มันมากับหน้าฝน โรคอะไรเอ่ย คันคะเยอ ชอบความร้อนอับชื้น คำตอบคือ กลาก ที่เกิดจากเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophytes) สามารถติดต่อได้ง่าย หากไปสัมผัสกับคนหรือสัตว์ใกล้ตัว เช่น สุนัข แมว ที่เป็นโรคราชนิดนี้ อาจพบบนผิวหนังแทบทุกส่วนของร่างกาย โดยทั่วไปจะเกิดที่ผิวหนังบริเวณกว้างของร่างกายที่เห็นได้ชัดเจน เช่นที่แผ่นหลัง หน้าท้อง คอ คาง เป็นต้น โดยจะเห็นผิวหนังบริเวณนั้นแดง มีสะเก็ดบาง ขาว ที่ตรงขอบมักจะเรียงกันเป็นวง ๆ และมักจะหายตรงกลางก่อน แต่ขอบจะขยายกว้างออกไปเรื่อย ๆ ขอบของวงมักจะเป็นตุ่มนูนแข็งมีขอบ หรือเป็นตุ่มนูนมีน้ำอยู่ข้างในเรียงอยู่รอบ ๆ มีอาการคันมาก คนที่เป็นจะเกาทำให้ตุ่มใสนี้แตกและกลายเป็นขุยขาวๆ อยู่รอบๆ ขอบ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เด่นของกลาก ที่รู้จักกันดี
แต่อันที่จริงแล้วเชื้อกลากชนิดเดียวกันนี้ยังเกิดที่ผิวหนังในบริเวณเล็ก ๆ หรือตามซอกแคบของร่างกาย โดยมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไปตามจุดหรืออวัยวะที่เป็น เช่น ถ้าเป็นที่หนังศีรษะก็เรียกว่า ชันนะตุ ถ้าเป็นที่ขาหนีบใต้ร่มผ้า เรียกว่า สังคัง ถ้าเป็นที่ง่ามนิ้วเท้า เรียกว่า ฮ่องกงฟุต หรือ น้ำกัดเท้า หรือแม้กระทั่งเกิดได้ที่เล็บมือ เล็บเท้าและช่องหู เป็นต้น ถ้าเป็นที่เล็บเท้ามักจะเกิดจากโรคฮ่องกงฟุตที่เป็นแบบเรื้อรัง ถ้าเป็นที่เล็บมือ ผู้ป่วยมักจะมีอาการของโรคกลากที่บริเวณอื่นมาก่อน หรือติดเชื้อมาจากร้านเสริมสวยจากการแต่งเล็บด้วยเครื่องมือที่ไม่สะอาด แต่เชื้อกลากที่ลงเล็บมือเล็บเท้ามักไม่มีอาการคัน
ช่วงนี้หากนับตามหลักฤดูสมุฏฐานของศาสตร์การแพทย์แผนไทย ยังไม่ถือว่าเป็นหน้าฝนจริง ๆ ต้องเข้าพรรษาแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หรือวันที่ 11 กรกฎาคม 2568 นั่นแหละจึงจะนับเป็นหน้าฝนเย็นชื้นเต็มที่ แต่ดินฟ้าอากาศช่วงกว่าหนึ่งเดือนต่อไปนี้ยังคาบลูกคาบดอกระหว่างอิทธิพลร้อนของคิมหันต์กับความชื้นของวสันต์ กลายเป็นสภาพร้อนชื้นที่เหมาะกับการแพร่ระบาดของเชื้อกลาก ฮ่องกงฟุต
แม้กลากไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก็เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังและเป็นโรคติดต่อโบราณที่ก่อความรำคาญ ผู้บวชหรือผู้เคยบวชย่อมรู้ดีว่า ”กลาก” เป็น 1 ใน 5 โรคต้องห้ามไม่ให้บวช เพราะตั้งแต่สมัยพุทธกาล มีคนเป็นกลากจำนวนมากแอบแฝงเข้ามาบวชเพื่อให้ท่านชีวกโกมารภัจจ์รักษาโรคนี้ พอรักษาหายก็สึกออกไป จึงสร้างภาระให้แก่คณะสงฆ์เป็นอันมาก เดี๋ยวนี้อาจจะมียาแผนปัจจุบันหลายขนานที่สามารถรักษาโรคกลากได้ แต่หากต้องการใช้สมุนไพรบำบัด ในที่นี้ขอแนะนำสมุนไพรเดี่ยวตัวหนึ่งของพ่อหมอมนัส สุทธิกาศ หรือพ่อหมอแบนแห่งพิจิตร ผู้พิชิตโรคกลากในชุมชนด้วย มะเขือขื่น (ชื่อวิทยาศาสตร์ เดิมชื่อSolanum xanthocarpum ต่อมาเปลี่ยนเป็น Solanum virginianum L)
คำว่า “ขื่น”ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายไว้ว่า “ขื่น ว.รสฝาดเฝื่อน ชวนให้คลื่นไส้ ไม่ชวนกิน” แต่สำหรับ “มะเขือขื่น” แม้จะมีรสขมอมขื่นเฝื่อนฝาด เปรี้ยวปร่า แต่ก็เป็นผักพื้นบ้านอาหารบำรุงกำลัง รสแซ่บ ลำ หร่อยของคนชนบทหลายภูมิภาค อีสานเรียกบักเขือขื่น เหนือเรียก มะเขือแจ้ ใต้เรียก เขือหิน ใช้ปรุงอาหารบ้าน ๆ จำพวกน้ำพริก ก้อย ส้มตำ ยำ พล่า แกงส้ม แกงป่า เดี๋ยวนี้ได้รับความนิยมกลายเป็นเมนูสูตรเด็ดในภัตตาคารอาหารป่า
หลายคนคงสงสัยว่าเนื้อเหนียวรสขื่นของมะเขือข้างถนนชนิดนี้จะมีรสชาติอร่อยได้อย่างไร แต่ด้วยภูมิปัญญาบวกกับฝีมือแม่ครัวหัวป่าก์ของคนไทย ทำให้ความขื่นและเหนียวของมะเขือขื่นกลายเป็นอาหารรสอร่อยมีเอกลักษณ์โดดเด่นไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ ว่ากันว่าความลับที่ซ่อนอยู่ในรสขมขื่นของผักพื้นบ้านชนิดนี้ไม่ใช่แค่บำรุงกำลัง แต่ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของท่านชายที่หาง่ายใกล้ตัว ไม่ต้องดั้นด้นค้นหาในป่าลึกอย่างม้ากระทืบโรง หรือต้องจ่ายแพงอย่างโสมเกาหลี
ศ.เกียรติคุณ ดร.ภญ.นันทวัน บุณยะประภัศร ผู้ก่อตั้งสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยเล่าเรื่องภูมิปัญญาไทยอันน่าทึ่งในการใช้มะเขือขื่นปรุงยาแก้ปวดเมื่อยว่า
หมอพื้นบ้านรู้จักนำสารสเตียรอยด์ที่ได้จากเยื่อภายในผลมะเขือขื่นสุกมาบ่มในโปรตีนไข่แดงได้อย่างไร กล่าวคือต้องใช้เยื่อภายในผลมะเขือขื่นที่สุกแล้วเท่านั้นจึงจะมีสารสเตียรอยด์ และไข่ไก่สดที่ใช้ต้องเจาะรูด้านบนเพื่อเทเอาไข่ขาวออกมาให้หมด เหลือไว้แต่ไข่แดง จากนั้นจึงนำเยื่อผลมะเขือขื่นอบแห้งจำนวนมากบรรจุลงในฟองให้เต็ม ใช้ไม้เล็ก ๆ กวนไข่แดงกับเยื่อผลมะเขือขื่นให้เข้ากัน แล้วนำไปหมกไฟจนเป็นถ่าน บดผงละเอียดดองเหล้าขาว 40 ดีกรี ปริมาณ 300-400 ซีซี รับประทานเมื่อมีอาการปวดเมื่อยขนาดครั้งละ 15 ซีซี (1 ช้อนโต๊ะ) วันละ 2 ครั้งหลังอาหารเช้า-เย็น ว่ากันว่าภายในวันเดียวอาการปวดเมื่อยหายเป็นปลิดทิ้ง ไม่ควรรับประทานเกิน 3 วัน
ตำรับยาที่มีมะเขือขื่นเป็นส่วนประกอบมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์แพทย์หลวงไม่น้อยกว่า 13 ตำรับ กระจายอยู่ใน 6 คัมภีร์ ได้แก่ ตำราพระโอสถพระนารายณ์ คัมภีร์ปฐมจินดา(โรคเด็ก) คัมภีร์มหาโชตรัต(โรคสตรี) คัมภีร์ชวดาร(โรคลม) คัมภีร์ธาตุวิวรณ์(โรคธาตุพิการ) และคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา(โรคทางเดินปัสสาวะ) มีข้อสังเกตคือ มีไม่น้อยกว่า 5 ตำรับ เป็นยาสำหรับเด็ก แก้ไข้ทราง ตาน หืดไอ กัดเสมหะ แก้ฝี ริดสีดวงและโรคผิวหนังติดเชื้อ โดยใช้ส่วนของผล ราก ใบ เป็นทั้งยากิน ยาทา ยาหยอดตา ยอนหู
ในที่นี้ขอยกตัวอย่างยาแก้โรคผิวหนัง เช่น “ยาทาตัวแก้พยาธิอันเป็นแผ่นเป็นเม็ดบนผิวหนังเด็ก” ซึ่งใช้ผลมะเขือขื่นเป็นส่วนประกอบ อยู่ในคัมภีร์ปฐมจินดา เช่นเดียวกับยาทาแก้กลากของพ่อหมอมนัส หรือหมอแบน จะต่างกันตรงที่ยาตำราหลวงใช้สมุนไพรหลายชนิด แต่สูตรยาพื้นบ้านใช้ผลมะเขือขื่นตัวเดียวประกอบกับปูนแดง(กินหมาก) เท่านั้น วิธีใช้ นำผลมะเขือขื่นสุกล้างน้ำสะอาด มาหั่นตัดขวางด้วยมีดคมบาง ปาดให้น้ำยาซึมออกมา เอาปูนแดงป้ายบนรอยตัดขวางที่มีน้ำยาง แล้วทาถูให้ทั่วบริเวณผิวหนัง(ควรทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือก่อน) ที่เป็นกลาก ชันนะตุ สังคัง ฮ่องกงฟุตหรือที่เล็บมือเล็บเท้า ช่องหูที่มีอาการ ทำเช่นนี้อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น ทำทุกวันจนกว่าโรคกลากจะหาย
สภาพอากาศร้อนชื้นแบบนี้ควรป้องกันกลากไว้ดีกว่าแก้ โดยเฉพาะผู้ที่เหงื่อออกมาก ต้องหมั่นอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้แห้งสะอาดอยู่เสมอ แต่ถ้าหากมันยังมากับหน้าฝนนี้ให้ลองใช้สูตรยารักษากลากของพ่อหมอแบนแห่งพิจิตรดู รับรองได้ผลแน่.