หลังรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วาระ 2 เสร็จสิ้นไปเมื่อคืนที่ผ่านมา กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(เอฟทีเอ ว็อทช์) ออกแถลงการณ์ “มาตรา 190 ตายแล้ว…ความล้มเหลวของระบบรัฐสภาไทย” โดยระบุว่า การแก้ไขมาตรา 190 ครั้งนี้ มีการแก้ไขในสาระสำคัญ คือการตัดลดประเภทหนังสือสัญญาที่จะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาอย่างมีนัยสำคัญ และการเพิ่มอำนาจรัฐบาล ให้ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญา ไม่ต้องเสนอ “กรอบการเจรจา”
เอฟทีเอ ว็อทช์ ระบุว่า ผลจากการแก้ไขเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยการไม่ต้องผ่านกระบวนการเสนอ “กรอบการเจรจา” จะเป็นการทำลายกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล การมีส่วนร่วม ระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และภาคประชาสังคม
นอกจากนี้ เอฟทีเอ ว็อทช์ ระบุด้วยว่า ปัญหาความยุ่งยาก ล่าช้า ของการมีหนังสือสัญญาจำนวนมากต้องเสนอไปสู่รัฐสภาโดยอ้างว่าต้องปฏิบัติตามมาตรา 190 นั้น มีรากฐานสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ การไม่จัดทำกฎหมายลูกรองรับมาตรา 190 ออกมาใช้บังคับ และการใช้มาตรา 190 เป็นเครื่องมือต่อสู้กันทางการเมืองมากเกินไป ซึ่งทั้งสองสาเหตุสามารถแก้ไขได้โดยไม่จำเป็นต้องเบียดขับประชาชนออกจากกระบวนการหรือลดทอนความโปร่งใสแต่อย่างใด
มาตรา 190 ตายแล้ว…ความล้มเหลวของระบบรัฐสภาไทย
ตามที่การประชุมของรัฐสภาได้ลงมติเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม โดยเสียงข้างมากแก้ไขเนื้อหาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ม.190 โดยมีสาระการแก้ไขที่สำคัญ คือ
1. ตัดลดประเภทหนังสือสัญญาที่จะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาอย่างมีนัยสำคัญออกไปให้เหลือเพียง (หนึ่ง) หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตดินแดน (สอง) หนังสือสัญญาที่เปลี่ยนแปลงพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ (สาม) จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และ (สี่) หนังสือสัญญาที่มีบทให้เปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุน
2. เพิ่มอำนาจรัฐบาล ให้ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญา ไม่ต้องเสนอ “กรอบการเจรจา” ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ
ผลสรุปจากการแก้ไขมาตรการ 190 ดังกล่าว สะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบรัฐสภาไทยที่มุ่งเป้าหมายการเอาชนะทางการเมืองเป็นที่ตั้งโดยอ้างเสียงข้างมากในรัฐสภาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรม ไม่ได้ยึดถือข้อมูล เหตุผล และไม่ได้สำเหนียกถึงสถานการณ์ปัญหา ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากการเร่งทำหนังสือสัญญาความตกลงระหว่างประเทศ ซ้ำยังเป็นการทำลายระบบประชาธิปไตยที่เห็นหัวประชาชนอย่างไร้สำนึก
บทบัญญัติในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีเจตนารมณ์เพื่อสร้างธรรมาภิบาลในกระบวนการเจรจา สร้างความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และเป็นกลไกสร้างระบบการถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อให้ผลจากการทำหนังสือสัญญาเกิดประโยชน์โดยรวมมากที่สุดต่อประเทศชาติ นอกจากนี้คณะเจรจายังสามารถใช้ “กรอบเจรจา”ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาได้อีกด้วย บทบัญญัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่อารยประเทศต่างๆ ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
อนึ่ง ปัญหาความยุ่งยาก ล่าช้า การมีหนังสือสัญญาจำนวนมากต้องเสนอไปสู่รัฐสภาโดยอ้างว่าต้องปฏิบัติตามมาตรา 190 นั้น มีรากฐานสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ (หนึ่ง) การไม่จัดทำกฎหมายลูกรองรับมาตรา 190 ออกมาใช้บังคับ ซึ่งในรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่าให้ดำเนินการโดยเร็วภายในเวลา 1 ปีนับจากที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จตั้งแต่ปี 2552 (สอง) การใช้มาตรา 190 เป็นเครื่องมือต่อสู้กันทางการเมืองมากเกินไป ซึ่งทั้งสองสาเหตุสามารถแก้ไขได้โดยไม่จำเป็นต้องเบียดขับประชาชนออกจากกระบวนการหรือลดทอนความโปร่งใสแต่อย่างใด
ผลจากการแก้ไขมาตรา 190 จะทำให้หนังสือจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ความตกลงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ความตกลงด้านสิ่งแวดล้อม ความตกลงด้านสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ไม่ต้องผ่านกระบวนการเสนอ “กรอบการเจรจา” เป็นการทำลายกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล การมีส่วนร่วม ระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญข้อหนึ่งในระบอบการเมืองประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่ทุกฝ่ายกำลังเรียกร้อง เป็นการจำกัดพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ผลักดันให้ประชาชน ผู้เดือดร้อนต้องใช้ท้องถนนหรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ เป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมืองแทน
การแก้ไขมาตรา 190 ครั้งนี้ เป็นเพียงผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างนัก(การเมือง)ประชาธิปไตยแต่ปาก กลุ่มทุนครอบชาติ และฝ่ายข้าราชการประจำล้าหลัง ที่ต้องการปลดเปลื้องภาระในการปฏิบัติตามกฎกติกาเพื่อการสร้างธรรมาภิบาลในกระบวนการเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ
ขอไว้อาลัยแด่มาตรา 190 ระบบรัฐสภา และประชาธิปไตยไทย
ที่มา : ประชาไท 17 ตค.2556