ความไม่เป็นโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง (สูงสุดของการสร้างเสริมสุขภาวะ)

ชวนผู้อ่านมาสร้างเสริมสุขภาพแนวพุทธ ตามคำขวัญอันเป็นยอดปรารถนาของประชาชนทุกคนว่า “อาโรคฺยปรมา ลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง” หากมองด้วยแนวสมัยปัจจุบันที่พูดเรื่องสร้างเสริมสุขภาพ คือ 3 อ. (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) ก็ขอบอกว่าแนวคิดสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค มีมาแต่โบราณย้อนไปไกลมากกว่า 2,500 ปี เมื่อสืบค้นก็พบว่า ความไม่เป็นโรค เป็นลาภอย่างยิ่งนี้ เป็นคำที่เคยมีมาก่อนพุทธกาลด้วย ดังคำยืนยันของพุทธทาสภิกขุว่า

“อาโรคฺยปรมา ลาภา แปลว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง ประโยคนี้เก่าแก่ก่อนพุทธกาล เพราะเคยอ่านพบในบาลีในอรรถกถาว่ามันเก่าก่อนพุทธกาล หมอรักษาโรค แม้แต่หมอถอนฟันตามข้างถนนก็ร้องตะโกนว่า ‘อาโรคฺยปรมา ลาภา’ กันทั้งนั้น หมายความว่า เป็นภาษิตของพวกหมอ ที่เขาตะโกนเรียกคนมารับการรักษาเพื่อจะเอาค่ารักษา นี่เป็นของเก่าแก่ก่อนพุทธกาล

ครั้นมาถึงสมัยพุทธกาล ประโยคๆ นี้ก็ยังใช้อยู่ แต่ความหมายมันเปลี่ยนสูงขึ้นไปจนเป็นเรื่องความไม่มีโรคในทางวิญญาณ ก่อนนี้พูดกันแต่เรื่องไม่มีโรคในทางร่างกาย ไม่เจ็บไม่ไข้ ไม่ปวดหัว ไม่ปวดฟัน ไม่อะไรต่างๆ เหล่านี้เรียกว่าความไม่มีโรค ทีนี้พอมาถึงสมัยพุทธศาสนา ข้อความนี้เลื่อนขึ้นไปถึงโรคทางจิต โดยแบ่งโรคออกเป็นสองชนิด คือ โรคทางกายและโรคทางจิต เมื่อไม่มีโรคทั้งทางกายและทางจิต จึงจะเรียกว่าความไม่มีโรคที่สมบูรณ์ เราก็จะอาศัยบาลีข้อนี้เป็นหลักสำหรับศึกษากันในเรื่องความมีสุขภาพอนามัย”

ลองดูตัวอย่าง พระบาลี “อาโรคฺยปรมา ลาภา” ความไม่มีโรคเป็นลาภเป็นอย่างยิ่ง นั้น พระพุทธองค์ทรงเคยแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระเจ้าปเสนทิโกศล ในความหมายของ “ความไม่มีโรคทางกาย” ด้วยการรู้จักบริโภคอาหารพอประมาณ เนื่องจากพระเจ้าปเสนทิโกศลโปรดการเสวยพระกระยาหารจุ ทรงอึดอัดพระวรกาย กระสับกระส่าย ง่วงซึม พระพลานามัยไม่แข็งแรง

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า “การบริโภคมากเกินไป เป็นทุกข์” และ “ผู้บริโภคพอประมาณ ย่อมมีความสุข” และ “…มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย เขาแก่ช้า อายุยืน” จากนั้นก็ทรงแนะนำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลควบคุมพระกระยาหารโดยลดจำนวนข้าวสารที่บริโภคลงโดยลำดับ (เทียบกับปัจจุบัน ลดอาหารจำพวกแป้ง กินผักผลไม้เพิ่ม) จนกระทั่งทรงมีพระพลานามัยดีขึ้น พระเจ้าปเสนทิโกศล “มีพระสรีระอันเบา” และทรงอุทานว่า “ความสุขแท้เกิดแล้วแก่หม่อมฉัน” เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตรัสธรรมบทว่า “มหาบพิตร ชื่อว่าความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง…” (ผู้ที่สนใจไปตามอ่านรายละเอียดได้ ปรากฏในอรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท สุขวรรคที่ 15)

ปัจจุบันเราพบความรู้ การศึกษาวิจัยมากมายว่าการกินอาหารที่เหมาะสมช่วยให้สุขภาพดี หรือการลดความอ้วนก็ต้องควบคุมอาหาร ลดน้ำหนัก และเมื่อร่างกายปกติสุขดีแล้วก็ควรฝึกฝนจิตใจให้เข้มแข็งไม่เกิดโรคจากกิเลสด้วยหรือมีจิตใจที่เข้มแข็งชนะเหนือกิเลสด้วยนั่นเอง

มีข้อน่าสังเกตเพิ่มเติมว่า พระพุทธเจ้าสนใจที่ภาษาปัจจุบันเรียกว่า “ความเหลื่อมล้ำ” “ความยากจน” ด้วย ทรงเห็นว่าการรู้จักประมาณในการบริโภคอาหารเป็นการช่วยให้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตเป็นปกติสุขดีแล้ว ท่านยังทรงเห็นว่า “ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง” (ชิฆจฺฉาปรมา โรคา) เราทราบดีว่าเด็กหรือใครก็ตามที่ขาดอาหารย่อมส่งผลต่อสุขภาพแน่นอน การกินล้นเกินและความอดอยาก ต่างก่อโรคด้วยกันทั้งคู่ เมื่อคนหายหิวย่อมมีจิตใจที่ปกติสุขได้ และควรช่วยกันลดความหิวโหยในสังคมด้วย ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่าความหิวเป็นอุปสรรคต่อการมีสุขภาพจิตที่ดีและการบรรลุธรรม ดังเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงมีรับสั่งให้เจ้าภาพนำอาหารที่เหลือจากสงฆ์มาให้คนเลี้ยงโคกินจนอิ่มหนำเสียก่อน จากนั้นพระองค์จึงแสดงพระธรรมเทศนาโปรด เมื่อคนเลี้ยงโคฟังธรรมจบแล้วก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลได้เลยทีเดียว

เมื่อได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพุทธธรรมมากขึ้นก็พบความลุ่มลึกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงนัยให้เห็นว่ากายกับใจย่อมเอื้อแก่กัน เมื่อร่างกายได้รับอาหารแล้ว จิตใจก็สงบระงับ ไม่เป็นทุกข์หรือไม่เป็นโรคทางกายเพราะความหิวแล้ว จิตที่เนื่องกับกายก็เป็นปกติด้วย ในทางสังคมหากผู้คนมีกินไม่หิวโหย มีงานทำ มีรายได้ มีบ้านเรือนอาศัย หรือมีปัจจัยพื้นฐานต่อการดำรงชีวิต ย่อมนำไปสู่สังคมสุขภาวะที่ดีด้วย

ทีนี้การสร้างเสริมสุขภาวะในโลกยุคนี้ นอกจาก 3 อ. แล้วยังมีหลักวิชา เทคนิค แนวทางมากมาย ซึ่งเมื่อลองพินิจพิเคราะห์ตามภูมิปัญญาดั้งเดิมแนวพุทธ ในหมวดพุทธธรรมที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสุขภาพทางกาย (physical well-being) ทางจิต(mental well-being) ทางปัญญาหรือวิญญาณ (spiritual well-being) และทางสังคม (social well-being) ที่กล่าวไว้หลายพันปีมาแล้วใน ชื่อ “สัปปายะ 7” ซึ่งหมายถึงสิ่งที่สบาย, สภาพเอื้อ, สิ่งที่เกื้อกูล, สิ่งที่เหมาะกัน อันเกื้อกูลในการเจริญภาวนาให้ได้ผลดี คำว่าเจริญภาวนานี้ก็หมายถึง “การพัฒนา” (development) 4 มิติ ครอบคลุมทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม ซึ่งก็ตรงกับหลักการของ Health Promotion หรือการสร้างเสริมสุขภาพระดับสากลด้วย

“สัปปายะ 7” เป็น “สิ่ง” หรือ “สภาพแวดล้อมทางกายภาพ” ที่จะเอื้อให้มนุษย์มีสุขภาพที่ดี ได้แก่ อาวาสสัปปายะ (ที่อยู่ซึ่งเหมาะกัน ไม่พลุกพล่านจอแจ) โคจรสัปปายะ (ที่หาอาหารที่สะดวก มีอาหารบริบูรณ์) ภัสสสัปปายะ(การพูดคุยที่พอประมาณ) ปุคคลสัปปายะ (บุคคลที่ถูกกัน เหมาะกัน ทรงภูมิปัญญา เป็นที่ปรึกษาที่ดี) โภชนสัปปายะ (อาหารที่เกื้อกูลต่อสุขภาพ) อุตุสัปปายะ (ดินฟ้าอากาศ ธรรมชาติที่เหมาะสม ไม่หนาวไม่ร้อนเกินไป) อิริยาปถสัปปายะ (อิริยาบถที่เหมาะกัน ตลอดจนมีการเคลื่อนไหวที่พอดี) ฉบับหน้าชวนมาสร้างสัปปายะเพื่อสุขภาพของทุกคน.

https://www.thefest.com/Images/acetoto888/ https://www.thefest.com/Images/acegaming888/ https://www.thefest.com/Images/plazaslot/