ยาขาว ซึ่งอยู่ในตำรับยาดั้งเดิมของวัดโพธิ์นั้น มีการพูดถึงในการนำมาใช้แก้ไข้ สำหรับอาการโควิด-19 ที่ระบาดมาต่อเนื่องตั้งแต่รอบแรกจนถึงรอบสาม นอกจากนี้ยังมีผู้จัดทำโครงการแจกจ่ายยาขาวให้ผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 เพื่อบรรเทาอาการไข้ให้กับผู้ป่วยบางกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุข
ตำรับยาขาว ประกอบด้วย “กระเช้าผีมด หัวคล้า รากทองพันชั่ง รากชา รากง้วนหมู รากสมเส็ด รากข้าวไหม้ รากจิงจ้อ รากสวาด รากสะแก รากมะนาว รากย่านาง รากฟักข้าว รากผักสาบ รากผักหวานบ้าน เอาเสมอภาค ทำเป็นจุณ บดทำแท่ง เอาไว้ละลายน้ำซาวข้าว” สมุนไพรทั้ง 15 ชนิดนี้มีสมุนไพรบางชนิดที่ยังมีข้อถกเถียงกันถึงต้นพืชว่าเป็นชนิดใดแน่ในตำรับยาดั้งเดิมนี้ ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วในตอนที่ 1 เรื่อง “กระเช้าผีมด” ฉบับนี้ขอกล่าวถึง “ง้วนหมู” ซึ่งในเวลานี้หมอแผนไทยบางท่านก็ว่า รากง้วนหมูที่ปรากฎในตำรับน่าจะเป็น ลำพันหางหมู จึงขอนำเสนอให้พิจารณาสมุนไพรทั้ง 2 ชนิดนี้
ง้วนหมู มีชื่อทางการของไทยว่า กระทุงหมาบ้า มีชื่อเรียกในท้องถิ่นต่าง ๆ ของไทยหลากหลาย เช่น ผักฮ้วนหมู (เชียงใหม่) เครือเขาคลอน (อุบลราชธานี) ผักง่วนหมู ต้นง่วนหมู หัวเขาคอน (ร้อยเอ็ด) มวนหูกวาง (เพชรบุรี) เครือเขาหมู ผักฮ้วนหมู ฮ้วนหมู (ภาคเหนือ) กระทุงหมาบ้า คันชุนสุนัขบ้า (ภาคกลาง) เถาคัน (ภาคใต้) เดิมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dregea volubilis (L.f.) Benth. ex Hook.f. แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็น Wattakaka volubilis (L.f.) Stapf
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์จัดเป็นพรรณไม้เลื้อยเนื้อแข็ง ยาวได้ถึง 10 เมตร ขอบรรยายละเอียดสักนิดจะได้รู้จักต้นให้ดีขึ้น ลำต้นมีลักษณะเป็นเถากลม เปลือกเถาเมื่ออ่อนเป็นสีเขียว ส่วนเถาแก่เป็นสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลอ่อน ตามผิวมีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่ำและมีช่องอากาศ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้าม ลักษณะใบเป็นรูปไข่หรือเกือบกลม ปลายใบแหลมหรือยาวรี โคนใบมนหรือเว้าหรือป้าน ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกตามบริเวณซอกใบหรือระหว่างก้านใบ เป็นดอกขนาดเล็ก มีกลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีเขียวอ่อน บิดเวียนกัน ผลเป็นฝักออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน โคนฝักป่องแล้วค่อย ๆ เรียวไปหาปลาย ผิวฝักมีขนสีน้ำตาลอ่อนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ ข้างในฝักมีเมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่หรือรูปรีกว้าง โค้งเว้า มีขนาดยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง ผิวเรียบเป็นมันวาว ขอบบางเป็นครีบ มีพู่ขนสีขาวเป็นมันเหมือนเส้นไหม
สรรพคุณทางยา พบว่าส่วนต่าง ๆ มีฤทธิ์หรือสรรพคุณแตกต่างกันไป ดังนี้ ราก เป็นยาที่ทำให้อาเจียนได้ ใช้กระทุ้งพิษ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ พิษฝี แก้ปัสสาวะพิการ แก้น้ำดีกำเริบ ช่วยให้นอนหลับ ลำต้นอ่อน รสเอียนขม ทำให้อาเจียนได้เช่นกัน ใบ มีรสเมาเบื่อเอียนติดขม ใช้เป็นยาแก้แผลที่ถูกน้ำร้อนลวก แก้บวม แก้ฝี แก้ฝีภายใน แก้พิษต่าง ๆ
เถา เป็นยาเย็น ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ มีรสเมาเบื่อเอียนติดขม มีสรรพคุณเป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ใช้กระทุ้งพิษไข้หัว ไข้กาฬ ดับพิษฝี แก้พิษดีกำเริบ ละเมอเพ้อกลุ้ม เซื่องซึม ปวดศีรษะ ช่วยให้นอนหลับ น้ำตาตกหนัก แสบร้อนหน้าตา ยาแก้พิษงูกัด เปลือกต้น รสเอียนขม เป็นยาแก้ไข้ แก้ปากเปื่อย แก้พิษสุนัขบ้า ผล รสเอียนขม ใช้เป็นยารักษาโรคของสัตว์ ดอก รสเอียนขม เป็นยาล้างพิษ แก้พิษตกค้าง
นอกจากนี้ ใบ ดอก และฝักอ่อนของกระทุงหมาบ้าหรือง้วนหมู ยังนำมาต้มกินเป็นอาหารได้ แต่จะมีรสขมเล็กน้อย ชาวเหนือและชาวอีสานนิยมกินใบอ่อน ยอด และดอกสด นำมาใช้ประกอบอาหาร เช่น แกงกับปลาแห้ง หรือแกงกับผักชนิดอื่น ใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริกหรือใส่ส้มตำ เป็นต้น
ส่วน ลำพันหางหมู เป็นพืชสมุนไพรที่มีชื่อทางราชการว่า อำพันแดง มีชื่ออื่น ๆ ว่า หัวงอทะเล อำพันหางหนู หญ้าชะเงา หญ้าคาทะเล หญ้าพะยูน มีรายงานว่าเป็นหญ้าที่พะยูนกินเป็นอาหาร มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Sea acorus ซึ่งหมายถึง ว่านน้ำทะเล เพราะว่ามีลักษณะคล้ายว่านน้ำ ลำพันหางหมู มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Enhalus acoroides (L.f.) Royle เป็นหญ้าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ขึ้นเป็นกอสูง 1 เมตร มี 2-5 ใบ ใบแบนยาว แตกขึ้นมาจากไรโซม(ลำต้นใต้ดินขนานแนวราบกับพื้น) ก้านดอกยาว ม้วนงอเหมือนสปริง พบได้ทั้งบริเวณน้ำกร่อยและทะเล เป็นพืชท้องถิ่นในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตก
ในประเทศไทยมีรายงานว่าพบมากที่ทะเลในจังหวัดตรัง จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด เป็นพืชใต้น้ำอายุหลายปี ลำต้นเป็นเหง้าใหญ่ แข็ง มีเสี้ยนซึ่งเป็นส่วนของเส้นกลางใบเหลือติดอยู่ ทำให้มีลักษณะคล้ายกับขนหางหมู จึงเป็นที่มาของชื่อเครื่องยาสมุนไพรที่เรียกว่า “ลำพันหางหมู” และในตำรายาไทย กล่าวว่า เหง้ามีรสเค็ม กร่อย ร้อน ใช้เป็นยาฟอกโลหิต ขับน้ำเหลืองเสีย แก้ลมในลำไส้ ขับระดู แก้พิษโลหิตระดูทำให้คลั่งเพ้อ ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียดแน่นท้อง
หากพิจารณาถึงสรรพคุณที่ปรากฎในเอกสารต่าง ๆ ก็จะเห็นว่า รากง้วนหมู น่าจะมีสรรพคุณในการรักษาไข้มากกว่า ลำพันหางหมู แต่ความรู้ดั้งเดิมก็ควรรับฟังจากประสบการณ์ของแพทย์พื้นบ้านแพทย์แผนไทยที่ผ่านการใช้ หมอไทยบางท่านกลับพบว่าลำพันหางหมูน่าจะใช้ได้ดีกว่ารากง้วนหมู ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดตำรับยาไทยสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ แต่เวลาเดียวกันก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ในการศึกษาวิจัยให้ชัดเจนขึ้นต่อไปว่าสมุนไพรทั้ง 2 ชนิดนี้ ใช้ทดแทนกันได้หรือไม่.