แสมทะเล หรือ แสมทะเลดำ

ผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์นี้จะได้อ่านเรื่องราวต้นแสมขาวไปแล้วเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน แต่เนื่องจาก แสมทะเล ที่ปรากฎในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ Avicennia marina (Forssk.) Vierh. และ Avicennia officinalis L.

แสมขาว คือแสมทะเลชนิด Avicennia marina (Forssk.) Vierh. ในครั้งนี้ขอเสนอแสมทะเล หรือ แสมทะเลดำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ Avicennia officinalis L. น่าสังเกตที่ชื่อมีคำว่า officinalis ที่เป็นชื่อของแสมทะเลชนิดนี้ ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นเป็นไม้ที่ใช้ทำยา สำหรับชื่อสามัญในภาษาอังกฤษเรียก Indian mangrove มีชื่อทางราชการว่า “แสมดำ” และชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น แสมดำ (ปัตตานี) แสมทะเล (จันทบุรี) แสมทะเลดำ (สุราษฎร์ธานี) เป็นต้น

แสมทะเลดำเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง-ใหญ่ สูง 8-25 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มหนา แตกกิ่งระดับต่ำ ไม่มีพูพอน เปลือกเรียบ หรือแตกเป็นร่องเล็กน้อย สีเทาถึงเทาอมน้ำตาล หรือน้ำตาล อมเขียว มีช่องอากาศตามลำต้น มีรากหายใจคล้ายดินสอ ยาว 15-25 เซนติเมตร เหนือผิวดิน ใบแสมทะเล เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปรี หรือ รูปไข่กลับ ปลายใบกลม ฐานใบแหลม ผิวใบด้านบนสีเขียวเป็นมัน ด้านท้องใบมีขนยาว นุ่ม สีเหลืองอมน้ำตาล ใบอ่อนมีขน ดอกแสมทะเล ออกที่ปลายกิ่ง หรือง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง เป็นช่อเชิงลดแน่น มี 7-10 ดอก (ต่างจากแสมขาวที่พบช่อดอกมี 8-14 ดอก) ดอกย่อยไม่มีก้าน กลีบเลี้ยงมี 5 แฉก กลีบดอก 4 กลีบ โคนกลีบติดกันเป็นหลอดสั้นๆ สีเหลือง หรือ เหลือง-ส้ม เกสรเพศผู้ 4 อัน อยู่เหนือหลอดกลีบดอก ผลแสมทะเล รูปหัวใจเบี้ยว แบน เปลือกอ่อนนุ่ม สีเหลืองอมเขียว มีขนนุ่มสีเหลืองอมน้ำตาลปกคลุมหนาแน่น ผิวเปลือกมีรอยย่น ปลายผลมีจะงอยสั้น (ต่างจากแสมขาวที่ปลายผลไม่มีจงอย) ผลแก่เปลือกจะแตกด้านข้างตามยาวผล และม้วนเป็นหลอดกลม แต่ละผลมี 1 เมล็ด คุณสมบัติพิเศษของพืชชนิดนี้จะมีการคายเกลือออกมาทางหลังใบเป็นผนึกสีขาวๆ

ผลของแสมทะเลดำนำมาทำขนมได้ โดยเฉพาะขนมพื้นเมืองของอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี มีขนมเรียกว่า “ขนมลูกแสม” โดยนำลูกแสมมาแกะไส้กลางออกไปก่อน นำไปต้มน้ำหลายรอบไล่ความขมออกจนจืด นำลูกแสมต้มไปคลุกเกลือรับประทาน หรือนำไปผสมกับแป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าวเจ้า หัวกะทิ น้ำตาลปี๊บ แล้วนำไปนึ่งกิน ลูกแสมที่นิยมนำมาทำขนมจะเป็นผลอ่อน เปลือกสีเขียวอ่อน ถ้าผลแก่จะใช้ทำขนมไม่ได้ ในขณะที่คนพื้นเมืองในออสเตรเลียนำผลมาเผากิน แสมทะเลดำมีสารแทนนินในเปลือกใช้ฟอกหนัง

ภูมิปัญญาการแพทย์ดั้งเดิมกล่าวถึง แก่นแสมทะเลมีรสเฝื่อน ขม แก้ลมในกระดูก แก้กระษัย และขับโลหิต แก้ท้องร่วง สมานแผนในปาก ขับลม ขับปัสสาวะ แก้กษัย แก้หืด ริดสีดวง ปวดท้อง อาเจียน แก้พิษจากสัตว์น้ำทุกชนิดโดยเฉพาะปลามีพิษจากทะเลทุกชนิด วิธีการปรุงยารักษา เช่น แก้ลมในกระดูก แก้กษัย ใช้แก่นไม้ (เนื้อไม้) มีรสเค็มเฝื่อน นำมาต้มดื่ม และถ้าผสมกับแก่นแสมสารหรือขี้เหล็กสารหรือขี้เหล็กป่า (Senna garrettiana (Craib) H.S.Irwin & Barneby) ก็นำมาเป็นเป็นยาขับโลหิตเสียของสตรี

นอกจากนี้นำเปลือกไม้ ต้มแล้วนำเอาน้ำต้มมาอมช่วยสมานแผลในปาก แก้ปวดฟันและรักษาโรคเรื้อรัง ก้านและใบนำมาเผารมควัน แก้พิษสัตว์น้ำ เมล็ดอ่อนนำมาตำพอก เร่งฝีและพอกฝีที่แตกแล้วให้ตกสะเก็ดเร็วขึ้น ลำต้นนำมาต้มดื่ม ขับลม ขับปัสสาวะ แก้กษัย แก้หืด ริดสีดวง ปวดท้อง อาเจียน

ในอินเดียและอาฟริกามีรายงานการใช้แสมทะเลดำเป็นยารักษาได้หลายโรค เช่น เนื้องอก ไขข้ออักเสบ อัมพาต โรคหอบหืด แผลในกระเพาะอาหารและเบาหวาน และคนพื้นเมืองของอินเดียยังใช้ผลที่ยังไม่แก่นำมาบดพอกแผล แก้ฝี ฝีดาษและเนื้องอก รากใช้เป็นยาบำรุงกำหนัดในผู้ชาย ยางหรือสารเรซินที่มีสีเขียว มีรสขมซึ่งได้มาจากเปลือกไม้นำมาใช้เป็นยาคุมกำเนิด และยางหรือเรซินนี้ยังมีการนำมาใช้รักษางูกัดได้ด้วย และบริเวณป่าชายเลนที่เรียกว่า “สุนทรพนา” (Sundarbans) ของอินเดีย นำเปลือกผลมาย่างไฟแล้วบีบน้ำใส่แผล หรือนำมาต้มกับน้ำตาลดื่มเพื่อช่วยย่อยและลดกรดในกระเพาะอาหารด้วย

ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีรายงานว่าน้ำผึ้งที่ได้จากดอกแสมดำเป็นน้ำผึ้งที่มีคุณภาพดีที่สุดสำหรับใช้ในการต้านอนุมูลอิสระและต้านแบคทีเรีย ในภูมิภาคอินโดจีน ใช้เปลือกทาแก้โรคผิวหนัง เปลือกใช้ย้อมสีได้ ขี้เถ้าจากเนื้อไม้มีความเป็นด่างสูงจึงนิยมนำมาใช้ในการซักผ้า เนื้อไม้ละเอียดนิยมนำมาใช้ในการทำตู้ ต่อเรือ ทำบ้านหรือสร้างท่าเรือ กิ่งค่อนข้างเปราะ นิยมนำมาใช้เป็นฟืน ในสิงคโปร์มีรายงานการใช้ผลเป็นอาหาร โดยนำมาเผา ย่างหรือต้ม นอกจากนี้ยังใช้ประโชยน์อื่น ๆ เช่น เนื้อไม้ใช้ทำฟืนและถ่าน

ในเวียดนามให้ความสำคัญกับแสมทะเลดำมาก มีการศึกษาวิจัยหลายรายการเพื่อที่จะนำมาพัฒนาให้เป็นยารักษาโรค ประเทศไทยมีต้นแสมทะเลดำจำนวนมาก แต่ยังไม่ค่อยมีใครสนใจศึกษาและพัฒนาการใช้ประโยชน์ มาช่วยกันยังไม่สาย.