น้ำนมราชสีห์เล็ก อย่ามองข้ามไม้ล้มลุก

เมื่อสัปดาห์ก่อนได้กล่าวถึงน้ำนมราชสีห์ ซึ่งเป็นพืชที่อยู่ในสกุล Euphorbia ที่นักพฤกษศาสตร์ค้นพบว่ามีจำนวนสมาชิกมากมายเยอะที่สุดในโลกนี้ ประมาณว่ามากถึง 2055 ชนิด แต่ที่พบในประเทศไทยมีเพียง 4 ชนิด ซึ่งที่รู้จักทั่วไปของคนไทย คือ น้ำนมราชสีห์ ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Euphorbia hirta L.

ในวันนี้ขอกล่าวถึงชนิดที่พบเห็นได้ลำดับรองลงมา เรียกชื่อว่า น้ำนมราชสีห์เล็ก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Euphorbia thymifolia L.
ในภาษาอีสานเรียกน้ำนมราชสีห์เล็กว่า หญ้าไข่หลัง จัดเป็นไม้ล้มลุก ทอดเลื้อยแผ่เป็นวงหรือตั้งตรง สูงได้ถึง 15 ซม. ลำต้นสีชมพูอมน้ำตาลแดง มีขนราบเอนกระจาย หูใบรูปแถบ ใบเรียงตรงข้าม รูปรี มีกิ่งด้านข้างใบขนาดเล็ก โคนเบี้ยว ข้างหนึ่งเป็นติ่งคล้ายรูปหัวใจ ขอบจักฟันเลื่อยห่าง ๆ แผ่นใบมีขนกระจาย เส้นโคนใบข้างละ 1–2 เส้น เส้นแขนงใบไม่ชัดเจน ช่อดอกสั้น ไร้ก้าน ช่อย่อย 1–3 ช่อ สีชมพูอมแดง ใบประดับรูปแถบขนาดเล็ก ก้านช่อมีขนกระจาย วงใบประดับรูปถ้วย มีต่อมสีชมพู 4 ต่อม ผลจัก 3 พู ยาวประมาณ 1 มม. มีขนสั้นนุ่ม เมล็ดรูปรีเป็นเหลี่ยม ยาวประมาณ 0.8 มม. สีเหลืองอมน้ำตาล ผิวมีร่องตื้น ๆ ขึ้นตามชายป่า ที่รกร้าง ท้องนา และพื้นที่โล่ง มักพบได้ในพื้นที่ราบถึงความสูงประมาณ 800 เมตร

น้ำนมราชสีห์เล็กมีถิ่นกำเนิดในแถบเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้ แต่แพร่พันธุ์มาไทยอย่างไรไม่อาจรู้ได้ แต่พบว่าในตำรายาไทย กล่าวถึงการนำมาเป็นยาสมุนไพรใช้ทั้งต้นมีสรรพคุณฆ่าพยาธิ แก้ท้องร่วง รักษาแผลสด และเมื่อสืบค้นในการแพทย์พื้นบ้านแอฟริกาพบการใช้น้ำนมราชสีห์เล็กอย่างกว้างขวาง เช่นการนำทั้งต้นมาต้มดื่มเพื่อรักษาโรคปอด ไข้ ไข้หวัดใหญ่ โรคบิด โรคลำไส้อักเสบ โรคท้องร่วง ความดันโลหิตสูง ประจำเดือนไม่มา และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ใบและเมล็ดแห้งมีรสฝาดสมานและยังมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ช่วยอารมณ์ความรู้สึกให้ตื่นตัว เมื่อนำมาปรุงยาใช้เป็นยาถ่ายพยาธิและยาระบาย ยาต้มจากต้นและเมล็ดยังใช้เป็นยาขับน้ำนม และรักษาโรคความดันโลหิตสูง ถ้านำเอาเฉพาะส่วนใบนำมาชงกับน้ำร้อนเป็นยาขับปัสสาวะที่มีรสขม นำใบมาเป็นยาต้มใช้กับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบและโรคไต การนำใบแห้งมาแช่น้ำแล้วดื่มเพื่อช่วยในการคลอดบุตร โดยความเชื่อของการแพทย์พื้นบ้านต่างชาตินั้นเชื่อว่าช่วยกระตุ้นการบีบตัวของมดลูก

นอกจากนี้ น้ำนมราชสีห์ยังเป็นยาภายนอกที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง เช่น นำส่วนยอดที่เลื้อยตั้งขึ้นนั้นมาทำเป็นยาต้มใช้รักษาโรคผิวหนัง หัด ผื่นแพ้ และการอักเสบของผิวหนัง ยาต้ม(เมื่อตั้งทิ้งไว้ให้เย็นแล้ว)ยังใช้เป็นยาล้างตาแก้ตาอักเสบด้วย ถ้านำเอาต้นสดมาตำหรือบดแล้วใช้ทาหรือพอกไว้แก้อาการเคล็ดขัดยอก ใบแห้งนำมาบดให้ละเอียดแล้วนำมาพอกศีรษะเพื่อรักษาอาการปวดศีรษะ ส่วนใบสดนำมาบดแล้วนำมาทาถูเพื่อรักษาอาการปวดต่าง ๆ และในแอฟริกายังใช้ทาศีรษะเพื่อลดอาการระคายเคืองและรักษาอาการผมร่วงได้อีกด้วย แต่ก็มีความเชื่อในหมู่คนแอฟริกาอีกอย่างหนึ่งว่า ให้ใช้น้ำนมราชสีห์เล็กทั้งต้นนำมาบดแล้วเอามาถูบนหนังศีรษะจะช่วยเสริมสร้างกระดูกกะโหลกศีรษะของเด็ก เพื่อให้สามารถแบกรับน้ำหนักบนศีรษะได้เมื่อเป็นผู้ใหญ่ (ตามวิถีวัฒนธรรมที่คนจะทูนของบนศีรษะ)

น้ำยางจากต้นก็นำมาเป็นยาสมุนไพร นำมาชงดื่มแก้อาการประจำเดือนมากผิดปกติ และใช้เป็นยาบำรุงร่างกายทั่วไปด้วย นอกจากนี้น้ำยางยังใช้เป็นยาภายนอกเพื่อรักษาหูดและรักษาโรคกลากและหิด ใช้ในการรักษาอาการบวมของตา ตกขาว และเยื่อบุตาอักเสบ ในหมู่ชาวอาหรับและชวา นำใบมาขยี้ทาบริเวณผิวแก้โรคผิวหนัง และช่วยสมานบาดแผลเพราะใบมีฤทธิ์ฝาดสมาน ในอินเดียและชวาใช้ใบแก้อาการท้องร่วงและบิดในเด็ก ในการแพทย์อายุรเวทของอินเดียก็มีการนำเอาน้ำนมราชสีห์เล็กมาใช้อย่างกว้างขวางเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ มากมาย เช่น ใบและเมล็ดใช้แก้อาการลำไส้อักเสบและพยาธิในเด็ก และยังใช้เป็นยาระบายด้วย

ในการศึกษาวิจัยพบว่าน้ำนมราชสีห์เล็กมีสารประกอบสารสำคัญญหลายชนิด โดยเฉพาะแทนนินและฟลาโวนอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ แก้ปวด ปกป้องหลอดเลือด ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ยังพบว่าสารฟลาโวนอยด์มีคุณสมบัติต้านไวรัส ต้านอาการแพ้ ต้านการอักเสบ และต้านเนื้องอกอีกด้วย

น้ำนมราชสีห์เล็กยังมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ จึงพบว่ามีน้ำมันหอมระเหยจากใบ ซึ่งมีองค์ประกอบด้วยไซมอล (Cymol) คาร์วาครอล (carvacrol) ลิโมนีน (limonene) เซสควิเทอร์พีน (sesquiterpenes) และกรดซาลิไซลิก (salicylic acid) สารสกัดจากทั้งต้นพบว่ามีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด เช่น Bacillus subtilis, Escherichia coli, Shigella flexneri นอกจากนี้ยังมีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อราที่ผิวหนัง เช่น Trichophyton mentagrophytes และ Trichophyton verrucosum ซึ่งเชื้อราบางชนิดก็เป็นปัญหากับมนุษย์ บางชนิดก็เป็นปัญหากับลูกวัวหรือสัตว์เลี้ยงด้วย

นอกจากนี้เมื่อใช้สารสกัดอีเธอร์พบสารที่สามารถต่อต้านไรชนิด Sarcoptes scabei ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเรื้อน ต่อต้านเชื้อเริม (Herpes simplex virus type 2) และพบว่าน้ำนมราชสีห์เล็กมีอนุพันธ์ของแทนนิน เช่น แกลโลอิล-β-D-กลูโคสหลายชนิดแสดงความเป็นพิษอย่างมีนัยสำคัญต่อเซลล์เนื้องอกในมนุษย์หลายประเภท และในวงการเกษตรยังสามารถนำเอาสารสกัดจากทั้งต้นที่มีคุณสมบัติช่วยกำจัดเชื้อไวรัสเหี่ยวเฉา (spotted wilt virus) ที่เกิดในถั่วเขียว มะเขือเทส พริก ฯลฯ ได้อีกด้วย

ความรู้ในฉบับที่แล้วกับครั้งนี้ จะเห็นว่า “น้ำนมราชสีห์” และ “น้ำนมราชสีห์เล็ก” มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางยาส่วนใหญ่แตกต่างกัน แต่ที่คล้ายกันคือการใช้น้ำยางกัดหูดและรักษาโรคผิวหนัง หรือใช้ประโยชน์เป็นยาภายนอก ในปัจจุบันจึงพบว่าในต่างประเทศได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำนมราชสีห์เล็กแล้วหลายชนิด เช่น นำน้ำมันหอมระเหยผสมสบู่ใช้รักษาโรคผิวหนังอีริซิเพลาส (erysipelas) ทำสเปรย์ไล่แมลงวันและยุง ผลิตภัณฑ์ยาถ่ายพยาธิสำหรับสุนัข

ไทยเรามีน้ำนมราชสีห์เล็กที่มีศักยภาพอยู่ทั่วไป ลองปลุก“ราชสีห์” ดีหรือไม่?

https://www.thefest.com/Images/acetoto888/ https://www.thefest.com/Images/acegaming888/ https://www.thefest.com/Images/plazaslot/
slot thailand