ยาแก้ไข้ประจำบ้าน ตำรับยาไทย..

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ไข้มีหลายชนิด วิธีและยาแก้ไข้ก็ย่อมมีหลายวิธีเช่นกัน

ฤดูฝนนี้เป็นช่วงเวลาระบาดของไข้เลือดออก ดังที่มีข่าวผู้ที่เสียชีวิตจากไข้เลือดออกแล้วหลายราย หากใครที่มีอาการไข้สูงเกือบตลอดเวลา และเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ใบหน้าสังเกตว่าหน้าแดงๆ และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา อาการเช่นนี้ควรรีบไปโรงพยาบาลด่วน

แต่ถ้าอากาศเปลี่ยน ถูกลมฝนเย็นชื้นทำให้มีอาการไข้ตัวร้อน มีไข้ต่ำ ๆ ไม่สูงปรี๊ด หรือจะเป็นไข้หวัดธรรมดาแล้วล่ะก็ เรามีภูมิปัญญาไทยและมีวิธีการพึ่งพาตนเองแก้ไข้ที่เป็นกันทั่วไปได้ บางคนอาจตั้งคำถามว่า ไข้ต่ำๆ คือไข้แบบไหน หรือไข้ที่จัดว่าสูงนั้น อุณหภูมิสูงแค่ไหน โดยปกติอุณหภูมิของร่างกาย อยู่ที่  37 องศาเซลเซียส แต่ก็พบว่าคนทั่วไปอาจมีอุณหภูมิระหว่าง 36.6 – 37.2 องศาเซลเซียสก็ถือว่าเป็นปกติ ถ้ามีอุณหภูมิสูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส เรียกว่ากำลังเป็นไข้แล้ว ในทางวิชาการบอกว่า ไข้ต่ำ  เมื่อวัดไข้ด้วยการอมปรอทนั้นจะมีอุณหภูมิระหว่าง 37.2 – 38.2 องศาเซลเซียส ถ้าวัดได้ระหว่าง 38.2 – 39.2 องศาเซลเซียส เรียกไข้ปานกลาง  สำหรับไข้สูงจะมีอุณหภูมิระหว่าง 39.2 – 40.3 องศาเซลเซียส แต่ยังไม่หมดยังมีไข้สูงมาก ที่วัดทางปากหรืออมปรอทแล้ว วัดได้มากกว่า 40.3 องศาเซลเซียส อันนี้อันตรายสุด ๆ แสดงว่ามีการติดเชื้อในกระแสเลือดแล้ว

ในการดูแลสุขภาพตนเองนั้นเราสามารถบรรเทาอาการไข้ที่เป็นกันทั่วไป คือไข้ต่ำ ๆ หรืออาจมีไข้ปานกลางได้บ้าง ซึ่งหลักการลดไข้ที่ดีที่สุด คือการดื่มน้ำมาก ๆ และเช็ดตัวลดไข้หรือเป็นการเช็ดตัวเพื่อช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกาย และการกินยาลดไข้ ซึ่งปกติเรามักคุ้นเคยยาสามัญประจำบ้าน พาราเซตามอลที่เป็นยาฝรั่ง แต่ปัจจุบันนี้เรามีการศึกษาวิจัยถึงตำรับยาไทยซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม พบยาไทยชื่อว่า ยาจันทน์ลีลา มีสรรพคุณลดไข้ได้ไม่แตกต่างจากยาพาราเซตามอล อีกทั้งไม่พบการก่อพิษระยะสั้นและระยะกึ่งเรื้อรัง และปัจจุบันนี้ได้รับการยกระดับจากยาสามัญประจำบ้านสู่รายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งมีบริการให้คนไข้ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ด้วย

เมื่อสัปดาห์ก่อนเจ้าหน้าที่มูลนิธิสุขภาพไทยคนหนึ่งเป็นไข้ และเริ่มมีอาการ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล และเริ่มรู้สึกเมื่อยตัวเล็กน้อยแต่ยังไม่ถึงกับอาการไข้หวัดใหญ่ที่ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมากๆ รู้สึกว่าจะเป็นแค่หวัดธรรมดามีไข้ต่ำ ๆ ตัวร้อน โชคดีที่มียาจันทน์ลีลาติดไว้ประจำบ้าน กินไปทั้งหมด 4 ครั้ง ห่างกัน 4-5 ชั่วโมง นอนพัก และดื่มน้ำมาก ๆ ด้วย พบว่าอาการดีขึ้นหรือไข้หายไปอย่างรวดเร็ว

สูตรตำรับจันทน์ลีลา ตามที่ประกาศไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ  ในผงยา 99 กรัม ประกอบด้วย

โกฐสอ โกฐเขมา โกฐจุฬาลัมพา แก่นจันทน์ขาวหรือจันทร์ชะมด แก่นจันทน์แดง ลูกกระดอม เถาบอระเพ็ด รากปลาไหลเผือก หนักสิ่งละ 12 กรัม พิมเสน หนัก 3 กรัม ระบุข้อบ่งใช้ บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู ขนาดและวิธีใช้ ชนิดผง ผู้ใหญ่ กินครั้งละ 1 – 2 กรัม ละลายน้ำสุก ทุก 3 – 4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ หรือถ้าบรรจุ แคปซูล 500 มิลลิกรัม กิน ครั้งละ 2-4 แคปซูล เด็ก อายุ 6 – 12 ปี กินครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัมละลายน้ำสุกทุก 3 – 4 ชั่วโมง หรือกิน ครั้งละ 1-2 แคปซูล

นอกจากแก้ไข้ตัวร้อนที่เป็นกันทั่วไปแล้วสตรีคนใดมีไข้ทับระดูหรือไข้ระหว่างมีประจำเดือนก็สามารถใช้ยาจันทน์ลีลาช่วยลดไข้ได้เช่นกัน แต่มีข้อควรระวัง คือ ไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก และหากกินยาเกิน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

สมุนไพรแต่ละชนิด พอจำแนกสรรพคุณได้ดังนี้  โกฐสอ ใช้แก้ไข้  แก้หืด  แก้ไอ  ทำหัวใจให้ชุ่มชื่น แก้เสมหะเป็นพิษ แก้ไข้จับสั่น  ชาวจีนก็นำมาใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด และถือว่าเป็นสมุนไพรของสตรีใช้เกี่ยวกับระดู  ปัจจุบันมีการนำสารจากโกฐสอผสมในเครื่องสำอางบำรุงผิวด้วย  โกฐเขมา เป็นยาบำรุงธาตุ ขับลม แก้จุกแน่น แก้หอบหืด แก้หวัดคัดจมูก แก้ไข้ แก้ลมตะกัง แก้เหงื่อออกมาก ฯลฯ โกฐจุฬาลัมพา ในตำรายาไทยใช้แก้ไข้เจลียง (อาการจับไข้วันเว้นวันเป็นไข้จับสั่นประเภทหนึ่ง) แก้ไข้เพื่อเสมหะ ไข้มาลาเรีย แก้หืด แก้หอบ แก้ไอ ใช้เป็นยาขับเหงื่อ

แก่นจันทน์ขาวหรือจันทร์ชะมด เนื้อไม้เป็นยาบำรุงเลือดลม บำรุงธาตุไฟให้สมบูรณ์  และใช้แก้ไข้ แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ แก้ลม แก้อ่อนเพลีย  แก่นจันทน์แดง จะใช้แก่นที่มีเชื้อราจับทำให้แก่นมีสีแดง ใช้แก้พิษไข้ภายนอกและภายใน แก้ไข้ทุกชนิด แก้กระสับกระส่าย  แก้ร้อนดับพิษไข้ทุกชนิด ฯลฯ ลูกกระดอม น้ำต้ม เมล็ด กินลดไข้ แก้พิษผิดสำแดง เป็นยาถอนพิษ ผลมีรสขม บำรุงน้ำดี ดับพิษโลหิต แก้ไข้  เถาบอระเพ็ด เรารู้จักกันดีว่าเถามีรสขมจัดคุณสมบัติเย็น ใช้แก้ไข้ทุกชนิด และเป็นยาขมเจริญอาหาร รากปลาไหลเผือก ถ่ายพิษต่างๆ ถ่ายพิษไข้พิษเสมหะ แก้ไข้ ตัดไข้ทุกชนิด ฯลฯ

ปัจจุบันมีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดตำรับยาจันทน์ลีลา พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สนับสนุนการใช้ของภูมิปัญญาดั้งเดิม  คือ มีฤทธิ์แก้ไข้ ต้านการอักเสบ และแก้ปวด และไม่พบพิษเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรัง

ฤดูฝนนี้ทุกคนมีโอกาสเป็นไข้และไข้หวัดทั่วไป จึงควรมียาสามัญประจำบ้านจันทน์ลีลาไว้ทุกครัวเรือน และช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ ยุงลาย เพื่อป้องกันไข้เลือดออกด้วย.

https://www.thefest.com/Images/acetoto888/ https://www.thefest.com/Images/acegaming888/ https://www.thefest.com/Images/plazaslot/