กว่าจะกลายเป็นหมอ
ชีวิตการเป็นหมอของหมอสง่าไม่ได้เริ่มต้นอย่างง่ายๆ ไม่ได้คิดว่าจะเป็นหมออย่างปู่เย็นและพ่อ และไม่คิดจะเป็นหมออาชีพด้วย
การที่หมอสง่าได้รับการยอมรับจากชาวบ้านในชุมชนไม่ได้มาจากว่าเกิดในตระกูลหมอเท่านั้น แต่หมอสง่าได้ผ่านการพิสูจน์ความรู้ความสามารถหลายครั้ง
จุดพลิกชีวิตของหมอสง่าอยู่ตรงนี้ เรื่องมีอยู่ว่า…
ภรรยาของโต๊ะอิหม่ามผู้นำชุมชนหายจากอาการอัมพาตซึ่งเป็นมานานพูดและเดินไม่ได้ ไปรักษาหลายแห่ง หลายหมออาการไม่หายและไม่ดีขึ้น
ลูกชายของโต๊ะอิหม่ามเป็นเพื่อนของหมอสง่าขอให้ไปรักษาแม่ของตนเอง
หมอสง่าเริ่มการบำบัดรักษาใช้ยาสมุนไพรถ่ายพิษออก บำบัดด้วยการนวดเหยียบเหล็กแดงและประคบ และมีข้อกำหนดเรื่องอาหารการกินใช้เวลานาน 2 เดือน มีอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติ
เมื่อรักษาภรรยาโต๊ะหม่ามหายจากการเป็นอัมพาต ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ ชาวบ้านหลายคนก็เฝ้าดูการรักษาต่างก็เริ่มให้การยอมรับหมอสง่ามากขึ้น
หมอสง่าเคยถ่ายทอดความรู้หมอพื้นบ้านให้กับคนนอกตระกูลแล้วพบว่า คนๆ นั้นกลับนำวิชาความรู้ไปแสวงหาผลประโยชน์ เรียกร้องเงิน ไม่ได้ช่วยเหลือคนทุกข์ยาก
จากนั้นถ้าจะถ่ายทอดความรู้ให้กับคนนอกตระกูล หมอสง่าจะต้องคัดเลือกคนที่ตั้งใจจริงๆ เช่น ดูเรื่องนิสัยใจคอ บุคลิก ความตั้งใจและไม่เอาวิชาความรู้ไปทำผิดศีลธรรมการเป็นหมอ
การสืบทอดหมอพื้นบ้านในสายตระกูลและครอบครัวถือว่าเป็นการเรียนรู้ในวิถีชีวิต การเป็นหมอพื้นบ้านต้องค้นคว้าเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเอง เน้นให้ไปปฏิบัติจะช่วยให้รอบรู้และจัดเจนมากขึ้น
การถ่ายทอดองค์ความรู้เหยียบเหล็กแดงในสายตระกูลมุ่งถ่ายทอดให้เฉพาะลูกหลานเพื่อดูแลคนในครอบครัวได้ และเน้นสอนให้ลูกผู้ชาย แต่ไม่สอนให้ลูกผู้หญิง มาจากความเชื่อที่ว่าเมื่อผู้หญิงมีประจำเดือนจะมีผลให้คาถาเสื่อม
การเป็นหมอ…ยิ่งได้รักษาผู้ป่วยมากก็เท่ากับคนเป็นหมอมีประสบการณ์การรักษาการวินิจฉัยได้ดีขึ้น
บางกรณีอาจจะเพิ่งเคยเจออาการป่วยนี้…ทำให้คนเป็นหมอต้องค้นคว้าเพิ่มขึ้นไปอีก
การเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่งและเรียนรู้ด้วยตัวเองของหมอสง่าเป็นการสะสมเพิ่มพูนจากการปฏิบัติ อ่านตำรา ท่องจำ จดบันทึกบ้าง การแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้รู้คนอื่นๆ
การเป็นหมอพื้นบ้านเป็นการเรียนรู้ควบคู่กับวิถีชีวิตการทำมาหากิน…จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของลมหายใจ
ขออุทิศเรื่องราวทั้ง 4 ตอนนี้ให้กับหมอสง่าผู้เป็นหมอพื้นบ้านแห่งเมืองอยุธยา
หมอสง่า เสียชีวิตในวัย 93 ปี ท่านเสียชีวิตเดือนกรกฎาคม 2561
#มูลนิธิสุขภาพไทย #หมอพื้นบ้าน #หมอสมุนไพร #ภูมิปัญญา