 ชิ้น ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับเห็ดในสกุลฟิลินัสนี้ สำหรับในประเทศไทย เท่าที่พบหลักฐาน เริ่มมีการศึกษาเห็ดในสกุลนี้เมื่อปี พ.ศ. 2544 โดย ดร. แฟรงค์ ชาญบุญยสิทธิ์  ซึ่งได้รับเห็ดชนิด Phellinus linteus และ Phellinus igniarius จากเพื่อนที่เป็นคนจีน โดยที่เวลานั้นเพื่อนชาวจีนเรียกเห็ดกลุ่มนี้ว่าเห็ดหลินจือ เพราะในอดีตเห็ดชนิดนี้ในประเทศจีนเรียกว่าเห็ดหลินจือ ดังมีหลักฐานที่เรียกเห็ดหลินจือนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา (The University of Pennsylvania Museum of Archaeology and Anthropology, USA) ซึ่งเป็นของจักรพรรดิเฉียนหลง มีความยาว 16 x 3/8 นิ้ว  เห็ดดอกนี้เมื่อทำการจัดจำแนกโดยใช้ความรู้ในปัจจุบันพบว่าไม่ใช่เห็ดหลินจือ แต่คือเห็ด สกุลฟิลินัส ชนิด Phellinus linteus

          ติดตามประโยชน์ของเห็ดสกุดฟิลินัส ตอนต่อไปนะ..