สมุนไพรทางเลือกอีกตัวหนึ่งซึ่งชาวไทย-จีนรู้จักกันดี คือ ชะเอมเทศ ชื่อพฤกษศาสตร์ Glycyrrhiza glabra
แม้ชะเอมเทศจะมีกำเนิดจากเมืองจีน ชื่อ กำเช่า แต่ก็เป็นสมุนไพรเก่าแก่ที่อยู่ในตำรับยาหลวงของไทยที่ใช้เป็นจุลพิกัดยาคู่กับชะเอมไทยหรืออ้อยสามสวน ซึ่งมีชื่อพฤกษศาสตร์คนละชื่อกันว่า Albizia myriophylia แต่หมอยาไทยถือว่าสมุนไพร 2 ชนิดนี้มีรสหวานและสรรพคุณเสมอกัน จึงเรียกชื่อเดียวกัน ต่างกันแค่สร้อยชื่อบอกแหล่งที่มาชะเอมเทศและชะเอมไทยเท่านั้น ในตำรับยาไทยมักใช้รากชะเอมเทศซึ่งมีรสหวานจัดกว่าน้ำตาลทรายถึง 50-200 เท่า ใครที่นึกถึงสำนวน “หวานเป็นลมขมเป็นยา” แต่ขอบอกว่าใช้ไม่ได้กับรสหวานของชะเอมเทศ ซึ่งมีสรรพคุณยาดีอยู่ที่ความหวานเจี๊ยบนี่แหละ
ตามคัมภีร์สรรพคุณกล่าวว่า รากชะเอมเทศ “แก้โลหิตอันเน่าในอุทร แลเจริญซึ่งหทัยวาตให้สดชื่น แก้กำเดาให้เป็นปรกติ” พูดง่ายๆ ก็คือ รากชะเอมเทศช่วยแก้การอักเสบของอวัยวะในช่องท้อง ได้แก่ กระเพาะอาหาร ลำไส้และตับ เป็นต้น ช่วยให้เลือดลมไปหล่อเลี้ยงหัวใจให้กระชุ่มกระชวย และช่วยควบคุมกำเดาหรือความร้อนในร่างกายให้มีอุณหภูมิเป็นปกติ ซึ่งตรงกับภูมิปัญญาของฝรั่ง ที่เรียกชะเอมเทศว่า Sweet Root หรือ “ต้นรากหวาน” ซึ่งก็แปลตรงตามชื่อพฤกษศาสตร์ในภาษาละติน คือ กลีเซอร์(Glycyr) แปลว่า หวาน, ไรซ่า(Rhiza) แปลว่า ราก
จากงานวิจัยพบว่า สารหวานจากรากที่ชื่อ กลีเซอร์ไรซิน(Glycyrrhizin) นี่เอง ที่มีฤทธิ์แก้ไอ ขับเสมหะโดยมีกลไกในการขับเมือกที่หลอดลม และช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ยิ่งกว่านั้นสารกลีเซอร์ไรซีน และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ เช่น กลาบรานิน (glabranin) ของรากชะเอมเทศยังมีฤทธิ์ปกป้องตับอักเสบอีกด้วย
จากภูมิปัญญายาไทย-จีนที่ใช้ชะเอมเทศรักษาไข้กำเดา และโรคทางเดินหายใจ และขจัดพิษในกระแสโลหิตและในตับดังกล่าว จึงจุดประกายให้นักวิจัยในหลายประเทศศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อโควิดลงปอดของสารกลีเซอร์ไรซีน พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อโควิดลงปอด ได้อย่างมีนัยสำคัญ และยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เชื้อโคโรน่าไวรัส ซาร์ส-2 เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ด้วยกลไกคลายกล้ามเนื้อเรียบ หลั่งสารเคลือบเยื่อบุทางเดินหายใจ ป้องกันการอักเสบตั้งแต่ในลำคอจนถึงปอด
จากภูมิปัญญายาไทย-จีนที่ใช้ชะเอมเทศรักษาไข้กำเดา และโรคทางเดินหายใจ และขจัดพิษในกระแสโลหิตและในตับดังกล่าว จึงจุดประกายให้นักวิจัยในหลายประเทศ โดยเฉพาะจีนได้ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อโควิดลงปอดของสารกลีเซอร์ไรซีน และสารสกัดหยาบของรากชะเอมเทศ พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อโควิดลงปอดได้อย่างมีนัยสำคัญ และยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เชื้อโคโรน่าไวรัส ซาร์ส-2 เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ด้วยกลไกคลายกล้ามเนื้อเรียบ หลั่งสารเคลือบเยื่อบุทางเดินหายใจ ป้องกันการอักเสบตั้งแต่ในลำคอจนถึงปอด การศึกษานี้ยังอยู่ในขั้นการใช้ชะเอมเทศรักษาผู้ป่วยโควิดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในอนาคตน่าจะได้ขยับถึงขั้นการทำวิจัยการรักษาทางคลินิกแบบเปรียบเทียบที่เรียกว่า RCT
ตรงนี้ทำให้สำนึกในอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษแพทย์แผนไทยที่คิดค้นสูตรยาแก้ไอประสะชะเอมเทศ ชื่อ ยาอำมฤควาที ที่ใช้รากชะเอมเทศหนักเท่ากับตัวยาประกอบอีก 5 ชนิด ได้แก่ โกฐพุงปลา เทียนขาว ลูกผักชีลา เนื้อลูกมะขามป้อมและเนื้อลูกสมอพิเภก เพื่อให้รสหวานของรากชะเอมเทศออกฤทธิ์ได้เต็มที่ ในขณะที่ตัวยาประกอบจะช่วยเสริมฤทธิ์และขจัดพิษไม่พึงประสงค์ของรากชะเอมเทศไปด้วย ปัจจุบันยาอำมฤควาที เป็นยาในบัญชียาหลักด้านสมุนไพร สรพพคุณแก้ไอ ขับเสมหะ เด็กใช้ได้ ผู้ใหญ่ใช้ดี ชนิดผงผู้ใหญ่ใช้ไม่เกินครั้งละ 1 กรัม ละลายกระสายน้ำมะนาว เด็กลดลงครึ่งหนึ่ง ส่วนชนิดน้ำใช้จิบชุ่มคอชื่นใจ หยุดไอได้ชะงัด
ยาอำมฤควาทีหาซื้อได้ไม่ยาก แต่ถ้าต้องการใช้ผงรากชะเอมเทศล้วนๆ ก็ได้ แต่ต้องใช้ด้วยความรู้และความระมัดระวัง สามารถใช้ผงรากชะเอมเทศได้ไม่เกินวันละ 4 กรัม (จะได้สารกลีเซอร์ไรซีนราว 200 มิลลิกรัม) โดยแบ่งกินผงชะเอมเทศ ครั้งละ 1 กรัม วันละ 4 เวลา หรือจะชงน้ำร้อนดื่มก็ได้ แต่ห้ามใช้ติดต่อกันนาน 4-6 สัปดาห์ และมีการศึกษาว่าการกินผงรากชะเอมเทศเกิน 50 กรัมต่อวันจะเกิดผลเสีย จึงห้ามกินขนาดสูงโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้ปัสสาวะน้อยลงเป็นผลให้มีโซเดียมสะสมในร่างกายมาก เกิดอาการบวมที่มือและเท้า ทำให้ไตอักเสบได้
ความหวานของรากชะเอมเทศเป็นยาดีที่ช่วยแก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยต้านเชื้อหวัดโควิดลงปอดได้ ถ้าใช้ในขนาดและระยะเวลาที่เหมาะสม และความหวานจากชะเอมยังใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ในเครื่องสำอางต่าง ๆ ด้วย ประโยชน์มากมายจึงน่าจะหาชะเอมมาปลูกกันมาก ๆ นะ