กะเปียดเครือ คือ ชื่อสมุนไพรชนิดหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย แต่ถ้าเป็นคนในจังหวัดนครศรีธรรมราชน่าจะพอรู้จักกันบ้าง เนื่องจากมีวัดอยู่แห่งหนึ่งชื่อ “วัดกะเปียด” และยังเป็นชื่อของตำบลกะเปียด อยู่ในอำเภอฉวาง ข้อสันนิษฐานได้ว่าประชากรของต้นกะเปียดน่าจะมีมากอยู่ในบริเวณนั้นจนชาวบ้านตั้งชื่อไว้ อย่างไรก็ตาม กะเปียดเครือยังพบได้ในหลายพื้นที่ในภาคใต้ เช่น พัทลุง กระบี่ ตรัง ฯลฯ
กระเปียดเครือ เป็นพืชในสกุลช้าเลือด หรือ Premna พืชในสกุลนี้พบได้เกือบทั่วโลกยกเว้นทวีปอเมริกา จากฐานข้อมูลของสวนพฤกษศาสตร์หลวง เมืองคิว รายงานว่าทั่วโลกพบพืชในสกุล Premna มีถึง 129 ชนิด ในจำนวนนี้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยจำนวนถึง 16 ชนิด ต่อมามีการศึกษาและรายงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี พ.ศ. 2552 หรือ ค.ศ. 2009 กล่าวว่าพืชในสกุลนี้พบในประเทศไทยมากถึง 23 ชนิด และเป็นพืชเฉพาะถิ่นที่พบเฉพาะที่เดียวในประเทศไทย จำนวน 4 ชนิด คือ
1) อุนเครือเขา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Premna garrettii H.R.Fletcher เป็นไม้รอเลื้อย 2) อัคคีทวาร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Premna repens H.R.Fletcher เป็นไม้พุ่ม 3) อุนเขาหัวหมด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Premna serrata H.R.Fletcher 4) จ๊าดอกอุน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Premna siamensis H.R.Fletcher ทั้ง 4 ชนิดนี้คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นชินแน่นอน คนทั่วไปมักรู้จักพืชในสกุลนี้มากที่สุดน่าจะเป็น หัวฆ้อนกระแต หรือที่คนอีสานทั่วไปเรียกว่า “ยาหัวข้อ” หรือหมอยาพื้นบ้านอีสานเรียกว่า “ข้าวเย็นใต้” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Premna herbacea Roxb. ซึ่งใช้ส่วนของรากเป็นยาต้มดื่ม แก้ปวดเมื่อยหลังจากการทำงานหนักในท้องไร่ ท้องนา
กลับมากล่าวถึงพืชสกุล Premna ชื่อ กะเปียดเครือ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Premna trichostoma Miq. มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Green Glass Jelly หรือ Green Leaves Cincau มีถิ่นกำเนิดกระจายอยู่ที่ ฟิลิปปินส์ ไทย เมียนมาร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย
กะเปียดเครือ เป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ จากฐานข้อมูลหอพรรณไม้กรมป่าไม้กล่าวว่าเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ขึ้นในบริเวณที่ราบสูง 50-1000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ชอบดินร่วนซุย ระบายน้ำดี ต้องการแสงแดดรำไร ลำต้นเป็นทรงกระบอก มีเหลี่ยม มีเนื้อไม้สีเขียว กิ่งก้านชี้ขึ้นด้านบน ใบเป็นรูปใข่ เรียงแบบตรงข้าม ดอกออกเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง มีทั้ง 2 เพศในดอกเดียวกัน กลีบดอกมี 4-5 แฉก สีขาว ผลแข็งเนื้อน้อย เมล็ดมีขนาดเล็ก มีเมือกเหนียว
ภูมิปัญญาท้องถิ่นของหมอพื้นบ้านภาคใต้ ใช้ใบคั้นน้ำดื่ม ชโลมและอาบเพื่อรักษาอาการไข้ตัวร้อน ชาวอินโดนีเซียใช้กะเปียดเครือหรือที่เรียกว่าเฉาก๊วยเขียว (Cincau) เป็นยาเพื่อลดความร้อนในร่างกาย ลดไข้ แก้ปวดท้อง (คลื่นไส้) แก้อาการท้องเสีย รักษาแผลในปาก แก้บิด แก้ไอ แก้อาการผิดปกติของระบบย่อยอาหาร และป้องกันความดันโลหิตสูง สารสกัดจากกะเปียดเครือมีใยอาหารสูง มีคุณสมบัติเป็นยาระบายและสามารถกระตุ้นการเติบโตของแบคทีเรียที่ผลิตกรดแลคติกในลำไส้ใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและความสมบูรณ์ของร่างกาย
ในอินโดนีเซีย นิยมนำกะเปียดเครือมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะนำมาสกัดเป็นวุ้นรับประทาน จึงพบความรู้แต่ดั้งเดิมนำเอากะเปียดเครือมาเป็นแหล่งอาหารที่มีเยื่อใยช่วยป้องกันโรคในมะเร็งลำไส้ใหญ่ จึงพบว่ามีการนำอาหารที่ผสมกะเปียดเครือมาใช้ประโยชน์เพื่อสุขภาพ เช่น ช่วยคุมน้ำหนักหรือช่วยลดความอ้วน แก้อาการท้องผูก ลดภาวะหลอดเลือดแข็ง (ลดไขมันสะสมและหลอดเลือดแข็งตัว) ลดความเสี่ยงโรคต่าง ๆ เช่น หลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน นิ่วในถุงน้ำดี ความดันโลหิตสูง ริดสีดวงทวาร ไส้เลื่อน ไส้ติ่ง และมะเร็งลำไส้ใหญ่
ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2563 แสดงให้เห็นว่าสารสกัดใบกะเปียดเครือมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยมีสารออกฤทธิ์ในกลุ่มฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์ นอกจากนี้พบงานวิจัยจากประเทศมาเลเซีย ในปี ค.ศ.2016 พบว่ามีฤทธิ์ต้านมะเร็ง เพิ่มจำนวนลิมโฟไซต์ (อนุมูลอิสระ เพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของลิมโฟไซต์ และไม่เป็นพิษต่อร่างกาย)
ในปัจจุบันกะเปียดเครือกำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนไทยที่รักสุขภาพ โดยมีการนำต้นพันธุ์มาจากอินโดนีเซีย และไม่ได้เรียกชื่อดั้งเดิมกลับไปเรียกกะเปียดเครือโดยตั้งชื่อใหม่ว่า “ต้นวุ้น” เพราะเป็นต้นที่นิยมนำเอาใบมาสกัดเอาวุ้นเพื่อใช้ทำเป็นอาหารคาวหวานรับประทานกัน
น่าเสียดายที่เราหลงลืมหรือมองข้ามภูมิปัญญาดั้งเดิม ไม้ท้องถิ่น รอจนกระแสนิยมจากต่างชาติเข้ามาคนไทยจึงได้หันมาสนใจ แต่ก็ยังไม่มีอะไรสายเกินกาล หากเราจะสนับสนุนการจัดการความรู้ ละการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบคุณสมบัติทางยาหรือสรรพคุณต่าง ๆ ของกะเปียดเครือสายพันธุ์ไทยและสายพันธุ์อินโดนีเซียก็น่าจะดี จะได้มีข้อมูลในการส่งเสริมและใช้ประโยชน์ต่อไป