นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวถึงผลวิจัยของ Child Watch เรื่องวงจรชีวิต “เด็กไทย 1 วันทำอะไรบ้าง” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า เด็กไทย 1 ใน 3 ถูกสื่อโซเชี่ยลมีเดียดึงเวลาไปจากครอบครัว กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เสียเวลาตั้งแต่ตื่นนอน 6-8 ช.ม. ไปกับสื่อออนไลน์ ขณะที่อีก 40 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อโรค “ขาลีบ ก้นใหญ่ มือยาว ปากจู๋ หูเล็ก” โดยขาลีบและก้นใหญ่ เพราะไม่ค่อยได้เดิน ไม่ออกกำลังกาย เนื่องจากวันๆ เอาแต่นั่งเล่นมือถือ ส่วนมือยาว เพราะใช้นิ้วอย่างหนักกับการสไลด์หน้าจอและกด แมสเสจ ขณะที่ปากจู๋ เพราะไม่ค่อยได้พูดเอาแต่แชต และหูเล็ก เพราะมีไว้เสียบหูฟังอย่างเดียว
ที่ปรึกษา ด้านวิชาการ สสค. กล่าวต่อว่า ดังนั้น ครอบครัวจึงจำเป็นต้องชิงพื้นที่สื่อออนไลน์ ด้วยการหากิจกรรมทำร่วมกันกับลูกหลาน ขณะที่โรงเรียนเองจำเป็นต้องเป็นแรงหนุนสำคัญในการสร้างกิจกรรมทางเลือกที่ หลากหลายให้ลูกศิษย์ โดยเฉพาะการเรียนการสอนต้องปรับให้สอดคล้องกับสิ่งที่เด็กอยากเรียน เด็กจึงจะมีฉันทะในการเรียนรู้ และรักที่จะลงมือทำเอง ไม่ใช่เรียนลัดด้วยการลอกการบ้านลอกข้อสอบ ไม่เช่นนั้นต่อไปประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศตัดแปะ หรือ Copy and Paste กล่าวคือ ปฏิบัติตามคำสั่งได้อย่างเดียวเพราะคิดไม่เป็น ฉะนั้นหากทุกฝ่ายช่วยกัน ปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากสื่อออนไลน์ เช่น ปัญหาการลอกการบ้านเพื่อนผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบไฮเทค ลอกการบ้านผ่านไลน์ ผ่านสื่อโซเชี่ยลมีเดีย ส่งผลให้เด็กเรียนได้แต่ไม่รู้เรื่อง เพราะไม่มีองค์ความรู้ หรือเด็กสมาธิสั้น ซึ่งหากแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ การโดดเรียนก็จะลดลงตามได้
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 4 ก.ค.2556