สะแกแสงและขางหัวหมู ไม้ยาหายาก

สะแกแสงและขางหัวหมู เป็นชื่อไม้ 2 ชนิดอยู่ในวงศ์เดียวกัน คือ วงศ์กระดังงา (Annonaceae) มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์คล้ายกันมาก ลำต้นและใบก็คล้ายกัน ต่างที่ดอกและผล สะแกแสงมีกลีบดอกยาวคล้ายการเวก ขางหัวหมูมีกลีบดอกเล็ก ผลของสะแกแสงมีสีน้ำเงินแกมน้ำเงินจนถึงสีดำ แต่ผลของขางหัวหมูเมื่อแก่เต็มที่จะมีสีแดงเข้ม ถ้าไม่เห็นดอกและผล อาจเข้าใจผิดนำไปใช้ผิดชนิดได้

สะแกแสง เป็นไม้ที่อยู่ในสกุล Cananga จากฐานข้อมูลของสวนพฤกษศาสตร์หลวง เมืองคิวระบุไว้ในสกุลนี้มีเพียง 2 ชนิด คือ Cananga brandisiana (Pierre) Saff. หรือสะแกแสง และ Cananga odorata (Lam.) Hook.f. & Thomson หรือกระดังงา สำหรับกระดังงาแบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย คือ Cananga odorata var. fruticosa (Craib) J.Sinclair (กระดังงาสงขลา) และ Cananga odorata var. odorata (กระดังงาหรือกระดังงาไทย)

สะแกแสง ชื่อวิทยาศาสตร์เดิม Cananga latifolia Finet & Gagnep. ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Cananga brandisiana (Pierre) Saff. มีชื่อท้องถิ่น เช่น เก้าโป้ง งุ้มสะบันงา (เชียงใหม่) แกนแซง (อุตรดิตถ์) สะแกแสง แคแสง (จันทบุรี) แตงแสง (ชัยภูมิ ขอนแก่น) เนา (ภาคเหนือ) เผิง (เพชรบูรณ์) ราบ (สุราษฎร์ธานี) หำฮอก หำอาว (นครราชสีมา) โดยทั่วไปคนอีสานจะเรียกพืชชนิดนี้ว่า “แตงแซง” ในภาคอีสานส่วนใหญ่พบในป่าดิบแล้งตามภูเขา ไม่ค่อยพบในพื้นล่าง เป็นไม้ยืนต้น สูง 8-10 เมตร ใบกว้าง ดอกออกเป็นกระจุก ที่ซอกใบ กลีบเลี้ยง 3 กลีบ สีเขียว กลีบดอก 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง สีเหลืองอมเขียว โคนกลีบสีเขียว ยาว 5-8 เซนติเมตร มีกลิ่นหอม ออกดอกประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม และให้ผลแก่หลังจากดอกบาน 4 เดือน มักพบขึ้นในป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณทั่วประเทศ ที่ระดับความสูง 50-300 เมตร ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด มีถิ่นกำเนิดใน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ไทย เวียดนาม
ประโยชน์สมุนไพร รากและเนื้อไม้ ซึ่งมีรสเบื่อเมาใช้แก้พิษไข้เซื่องซึมและพิษกาฬทั้งปวง เนื้อไม้และราก นำมาแช่น้ำดื่มลดไข้ เปลือกใช้ในการรักษาอาการวิงเวียน ในกัมพูชามีงานวิจัยพบว่าสารสกัดสามารถฆ่าเชื้อในกลุ่มอมีบ้าที่ทำให้ท้องเสียได้ นอกจากนี้ยังนำเนื้อไม้มาฝานให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ นำมาจุดไปใช้ควันสูดรักษาอาการวิงเวียน ดอกมีกลิ่นหอมคล้ายกระดังงา แต่ยังไม่มีการนำมาใช้ทางการค้า

ขางหัวหมู ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Miliusa velutina (DC.) Hook. f. & Thomson มีชื่อท้องถิ่น เช่น โกงกง จอแจ (นครราชสีมา) ขางหัวหมู (ภาคเหนือ) โจรเจ็ดนาย เต็งใบใหญ่ บังรอก หัวใจไมยราบ หางค่าง หำรอก (ประจวบคีรีขันธ์) แตงแซง (หนองคาย) ยางโดน (สกลนคร) สะแม้ะ (สุรินทร์) หางรอก (พิจิตร) หำฮอก (มหาสารคาม) ในบันทึกใบลานส่วนใหญ่ก็เรียกว่า “หำฮอก” เช่นกัน ที่เรียกว่า “หำฮอก” เพราะส่วนของใบเมื่อนำมาขยี้ดมมีกลิ่นเหมือนกลิ่นของอวัยวเพศผู้ของกระรอก

ขางหัวหมูเป็นไม้ต้นผลัดใบ สูง 12-25 เมตร ลำต้นตรง เปลือกค่อนข้างหนา สีเทาอมดำ ผิวขรุขระ แตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาวไม่เป็นระเบียบ เรือนยอดโปร่ง ตามกิ่งอ่อนมีขนนุ่มสีเหลืองทั่วไป ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว ใบรูปไข่หรือรูปขอบขนานแกมรูปรี โคนมนกว้างหรือหยักเว้าตื้น และเบี้ยวเล็กน้อย แผ่นใบมีขนนุ่มทั้ง 2 ด้าน ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามกิ่งตรงข้ามกับใบ มีดอกช่อละ 2-6 ดอก กลีบเลี้ยง 3 กลีบ กลีบดอกสีขาวนวล เรียง 2 วง วงละ 3 กลีบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกวงนอกมีขนาดเล็ก กลีบดอกวงในมีขนาดใหญ่กว่ามาก เกสรเพศผู้และเกสรเพศเมีย แยกกัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ผลแบบผลกลุ่ม ออกเป็นกระจุกบนแกนตุ้มกลม ก้านช่อผลเรียว ผลย่อยรูปไข่หรือรูปกลมรี มีขนนุ่ม ก้านผลค่อนข้างสั้น มี 1-2 เมล็ด

ขางหัวหมูมีกระจายพันธุ์ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคอีสาน ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 200-600 เมตร ออกดอกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมาร์ ลาว และเวียดนาม
ที่น่าสนใจ คือ ในตำรายาอีสานมีการใช้สมุนไพรทั้ง 2 ชนิด แตกต่างกันไป เช่น

(1) ยาดับพิษไข้หมากไม้ ให้เอา ขี้สูด (ขี้ผึ้งจากชันโรง) ฮากฮังคาว (Holoptelea integrifolia (Roxb.) Planch.) ฮากแตงแซง (Cananga latifolia Finet & Gagnep.) แช่ดอมกัน (เอาส่วนละเท่า ๆ กันมาแช่รวมกัน) เป่า อาบ (แล้วนำมาเป่าหรืออาบ) ก็ดีแลฯ อันนี้ยาอาบพิษแลฯ

(2) ยาอาบแก้พิษไข้หมากไม้ เอา ขี้ใส้เดือน (เอาไส้เดือนดินใส่น้ำ แช่ไว้ประมาณ 15-30 นาที แล้วเอาน้ำมาใช้) ฮางคาว (Holoptelea integrifolia (Roxb.) Planch.) แตงแซง (Cananga latifolia Finet & Gagnep.) เอาสมุนไพรทั้ง 2 ชนิดอย่างละเท่า ๆ กันมาแช่น้ำอาบ

(3) ยาแก้เจ็บลิ้น ให้เอา หน่วย(ผล)แตงแซง (Cananga latifolia Finet & Gagnep.) มาปาดหัวออกแล้ว เอาไปจิ้มเกลือ ใส่หมกไฟ อุ่น แล้วเอายอยลิ้น (ใส่บริเวณที่เจ็บ) ไว้ดีแลฯ

(4) ยาแก้ไข้หมากไม้แบบไม่มีเหงื่อออก ให้เอา เปลือกหำฮอก (Miliusa velutina (DC.) Hook. f. & Thomson) เปลือกส้มกบแห้ง (Hymenodictyon orixense (Roxb.) Mabb.) อย่างละเท่า ๆ กัน ฝนดอม (รวม) กัน ทั้งมวลแลฯ หรือนำมาเผาขาน (ขาง) ซวดน้ำยาให้กินออกแลฯ (นำเปลือกทั้ง 2 มาปิ้งไฟให้เหลือง แล้วนำมาชงน้ำดื่ม)

(5) เมื่อพิษไข้ขึ้นหัว ให้เอา ใบตูม (มะตูม Aegle marmelos (L.) Corrêa) ใบหำฮอก (Miliusa velutina (DC.) Hook. f. & Thomson) ใบหมากเขียบ (น้อยหน่า Annona squamosa L.) ผักกะแยง (Limnophila geoffrayi Bonati) มาตำดอมกันห่อแพรขาว ตั้งปากหม้อพออุ่นนี้แล้วจิงเอามาตั้งหัวพิษลงแล (นำสมุนไพรทั้งหมด อย่างละเท่า ๆ กัน มาตำรวมกัน แล้วนำมาห่อด้วยผ้าขาวคล้ายลูกประคบ แล้วเอาไปตั้งบนปากหม้อ จากนั้นเอาไปวางบนหัวผู้ป่วย)

การศึกษาพบว่าสารสกัดด้วยน้ำจากดอกขางหัวหมูมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านเบาหวานได้ แต่ในภูมิปัญญาจากหมอพื้นบ้าน ประวิต ดวงแพงมาต บ้านกกแห่ อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ให้ข้อมูลว่า รากของหำฮอกมีพิษไม่สามารถนำรากสดมาใช้ได้ทันที เมื่อเก็บรากสดมาแล้วต้องนำใส่พานขันห้า (ดอกไม้ 5 คู่ เทียน 5 คู่) นำไปตั้งบูชากับพระประธานในโบสถ์ให้ได้ 1 ปี จึงจะนำมาใช้ได้

สมุนไพรทั้ง 2 ชนิด มีประโยชน์ตามภูมิปัญญามาอย่างยาวนาน แต่จำนวนประชากรลดลงอย่างน่าใจหายจนใกล้สูญพันธุ์ ยังไม่สายที่มาช่วยกันอนุรักษ์และปลูกใช้ประโยชน์กันเพิ่มขึ้น.

https://www.thefest.com/Images/acetoto888/ https://www.thefest.com/Images/acegaming888/ https://www.thefest.com/Images/plazaslot/
slot thailand